Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thammasat _Hospital
•
ติดตาม
26 มี.ค. 2021 เวลา 00:00 • สุขภาพ
“หนูไม่ไหวแล้วค่ะ หนูจะไม่เรียนต่อแล้ว”
นักศึกษาสาวคนหนึ่งเอ่ยปากบอกจิตแพทย์ในห้องตรวจด้วยเสียงสั่นและน้ำตาซึม
เพราะอะไรเธอถึงเป็นเช่นนี้ เรามาหาคำตอบกันค่ะ
นักศึกษาสาวคนหนึ่ง เธอพบจิตแพทย์มา 4 ปีแล้วตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้า อาการซึมเศร้ากระทบต่อทั้งจิตใจและความสามารถในการเรียนแต่เธอก็ตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่พร้อมกับรักษาต่อเนื่องมาตลอด ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เธอท้อแท้จนบอกว่าไม่อยากเรียนต่อ
ย้อนกลับไป 4 ปีก่อน นักศึกษาสาวคนนี้สอบได้คณะที่ต้องการ เธอไม่รู้ว่าชอบเรียนคณะนี้ไหมแต่ก็เป็นธรรมชาติของเด็กมัธยมปลายที่เลือกเรียนคณะอะไรก็ได้ที่สอบติด ช่วงแรกเธอมีปัญหาการปรับตัวอยู่พอสมควร เธอหาเพื่อนที่คุยเรื่องส่วนตัวไม่ได้เลยเพราะงานอดิเรกของเธอคือดูการ์ตูนและท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จึงใช้เวลานั่งเรียนคนเดียว ตกเย็นก็กลับบ้านไปเล่นกับสัตว์เลี้ยง อยู่มาวันหนึ่งเธอก็เริ่มสังเกตว่าตัวเองไม่อยากไปเรียน เมื่อคิดว่าต้องตื่นเช้าแต่งตัวมาเรียนก็จะรู้สึกเครียด
เธอมาสายหลายครั้ง เรียนในห้องไม่ค่อยรู้เรื่อง ยังพออ่านหนังสือได้แต่อ่านไม่ทนเหมือนเดิม อ่านเพียงเล็กน้อยก็รู้สึกเบื่อและไม่มีสมาธิ วนไปวนมาอยู่แค่ 2-3 บรรทัดเดิม แฟนของเธอก็เห็นว่าจากคนร่าเริงและชอบดูการ์ตูนกลายเป็นคนเก็บตัว พูดน้อย เวลาพูดก็มักจะกล่าวโทษตัวเองว่าไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ เป็นภาระให้แฟนและพ่อแม่ แฟนจึงแนะนำให้เธอมาพบจิตแพทย์แต่ช่วงแรกเธอคิดว่าอาจจะเป็นแค่อาการเศร้าจากไม่มีเพื่อนและเครียดกับการเรียนก็ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอทะเลาะกับแฟนและคิดว่าเธอไม่สมควรมีชีวิตอยู่จึงเอามีดมากรีดแขนหลายรอยรวมถึงกินยาแก้ปวดเกินขนาดด้วย ทั้งเธอและแฟนจึงคิดว่าปัญหาสุขภาพจิตของเธอซีเรียสแน่ๆ จึงยอมมาพบจิตแพทย์เพื่อรักษาในที่สุด
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบได้บ่อย สถิติจากองค์การอนามัยโลกพบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกกว่า 264 ล้านคน จากการสำรวจในไทยพบว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน เป็นโรคที่พบได้ในทุกช่วงวัย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แม้โรคซึมเศร้าจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้แต่ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยจิตบำบัด
คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าผู้ที่มีอาการเศร้ามากๆ จะต้องเป็นโรคซึมเศร้า ในความเป็นจริงแล้วโรคซึมเศร้ายังต้องมีอาการอื่นร่วมด้วยอีกหลายอาการ ได้แก่ รู้สึกเบื่อหน่าย/ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลิน นอนหลับยากหรือหลับๆ ตื่นๆ หรือบางรายนอนหลับมากเกินไป เหนื่อยง่ายหรือไม่ค่อยมีแรง เบื่ออาหารหรือบางรายกินมากเกินไป รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เช่น คิดว่าตัวเองล้มเหลวหรือทำให้คนรอบข้างผิดหวัง สมาธิไม่ดีจึงไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจต่อเนื่องได้ เช่น ดูละครหรืออ่านหนังสือ พูดหรือเคลื่อนไหวช้าจนผู้อื่นสังเกตเห็นแต่ในบางรายอาจมีอาการกระสับกระส่ายเหมือนอยู่ไม่นิ่ง และสุดท้ายคือความคิดทำร้ายตนเองหรือคิดว่าตัวเองตายไปเสียก็ดี ถ้ามีอาการเหล่านี้หลายอาการต่อเนื่องกัน 2 สัปดาห์ก็แสดงว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยแน่นอนต้องทำโดยแพทย์ อาจเป็นแพทย์ทั่วไปหรือจิตแพทย์ก็ได้
