25 มี.ค. 2021 เวลา 11:24 • ประวัติศาสตร์
131 ปีทุ่งหลวงรังสิต : ปฏิบัติการพลิกผืนป่าให้เป็นทุ่งนา และ วิถีชีวิตชาวนาจากอดีตถึงปัจจุบัน ตอนที่ 3/3
ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต แหล่งที่มา https://www.ddproperty.com/areainsider/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%95/article/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%95-8154
ตอนที่ 3 โครงการชลประทานป่าสักใต้ – โครงการที่ช่วยชุบชีวิตให้คลองรังสิต
1
ปัญหาโครงสร้างที่สำคัญของทุ่งรังสิตอย่างหนึ่งก็คือปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่เกิดภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ผู้อ่านหลายท่านคงจะนึกสงสัยว่าในเมื่อคลองรังสิตเป็นเครือข่ายระบบชลประทานขนาดใหญ่ ไฉนเลยจึงเกิดปัญหาภัยแล้งได้ ?
 
คำตอบนี้เราได้จากรายงานของนาย เจ โฮมาน วินเดอร์ ไฮเดย์ (J. Homan Van de Heide) เจ้ากรมคลองชาวดัชที่ได้บันทึกไว้ในรายงานสำรวจระบบชลประทานเจ้าพระยา พ.ศ. 2445 ที่ได้กล่าวโดยสังเขปว่า
“โครงสร้างของคลองรังสิตเองยังขาดประสิทธิภาพของการเป็นคลองชลประทานอย่างแท้จริง ทำได้แค่เป็นคลองรับน้ำ (Inundation Canal) คือ ลำคลองจะทำหน้าที่รับน้ำในหน้าฝนที่มีฝนตกชุก เพื่อเก็บกักน้ำไว้ไม่ให้เข้าท่วมไร่นา แต่ระบบประตูระบายน้ำของคลองรังสิต ยังขาดประสิทธิภาพที่จะผันน้ำจากแม่น้ำสายหลัก เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก ให้เข้ามาสู่คูคลองทุ่งรังสิตในช่วงหน้าแล้งได้ ทำให้ในปีใดที่ฝนทิ้งช่วงเกิดภัยแล้งทุ่งนารังสิตจึงต้องประสบปัญหาขาดน้ำ ผลผลิตตกต่ำเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก”
1
ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทที่ทำการขุดคลองยังไม่ได้ทำการขุดลอกคลอง ทำให้ลำคลองตื้นเขินเก็บกักน้ำได้น้อย จึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก
ซึ่งต่อมาปัญหาโครงสร้างนี้ก็ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2454 - 2455 ในช่วงนั้นเกิดภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตข้าวตกต่ำอย่างรุนแรงโดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งย่อมหมายรวมถึงพื้นที่รังสิตด้วย
ในการแก้ปัญหาจึงได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทานชาวอังกฤษ ชื่อ “เซอร์ โทมัส วอร์ด (Sir Thomas Ward) ให้เข้ามาจัดทำโครงการชลประทานในปี พ.ศ. 2456 เค้าได้เสนอโครงการ “ป่าสักใต้” ซึ่งเป็นโครงการสร้างเขื่อนกั้นน้ำในแม่น้ำป่าสักจังหวัดสระบุรีแล้วสร้างระบบคลองส่งน้ำเพื่อส่งน้ำมายังทุ่งรังสิต เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง
1
โครงการป่าสักเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2458 แต่ระหว่างก่อสร้างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้โครงการล่าช้า จนมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2465 โดยโครงการนี้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงถึง 11,500,000 บาท อย่างไรก็ตามโครงการป่าสักใต้ก็ประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาภัยแล้งและช่วยแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำให้ชาวนารังสิตอย่างได้ผล
การแก้ปัญหาที่ดินให้กับชาวนา
