25 มี.ค. 2021 เวลา 02:14 • หนังสือ
#สรุปหนังสือ วิทยาศาสตร์แห่งความเหงา (𝗟𝗼𝗻𝗲𝗹𝗶𝗻𝗲𝘀𝘀)
2
1. “ความเหงา” หลายคนรู้สึกว่าอาจเป็นเพียงความรู้สึกเล็กๆ แท้จริงแล้วมันซ่อนความลับที่ยิ่งใหญ่ไว้อย่างน่าทึ่ง ความเหงามีผลกระทบกับตัวเอง สังคมและมนุษยชาติโดยที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน !!!
3
2. จอห์น โบวล์บี กล่าวไว้ว่า “การแยกขาดออกจากฝูงหรือผู้ดูแลโดยเฉพาะวัยเด็ก เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เราแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าเพราะเหตุใดสัตว์แต่ละตัวจึงมีกลไกพื้นฐานโดยสัญชาตญาณที่จะหลีกเลี่ยงการแยกขาดและพยายามรักษาการใกล้ชิดรวมฝูงเอาไว้”
6
3. ความเหงาเป็นวิวัฒนาการของเราอย่างหนึ่งที่ส่งทอดกันมาเพื่อป้องกันไม่ให้เราอยู่เพียงลำพังเพราะมัน “อันตราย”
2
4. การปล่อยให้ความเหงาเรื้อรังนั้นมีผลต่อวงจรความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมในแง่ลบ และรบกวนการทำงานของสมองจนทำให้แสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาอย่างไม่เป็นธรรมชาติ
7
5. ความชื่นอกชื่นใจในสายสัมพันธ์และความรู้สึกเจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธ ทำให้มนุษย์ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับการประเมินค่าทางสังคม เราใส่ใจอย่างลึกซึ้งว่าคนอื่นคิดกับเราอย่างไร นี่เป็นเหตุผลที่ว่า 3 ใน 10 ของโรคกลัว (phobia) ที่เกิดขึ้นในมนุษย์ก็คือ “การกลัวการเข้าสังคม”
2
6. เมื่อสมัยก่อน..การถูกไล่ออกจากฝูงเป็นการลงโทษที่รุนแรงมาก รองจากการทรมานและประหารชีวิต
2
7. คุณคิดว่านักเปียโนที่ซ้อมหนักอยู่คนเดียวจะรู้สึกเหงาไหม ? และคุณคิดว่างานเต้นรำเฉลิมฉลองทุกคนจะไม่รู้สึกเหงาเลยใช่ไหม ? แท้จริงแล้วความเหงาไม่ได้สัมพันธ์กับการอยู่คนเดียวหรือหลายคน #แต่สัมพันธ์กับการเชื่อมโยงของตัวคุณกับบางสิ่งบางอย่าง
11
จากงานวิจัย คนเหงา ไม่ได้ใช้เวลาอยู่คนเดียวมากกว่าคนทั่วไป รูปลักษณ์ อายุ ความฉลาด น้ำหนัก การศึกษา ก็ไม่ได้แตกต่างกัน อีกอย่างคนเหงามีทักษะการเข้าสังคมได้ไม่ต่างจากคนทั่วไปด้วย ปัญหาไม่อยู่ตรงนี้ #แต่อยู่ตรงที่เมื่อรู้สึกเหงา อิทธิพลของมันจะทำให้ทักษะในการเข้าสังคมเราลดลง
1
8. 3 ปัจจัยที่จะบอกว่าคุณจะเหงามากหรือเหงาน้อย ก็คือ
1
หนึ่ง..คุณเซนซิทีฟกับความเหงาแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้อยู่กับพันธุกรรมของแต่ละคน บางคนเปราะบางกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความเหงา แต่กลับไม่มีผลกับอีกคน
สอง..คุณคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีแค่ไหน บางคนพ่ายแพ้ต่ออารมณ์ได้ง่าย ไม่สามารถดึงตัวเองขึ้นมาจากหล่มของอารมณ์