การรักษาโรคซึมเศร้าที่มีความรุนแรงพอสมควรทำได้ด้วยการรับประทานยารักษาอาการเศร้าซึ่งมีหลายชนิด แพทย์จะเลือกยาให้เหมาะสมกับลักษณะอาการของโรค เช่น ถ้ามีปัญหานอนไม่หลับอาจให้ยารักษาอาการเศร้าที่มีฤทธิ์ง่วงนอน หรือถ้ามีปัญหาเบื่ออาหารก็อาจให้ยารักษาอาการเศร้าที่มีฤทธิ์เจริญอาหาร ยารักษาอาการเศร้าไม่ได้กินแล้วง่วงนอนเสมอไปและไม่ได้ทำลายสมองหรือตกค้างในร่างกายอย่างที่หลายคนกลัว อย่างไรก็ตามยาทุกชนิดย่อมมีผลข้างเคียงแต่ไม่จำเป็นต้องเกิดกับทุกคน หากมีผลข้างเคียงจากยาสามารถปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลให้ปรับเปลี่ยนการรักษาได้ การรักษาด้วยการพูดคุยหรือการทำจิตบำบัดสามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าและป้องกันอาการกำเริบในอนาคตได้ด้วย หากทำจิตบำบัดร่วมกับรับประทานยาก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น วิถีชีวิตบางอย่างเมื่อปฏิบัติร่วมกับรับประทานยาแล้วจะช่วยให้อาการซึมเศร้าลดลงได้ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ย้อนกลับไปที่นักศึกษาสาวคนเดิมที่รับประทานยารักษาอาการเศร้าอย่างต่อเนื่องมานานแต่กลับมีอาการซึมเศร้ากลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง เธอบอกว่าช่วงนี้ใกล้ส่งงานมากแล้ว อาจารย์ที่ปรึกษาก็เร่งงานทำให้เธอรู้สึกกดดันมาก หากรับประทานยาเธอก็จะต้องนอนตรงเวลาเธอจึงหยุดยาเองเพราะคิดว่าต้องรีบทำงานข้ามคืนติดต่อกันหลายคืนให้เสร็จทันเวลา เมื่อขาดยา อดนอนและเครียดต่อเนื่องกันก็รู้สึกท้อแท้มากขึ้น จนกระทั่ง 2 วันก่อนเธอมีเรื่องถกเถียงกับอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างรุนแรง เธอร้องไห้ไม่หยุด คิดแต่ว่าไม่อยากทำงานส่งอีกแล้วซึ่งอาจจะทำให้เรียนจบไม่ทันเวลา พอคิดว่าอาจจะเรียนจบไม่พร้อมเพื่อนก็ยิ่งเศร้าและโทษตัวเองหนักขึ้นว่าเป็นภาระให้พ่อแม่ ไม่กล้าปรึกษาแฟนเพราะเห็นว่าแฟนเองก็ทำงานหนักกลัวว่าจะไปรบกวน ในที่สุดก็เก็บตัวอยู่กับความเศร้าและเริ่มคิดเรื่องฆ่าตัวตายเพื่อจะได้ไม่สร้างความลำบากให้ใครอีก
“หมอคิดว่าอาการซึมเศร้าของคุณอาจจะกำเริบขึ้นมาจากหลายปัจจัย คุณหยุดรับประทานยาไป อดนอน มีความเครียดสูง”
“หนูขอโทษค่ะคุณหมอ หนูทำให้คุณหมอต้องลำบาก หนูทำให้คุณหมอผิดหวัง”
“ความรู้สึกโทษตัวเองของคุณก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของโรคด้วย หมอดีใจที่เมื่ออาการคุณกำเริบคุณยังกลับมาหาหมอ ไม่ได้เก็บตัวหรือฆ่าตัวตายไปเสียก่อน หมอมีความเห็นว่าคุณควรจะกลับมากินยาอีกครั้ง พักผ่อนให้เพียงพอและทำงานอดิเรกเพื่อคลายเครียดบ้าง”
“แต่งานหนูจะไม่เสร็จ หนังสือหนูก็ยังไม่ได้อ่าน”
“ถ้าอาการซึมเศร้ายังคงอยู่ โรคมันจะรบกวนให้คุณทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ความคิดความอ่านก็จะช้าลงและตัดสินใจไม่ได้ อ่านหนังสือก็ไม่มีสมาธิ ต่อให้คุณอยากทำงานแต่ก็จะทำไม่ได้ดั่งใจ ดังนั้นเรามารักษาอาการนี้ก่อนดีกว่าค่ะ คุณคิดว่ายังไง”
เธอจึงค่อยๆ ได้สติและพิจารณาอย่างรอบคอบ ในที่สุดก็ยอมกลับมากินยาอีกครั้งค่ะ เธอมีแรงใจจะเรียนต่อจนจบ กลับมากินได้นอนหลับดีเหมือนเคย อย่างไรก็ตามเธอยังมีความเครียดอยู่บ้างเพราะยังมีงานที่ต้องเร่งส่งแต่ก็สามารถจัดการกับความเครียดด้วยการจัดสรรเวลาทำงานและพักผ่อนให้เหมาะสม แม้โรคซึมเศร้าจะมีความรุนแรงและรบกวนชีวิตประจำวันแต่ก็สามารถรักษาให้หายได้โดยจำเป็นต้องรับประทานยาสม่ำเสมอรวมถึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีต่อสุขภาพจิตด้วย
รศ.พญ.วินิทรา นวลละออง
อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จิตแพทย์ ประจำโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
สามารถติดตามช่องทางต่างๆของโรงพยาบาล ได้ที่
• Call center : 0-2926-9999
• Website:
www.hospital.tu.ac.th
• LINE Official :
https://lin.ee/C9QBk04
• Facebook :
https://www.facebook.com/TUH.Official
• Youtube :
รายการ 5 นาทีกับแพทย์ธรรมศาสตร์ :
https://www.youtube.com/channel/UCMkq9zBgdYzw8WOmfFddLYg
TUH Channel :
https://www.youtube.com/channel/UCqSox_PPU1B58H3y5xZ2HBg
• Twitter :
https://twitter.com/tuh_hospital
• Instagram:
https://www.instagram.com/thammasat_hospital/
• Blockdit :
https://www.blockdit.com/pages/6049caaeebc52504a76d9697
บันทึก
4
1
4
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย