26 มี.ค. 2021 เวลา 13:25 • การเมือง
จีนอยู่เบื้องหลังรัฐประหารที่พม่า จริงหรือ?
จากการตามข่าวความวุ่นวายที่พม่า จะเห็นได้ว่ากระแสสังคมโจมตีจีนอย่างหนัก ว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำรัฐประหารของกองทัพพม่า
(Source: Getty Images / Foreign Policy)
มีการประท้วงหน้าสถานทูตจีน ทำลายท่อส่งน้ำมันและก๊าซของจีน เผาโรงงานจีน ในโซเชียลมีเดียก็เต็มไปด้วยข่าวลือและกระแสแอนตี้รัฐบาลปักกิ่งอย่างรุนแรง
ทำไมสังคมพม่าถึงคิดว่าจีนอยู่เบื้องหลัง?
1. ในขณะที่ทั่วโลกประณามและคว่ำบาตรกองทัพพม่าอย่างรุนแรง จีนกลับแสดงออกอย่างระมัดระวัง จีนเห็นด้วยกับนานาชาติที่เรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวอองซานซูจี แต่ปฏิเสธที่จะวิจารณ์พม่า แถมยังร่วมกับรัสเซียขวาง UN ไม่ให้ออกแถลงการณ์ประณามกองทัพทหารพม่าอีก
2. เกมส์แย่งชิงอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐ และแนวคิดที่ว่าเผด็จการย่อมสนับสนุนเผด็จการด้วยกัน
ตั้งแต่ปี 1988 ที่พม่าถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ หมดโอกาสพัฒนาประเทศ จีนเป็นชาติแรกที่ออกตัวสนับสนุนพม่า เข้าไปเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ นำเข้าสินค้าจากพม่าเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็ส่งสินค้าจีนไปขาย เรียกได้ว่าถ้าไม่ได้จีนเข้ามาหนุนหลัง เศรษฐกิจพม่าคงดับไปแล้ว
แต่เมื่อพม่าเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยและเปิดประเทศ ชาติตะวันตกก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้จีนไม่สามารถทำอะไรได้สะดวกเหมือนแต่ก่อน
ดังนั้น ถ้ามองในเชิง zero-sum.....การที่พม่ากลับไปเป็นรัฐเผด็จการทหารอย่างเต็มตัวแบบเดิม เท่ากับว่าจีน "ชนะ" สหรัฐและฝ่ายประชาธิปไตยตะวันตก
แต่! ถ้าศึกษาเรื่องนี้ให้ลึกขึ้น จะเห็นได้ว่าการรัฐประหารครั้งใหม่นี้ ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับจีนเลย
ประเด็นที่จีนกังวลเป็นอย่างมากคือผลกระทบด้านการลงทุน
พม่าที่นำโดยอองซานซูจีและพรรค NLD ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับจีนมาก เอื้อให้จีนลงทุนในโครงการมูลค่ามหาศาล (ไม่ใช่แค่ในด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงด้านยุทธศาสตร์ด้วย) เช่น โครงการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เมืองเจาะพยูในรัฐยะไข่ และโครงการสร้างท่อน้ำมันจากจีนผ่านพม่าเข้าสู้มหาสมุทรอินเดีย โดยทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ข้อตกลง China-Mynmar Economic Corridor (CMEC) หรือ "โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา" ที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย One Belt One Road
หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เดินทางมาพบอองซานซูจีเพื่อลงนามในข้อตกลง CMEC เพียงแค่สองสัปดาห์ก่อนหน้ารัฐประหาร (Source: scmp)
ในทางกลับกัน รัฐบาลพม่าที่นำโดยทหารชอบ "ทำตัวไม่น่าเชื่อถือ" และ "เล่นตุกติก" กับจีน ตัวอย่างที่เห็นชัดๆเลยคือกรณีที่รัฐบาลของพลเอก เต้นเซน ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตโสน ( Myitsone Dam) ในปี 2011 และโครงการสร้างเส้นทางรถไฟจากยูนนานมาพม่าในปี 2014 ที่จีนทุ่มเงินไปมหาศาล ทำให้จีนมองกองทัพพม่า ที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "ทัดมาดอว์" (Tatmadaw) ว่าเป็นพวกไม่รู้จักบุญคุณ ไม่น่าเชื่อถือ
จากประเด็นแรก จะเห็นได้ว่ารัฐบาลปักกิ่งไม่ค่อยสบอารมณ์กับกองทัพพม่า แต่จีนไม่ได้รู้สึกอยู่ฝ่ายเดียว กองทัพพม่าเองก็มองจีนด้วยความระแวง
มีข่าวว่า พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ผู้นำคณะรัฐประหารครั้งใหม่ ไม่ชอบจีนเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว
เพราะอะไรล่ะ? เหตุผลหลักๆมีอยู่ 3 ข้อ:
1. ความกังวลต่อภาวะพึ่งพาจีนมากเกินไป
2. ย้อนกลับไปในยุค 60s-ต้น 70s จีนเป็นท่อน้ำเลี้ยงสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารของนายพล เนวิน
3. จีนเข้าข้างกลุ่มกบฏติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในบริเวณชายแดนจีน-พม่า เช่น กลุ่ม Kokang ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีน
สรุปคือ แม้จีนและกองทัพพม่าจะมีความสัมพันธ์กันยาวนาน แต่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ไม่ราบรื่น
อีกเรื่องคือ พรรค NLD ของอองซานซูจีเป็นประโยชน์กับจีนอย่างมากในเชิง PR
แน่นอนว่าจับมือกับ "วีรสตรีประชาธิปไตย" ดีกว่า "เผด็จการทหาร" อยู่แล้ว
ภาพลักษณ์ของอองซานซูจีในสายตาชาวโลกพังลงเพราะประเด็นโรฮิงญา แต่นี่กลับเป็นประโยชน์กับจีน การที่จีนออกโรงปกป้องรัฐบาลพม่าในเรื่องการแก้ปัญหาโรฮิงญา ทำให้ประชาชนชาวพม่าที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ มองจีนเปลี่ยนไปในแง่ที่ดีขึ้น จาก "ผู้มากอบโกยผลประโยชน์" เป็น "ประเทศที่อยู่เคียงข้างประชาชนชาวพม่า"
การทวงอำนาจของกองทัพพม่า ทำให้อิมเมจของจีนที่พยายามสร้างมาในสมัยรัฐบาล NLD พังทลาย
เพราะฉะนั้น สรุปได้ว่าจีนไม่น่ามีส่วนรู้เห็นกับการรัฐประหารที่พม่า ถ้าเลือกได้จีนอยากให้ NLD เป็นรัฐบาลมากกว่า
การที่จีนเงียบ ไม่ประณามพม่า เป็นเรื่องที่ไม่แปลกเพราะจีนยึดถือนโยบาย "ไม่แทรกแซงการเมืองภายในของประเทศอื่น" (ซึ่งทุกคนรู้ดีว่านโยบายนี้สวนทางกับความเป็นจริง จีนนี่แทรกแซงพม่าตั้งแต่พม่าหลุดออกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ)
อีกเหตุผลที่จีนเงียบ คือ จีนต้องการสงวนท่าที วางตัวเป็นกลางเพื่อจะให้ตนสามารถทำงานกับพรรครัฐบาลพรรคไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น NLD หรือฝ่ายกองทัพ
ตอนนี้ความรุนแรงในพม่าเพิ่มขึ้นทุกวัน ธุรกิจของจีนก็เสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องรอดูว่าจีนจะทนแรงกดดันได้มากแค่ไหน จะเดินเกมส์ยังไงต่อ
Reference List:
Han, Enza. “Border conflict no match for Sino-Myanmar relations”. East Asia Forum. Last modified April 27, 2017. https://www.eastasiaforum.org/2017/04/27/border-conflict-no-match-for-sino-myanmar-relations/
Takahashi, Toru. “It's complicated: Myanmar and China have a difficult relationship”. Nikkei Asia. Last modified February 13, 2021. https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/It-s-complicated-Myanmar-and-China-have-a-difficult-relationship
Tiezzi, Shannon. “What the Myanmar Coup Means for China”. Diplomat. Last modified February 3, 2021. https://thediplomat.com/2021/02/what-the-myanmar-coup-means-for-china/
โฆษณา