1
และสาม..คุณตัดสินหรือประเมินความสัมพันธ์ของตัวเองกับผู้อื่นอย่างไร พูดง่ายๆคุณคิดว่าคุณเป็นคนอย่างไรนั่นเอง ในหนังสือ “Letter to Sam” ได้บอกไว้ว่า คุณจะเหงาหรือไม่อยู่ที่ว่า ตอนคุณอยู่คนเดียว คุณอยู่กับใครในตัวคุณ #อยู่กับคนที่ชอบตัดสินต่อว่าหรืออยู่กับคนที่เมตตาปราณีกับตัวเอง
19
9. สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางสังคมเป็นทริกเกอร์ชั้นเยี่ยมที่กระตุ้นความเหงา
3
10. เราไม่ได้ส่งต่อยีนความเหงาให้กับลูกหลานเราเท่านั้น เรายังส่งต่อยีนความสุขที่ได้จากความสัมพันธ์ให้กับลูกหลานเราอีกด้วย ความเจ็บปวดจากความเหงาและความชื่นบานจากสายสัมพันธ์จึงเป็นสองแรงล่องหนที่ดึงให้มนุษย์อยู่รวมกันโดยที่เค้าไม่รู้ตัวเลยว่ามีกลไกเหล่านี้อยู่ในตัว
3
11. การเป็นคนเซนซิทีฟกับความเหงาหรือว่าทนต่อความเหงาได้ดีเยี่ยม ไม่ได้กำหนดคุณภาพชีวิตของคุณ คนขี้เหงาอาจมีเพื่อนมาก คนไม่เหงาอาจขาดความสัมพันธ์ที่ดี ตัวกำหนดสุดท้ายคือการใช้ชีวิตสอดคล้องกับพันธุกรรมที่ตั้งค่าไว้ของตัวเอง ดังที่ อี.โอ วิลสัน บอกไว้ว่า “พันธุกรรมคือตัวควบคุมที่ยืดหยุ่นได้” ยีนเป็นตัวกำหนดเส้นทางเดินแต่สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลอย่างแข็งขันว่าสุดท้ายแล้วปลายทางจะอยู่ที่ไหน
3
12. จากการทดลองสอบถามแฝดแท้หลายพันคู่ โดยให้ตอบแบบสอบถามความเหงา พบว่าใครที่ได้คะแนนความเหงาสูง จะยังคงเหงาต่อไปเรื่อยๆอีก 2-6 ปี โดยถ้าแฝดแท้คนหนึ่งเป็นคนขี้เหงา พบความสัมพันธ์ว่าแฝดอีกคนก็จะเป็นคนขี้เหงาด้วยเหมือนกัน เนื่องจากทั้งสองมีพันธุกรรมเหมือนกัน 100% การทดลองนี้ทำให้สรุปได้ว่า #ความเหงาถูกตั้งค่ามาแล้วส่วนหนึ่งจากพันธุกรรม
4
13. เมื่อเราเชื่อมต่อกับสังคม เราจะเห็นความสำเร็จต่างๆนั้นเกิดจากตัวเรา ส่วนความล้มเหลวนั้นเกิดจากปัจจัยภายนอก ในทางกลับกัน ถ้าเรารู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยว เรากลับมองความผิดพลาดเป็นของเราและมองความสำเร็จเป็นเพราะความโชคดีเท่านั้น #ดังนั้นความเหงาบิดเบือนความจริงที่เรามองต่อตัวเองได้
2
14. ไม่มีใครต้านทานความรู้สึกโดดเดี่ยวได้เหมือนกับที่เราทนหิวหรือทนความเจ็บปวดทางกายไม่ได้นั่นแหละ
2
15. ความเหงากระตุ้นความเครียดได้ จากงานวิจัยคนเหงามีฮอร์โมน “คอร์ติซอล” (ฮอร์โมนแห่งความเครียด) มากกว่าคนทั่วไป แต่ข้อเสียที่น่ากลัวมากคือ ถ้าเราปล่อยให้ความเครียดเรื้อรัง สิ่งที่ตามมา คือการเร่งกระบวนการแก่ชรา ทำให้ร่างกายทรุดโทรมได้อย่างรวดเร็ว
3
16. แปลกมากที่ความเหงาทำให้เราอยากเข้าหาผู้อื่น แต่มันก็บิดเบือนความจริงและรบกวนสมองเราจนทำให้เราเข้าถึงผู้อื่นได้อย่างไม่เป็นธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สุดท้ายยารักษาที่ดีที่สุดก็คือ..ความสัมพันธ์นั่นแหละ
10
17. ความเหงาส่งผลต่อสมองส่วน “ซีรีบรัลคอร์เท็กซ์” ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ควบคุม การคิด การใช้เหตุผล ภาษา การแก้ปัญหา การควบคุมอารมณ์และตนเอง ความเหงาเข้าแทรกแซงการทำงานสมองได้ โดยทำให้การจดจ่อลดลง บิดเบือนการแปรผลของเหตุผล ลดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ จากการทดลองคนเหงาจะกินคุกกี้ที่ทดลองให้ชิมมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากคนเหงาจะควบคุมอารมณ์ได้น้อยกว่าและยังต้องการน้ำตาลมาฉีดเข้าร่างกายเพื่อบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวดอีกด้วย
18. เนื่องจากสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้เปลี่ยนไปอย่างสุดขั้ว แต่เชิงกายภาพแล้วเรายังเป็นเหมือนเดิม ไม่ว่าเราจะมั่งคั่งเชี่ยวชาญเทคโนโลยีแค่ไหน แต่ลึกลงไปแล้วเรายังเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปราะบาง อ่อนไหว เป็นสิ่งมีชีวิตที่เคยกอดกันเพื่อต้านทานความหวาดหวั่นต่อพายุฝนฟ้าคะนองเมื่อ 60,000 ปีที่แล้ว
16
19. แนวคิดเชิงปัจเจกและจิตวิญญาณส่วนบุคคลที่เริ่มเป็นวัฒนธรรมสมัยใหม่นั้น เป็นตัวเบนเข็มให้มนุษย์เดินทางสู่ความโดดเดี่ยวมากขึ้นโดยอาจสวนทางกับพันธุกรรมที่ตามไม่ทัน
1
20. หนึ่งทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ไขปริศนาว่าทำไมเราถึงอยู่ร่วมกันได้ คำตอบคือ การอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่เพราะอีกฝ่ายต้องเป็นฝ่ายยอมเสมอ หรือยอมเสียเปรียบทุกทางคล้ายนางเอกหนังไทยหรือพ่อพระ
1
เค้าพบว่าทฤษฎีที่ทำให้สังคมไม่ล่มสลายก็คือ “ทฤษฎีหนามยอกเอาหนามบ่ง” นั่นคือ คุณร้ายมา ผมร้ายกลับ คุณดีมาผมดีกลับ ข้อดีคือทุกฝ่ายจะถูกควบคุมไม่ให้ใครทำตามอำเภอใจมากเกินไป หรือมีอำนาจเบ็ดเสร็จ หัวหน้าก็ใช่ว่าจะเอาเปรียบลูกน้องได้ ถ้าลูกน้องส่วนใหญ่ไม่ชอบ ก็ทำให้ทำงานลำบาก สุดท้ายก็อาจไม่มีความสุขในที่ทำงานและต้องลาออกไป สรุปคือ #สังคมอยู่ด้วยกันได้เพราะทุกคนกำลังคานอำนาจกันอยู่ (รายละเอียดการทดลองสนุกมากต้องไปอ่านในเล่มครับ)
5
21. การอยู่ร่วมกันทำให้สมองต้องทำงานตลอดเวลาเพื่อคอยติดตามความรู้สึกของสังคมให้ทันทำให้สมองส่วนหน้าของเราพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จุดเด่นของสมองเราคือ “เราแข่งขันกันได้ภายใต้ความโอบอ้อมอารีเพื่อประโยชน์สูงสุด” สมองสามารถจับสัญญาณการเป็นศัตรูหรือมิตร คำนวณผลประโยชน์ระยะยาว ระยะสั้น บางครั้งเสียสละบางอย่างเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เหล่านี้ได้จากสมองส่วนหน้า แต่ความน่ากลัวคือ #การทำงานของสมองส่วนนี้จะบกพร่องเมื่อเกิดความรู้สึกว่าตัวเองถูกตัดขาดจากสังคม
22. เมื่อสมองของเราใหญ่ขึ้น ทารกถ้ารอโตเต็มที่จะทำให้คลอดลำบาก ธรรมชาติจึงทำให้ทารกคลอดออกมาก่อนที่ควรจะเป็น เมื่อคลอดก่อนเวลาที่ควรจะเป็น ทารกจึงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้มารดาต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด การที่มารดาจะดูแลได้ ฝ่ายชายก็ต้องคอยปกป้องอันตรายและหาอาหารมาให้ ทารกจึงเป็นแรงดึงที่ทำให้มนุษย์นั้นสร้างสายสัมพันธ์ร่วมกัน
4
23. นึกภาพนายพรานคนหนึ่งเป็นคนสันโดษมากเผอิญมีลูก ทำให้เค้าส่งต่อยีนของความสันโดษให้ลูกตัวเอง ด้วยความเป็นคนที่ไม่ชอบสังคม เค้าเลยแยกตัวออกไปไม่เลี้ยงดูลูก สุดท้ายลูกเค้าตาย จะเห็นได้ว่ายีนแห่งความสันโดษนั้นไม่ถูกส่งต่อให้รุ่นต่อไป และมันจบที่ตัวเค้า
1
แต่ถ้านายพรานเป็นคนรักครอบครัว ส่งยีนรักครอบครัวให้ลูก พอมีลูกก็ดูแลอย่างดี ลูกของเค้าโตออกมาก็เป็นคนรักครอบครัว และส่งต่อยีนให้ลูกของเค้าอีกที ยีนความรักครอบครัวหรือยีนขี้เหงาจึงส่งต่อกันมาได้ไม่สิ้นสุด
2
24. การเปลี่ยนภาพการมองตัวเองเดี่ยวๆเป็นการมองแบบตัวตนร่วมจะช่วยบรรเทาความเหงาได้ เช่น การมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่าง อาทิเช่น ถ้าพี่น้องเราถูกลอตเตอรี่ แต่เราไม่ได้ถูก ถ้ามองแบบแยกขาดทำให้เราไม่ได้รู้สึกดีใจอะไร แต่ถ้ามองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราจะรู้สึกดีใจไปด้วย เรื่องนี้รวมไปถึงการมองภาพว่าเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ของประเทศ ของทีมฟุตบอล ทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้เจอปัญหาอยู่คนเดียวและมีเพื่อนร่วมสุขด้วยในวันที่สำเร็จ
5
25. ความเหงาและซึมเศร้าเป็นประสบการณ์ที่แยกขาดจากกัน ความเหงาสะท้อนให้เห็นว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับความสัมพันธ์ของคุณแต่ความซึมเศร้านั้นสะท้อนว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับตนเอง ความเหงาทำให้เดินเข้าหาความสัมพันธ์แต่ความซึมเศร้าทำให้เราแยกตัวออกมา
5
26. ลิซา เบิร์กแมน นักระบาดวิทยา พบว่าใครที่มีสายสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยมีโอกาสเสียชีวิตใน 9 ปีถัดมามากกว่าคนทั่วไปประมาณ 2-3 เท่า !!
4
27. คนทีมีสายสัมพันธ์น้อยจะเสี่ยงกับโรค หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง มะเร็ง โรคทางเดินหายใจ และอื่นๆ
3
28. จากการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ได้ข้อสรุปน่าทึ่งที่พบว่าการแยกขาดกับสังคม ทำให้เราป่วยหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเทียบเท่ากับความดันโลหิตสูง โรคอ้วน การขาดการออกกำลังกาย หรือการสูบบุหรี่ !!
2
29. 5 เส้นทางที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ความเหงานั้นส่งผลต่อสุขภาพ 1.คนเหงาควบคุมตัวเองได้น้อยกว่าทำให้ทำพฤติกรรมทำลายสุขภาพมากกว่า เช่น กินมากกว่า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด นอนดึก 2. คนเหงามักประเมินว่าตัวเองเจอปัญหาชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 3.คนเหงารู้สึกไวต่อความเครียดมากกว่าคนทั่วไป และหายเครียดยากกว่า 4. ร่างกายของคนเหงาจะตอบสนองต่อความเครียดมากกว่า 5.คนเหงามีระยะเวลาในการนอนไม่ต่างกับคนทั่วไปแต่คุณภาพในการนอนด้อยกว่า
21
30. ก็จริงอยู่บ้างที่เราอาจเกิดเพียงลำพัง ตายเพียงลำพังแต่ขณะที่มีชีวิตทางที่ดีเราไม่ควรอยู่ลำพังสักเท่าไร
3
31. หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราปวดร้าวเมื่อเราแยกขาดจากผู้อื่น ก็คือการขาดฮอร์โมน “ออกซิโทซิน” เป็นฮอร์โมนของความอบอุ่นและความสัมพันธ์ โดยจะหลั่งออกมาเมื่อมีการกอด การสัมผัส การลูบหลัง การนวด ออกซิโทซิน ช่วยลดความเจ็บปวดทางกายและลดความเครียดลงได้ (นึกภาพคู่ของคุณจับมือคุณไว้ตอนเครื่องบินร่อนลงบนรันเวย์)
10
32. การทานอาหารทำให้ช่วยหลั่งออกซิโทซินได้ สอดคล้องว่าทำไมคนเหงามักทานเยอะกว่าคนทั่วไป ก็เพราะว่าต้องการออกซิโทซินไปเติมเต็มเพื่อให้รู้สึกดีขึ้นเพื่อชดเชยความเจ็บปวดจากความเหงานั่นเอง (แอลกอฮอล์ก็ทำให้ ออกซิโตซินเพิ่มขึ้นได้เหมือนกันนะ !)
8
33. จากการทดลองของ ”ริซโซรัตติ” พบว่าเซลล์ประสาทตอนที่ลิงหยิบถั่วเข้าปากนั้นเหมือนกันกับตอนที่ลิงเห็นนักวิจัยหยิบถั่วเข้าปาก เค้าตั้งชื่อเซลล์ประสาทเหล่านี้ว่า “เซลล์สมองกระจกเงา” โดยหน้าที่มันก็คือ #ทำให้เราสัมผัสความรู้สึกที่มองเห็นได้ไม่ต่างกับการที่เราได้ทำเอง ทำให้เราเข้าใจการกระทำคนอื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น นั่นอธิบายว่าทำไมเราดูหนังผีถึงทำให้เราสยดสยองได้ถึงขนาดนั้น โดยความเหงาจะเข้าแทรกแทรงทำให้คนที่เหงาใช้ระบบกระจกเงาได้ด้อยกว่าทำให้เข้าถึงความรู้สึกผู้อื่นได้น้อยกว่า ส่งผลต่อการเชื่อมความสัมพันธ์
5
34. คนเหงามักยอมเสียเปรียบมากกว่าและทนความไม่ยุติธรรมได้มากกว่า เพียงเพื่อต้องการสายสัมพันธ์ แต่สุดท้ายก็รู้สึกแย่กว่าเก่า เกิดเป็นรอยประทับที่ไม่ดีตรงเข้าจิตใต้สำนึกตอกย้ำเข้าไปอีก
6
35. ข้อดีของความเหงาอย่างหนึ่งนั่นคือการที่ทำให้คนที่แปลกแยกนั้นปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในสังคมได้ต่อไป ความเหงาจึงช่วยขัดเกลา ให้มนุษย์ปรับตัวเพื่อการอยู่ร่วมกัน มิฉะนั้นอาจต้องเจอบทลงโทษก็คือความโดดเดี่ยว
2
36. จากการวิจัยพบว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้มีความสุขมากขึ้นคือ 1.ความสัมพันธ์ที่ดี 2.รายได้ที่ดี โดยพบว่าผู้ที่มีความสุขมากกว่ามักมีรายได้ดีกว่า และ 3. อายุ เค้าพบว่าคนสูงอายุมีความสุขมากกว่าคนหนุ่มสาว เพราะว่าสมองส่วนที่ชื่อว่า ”อะมิกดาลา” ซึ่งเป็นสมองที่ควบคุมการตอบสนองทางอารมณ์โดยเฉพาะอารมณ์ด้านลบนั้นทำงานลดลง
5
37. แนวทางหลักในการจัดการความเหงาก็คือ #การเริ่มใส่ใจผู้คนรอบตัวอย่างแท้จริงโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ ซึ่งจะยากมากในผู้ที่ถูกความเหงาครอบงำ เพราะว่าในขณะที่เราเหงาเรามีความต้องการให้ผู้อื่นตอบสนองเรา เติมเต็มเรา ให้เรารู้สึกเชื่อมโยง แต่การเรียกร้องแบบนี้พบว่าไม่ใช่ทางออก ทางออกอยู่ที่การฝ่ากระแสน้ำของการเรียกร้องเพื่อสนใจผู้อื่น แล้วเมื่อคุณได้สายสัมพันธ์ใหม่ๆเข้ามาคุณจะเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองไปในทางที่ดีขึ้น และหลุดจากวังวนของความเหงาได้
2
38. อีกหนึ่งหนทางในการจัดการความเหงาก็คือ “การบำบัดความคิดและพฤติกรรม” (cognitive behavioral therapy) วิธีนี้น่าสนใจอย่างมาก มันคือการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดของเรา โดยการไตร่ตรองความเชื่อที่เรามีอยู่ เช่น “เราเชื่อว่าคนโสดนั้นเป็นคนเหงาเสมอ” ถ้าเผอิญช่วงนั้นคุณยังไม่มีคู่ คุณจะถูกความคิดนี้ตัดสินตัวคุณทันที วิธีคือให้เราถามตัวเองว่า คนโสดเป็นคนเหงาจริงหรือไม่ แล้วให้เราหาเหตุผลมาแย้งว่าทำไมคนโสดถึงไม่ใช่คนเหงา หาให้ได้ยิ่งเยอะยิ่งดี เมื่อเรามีเหตุผลมาแย้งมากพอ กรอบความคิดเราจะเปลี่ยนแล้วเราจะหลุดจากความเชื่อที่บั่นทอนเราในที่สุด (แต่ต้องอาศัยความพยายามและให้เวลาหน่อย)
4
39. ข้อสุดท้าย จาก “กาลามสูตร” ของพระพุทธเจ้าที่บอกว่าอย่าเชื่อใคร ถ้าไม่ได้พิจารณาเหตุผลนั้นด้วยตนเอง หรือได้สัมผัสความจริงด้วยตนเอง หลายคนอ่านสรุปนี้แล้วรู้สึกตรงกับตัวเอง หลายคนอาจไม่ตรงเลย ไม่ต้องกังวลไปครับ แนะนำให้พิจารณาส่วนตัวอีกรอบหนึ่ง เนื่องจากข้อสรุปที่สรุปให้อาจเป็นความจริงแบบทื่อๆ การรับไปใช้อาจทำให้เข้าใจผิดพลาดได้ ความจริงจากงานวิจัยไม่สามารถนำไปใช้ได้ทุกกรณี เนื่องจากการวิจัยบางเคสทำกับสัตว์ หรือทำกับบางช่วงอายุคน บางทีงานวิจัยอาจมีข้อผิดพลาดที่ทำให้ผลที่ได้ออกมาไม่เป็นกลาง การทำต่างเชื้อชาติ ทำต่างวัฒนธรรม งานวิจัยที่เก่าก็ไม่อาจแปลผลนำมาใช้ในปัจจุบันได้ งานวิจัยทั้งหลายจึงเป็นส่วนที่สะท้อนว่า #ความจริงอาจจะเป็นเช่นนั้นแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น 100%
13
วันนี้คงได้ความรู้กันไปไม่มากก็น้อย รอติดตามเล่มหน้าได้เลยนะคร้าบ♥️♥️♥️
1
//พะโล้
#เรื่องย่อของหนังสือเล่มเยี่ยม
1
โฆษณา