การสร้างเขื่อนป่าสักใต้สามารถแก้ปัญหาด้านระบบชลประทานของทุ่งรังสิตได้ แต่มันไม่ได้ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตหรือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาอันเนื่องมาจากการไร้ที่ทำกินได้เลย ชาวนายังคงมีฐานะยากจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และขาดอำนาจในการต่อรองเนื่องจากต้องเช่าที่เค้าทำกิน และด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อเจ้าของที่ ทำให้ชีวิตของชาวนารังสิตต้องตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากจากรุ่นสู่รุ่น
ชาวนา แหล่งที่มา : https://money.kapook.com/view100226.html
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ชาวนาได้มีการร้องเรียนต่อทางราชการมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 2470 เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้ราคาข้าวตกต่ำลงอย่างมาก ชาวนารังสิตได้ถวายฎีการ้องทุกข์ต่อรัฐบาล โดยในปี พ.ศ. 2474 ชาวนา 120 คน ที่เป็นผู้เช่าที่นาของกรมพระคลังข้างที่ ได้ร้องเรียนว่าทำนาไม่ได้ผลติดต่อกันมาหลายปี ประกอบกับราคาข้าวตกต่ำจึงไม่สามารถชำระค่าเช่าได้ หรือ ในปี พ.ศ. 2476 ชาวนาในเขตธัญญบุรีได้ก่อประท้วงไม่ยอมจ่ายค่าเช่านาในอัตราเดิม
ปัญหาของชาวนารังสิตถูกนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย แต่ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
นายซิมเมอร์แมน ผู้ที่เคยสำรวจชีวิตชาวนารังสิตได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ว่า
1. ปัญหาของชาวนารังสิต รัฐไม่สามารถนำระบบสหกรณ์เข้ามาใช้แก้ปัญหาได้ เนื่องจากชาวนาขาดหลักทรัพย์และขาดคุณสมบัติที่ดีบางประการที่จะทำให้เป็นสหกรณ์
2. ขนาดของพื้นที่นาที่จะให้แต่ล่ะครอบครัวทำการเพาะปลูก ควรกำหนดให้มีขนาดเล็กลง แต่ให้เน้นคุณภาพของการผลิต ให้บำรุงรักษาดินและปรับปรุงวิธีการเพาะปลูกให้ดีขึ้น
3. ชาวนาควรมีบ้านเป็นของตนเองและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
4. สัญญาค่าเช่านาต้องมีระยะเวลานาน (เพื่อที่ว่าเมื่อชาวนาลงทุนเพาะปลูกสิ่งใดลงในที่ดิน เค้าจะได้มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวให้คุ้มทุน) และถ้าผู้เช่าทำนุบำรุงพื้นที่หรือสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อที่ดิน เจ้าของที่ควรให้ผลตอบแทนแก่ผู้เช่าบ้าง
5. ชาวนารังสิตควรได้รับการจัดสรรที่ดินเป็นของตัวเอง ครอบครัวล่ะ 30 -50 ไร่
6. ชาวนาควรได้รับการสอนให้รู้จักรับผิดชอบและดูแลรักษาทรัพย์สินแห่งตน
ในปี พ.ศ.2482 รัฐบาลในสมัยนั้นได้เริ่มที่จะเข้ามาแก้ปัญหาการไร้ที่ทำกินของชาวนารังสิตอย่างจริงจัง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติให้มีการจัดซื้อที่นาของเอกชนในเขตทุ่งรังสิต และนำมาปล่อยให้ชาวนาเช่าซื้อผ่านรูปแบบของสหกรณ์ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่าที่ดินในชนบทหลายแห่งของไทย ถูกกลุ่มบุคคลถือครองไว้คนล่ะจำนวนมาก แต่มิได้มีการบำรุงรักษาที่ดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพียงแต่ปล่อยเช่าเพื่อทำรายได้เท่านั้น หากปล่อยไว้แบบนี้ที่ดินก็จะยิ่งเสื่อมโทรม รัฐจึงต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยมอบให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรไปดำเนินการ โดยเริ่มทำการที่ทุ่งรังสิตก่อนเป็นอันดับแรก
3
รัฐได้มีการซื้อที่ดินจากเอกชนในเขตคลองสอง อำเภอคลองหลวงไร่ล่ะ 40 บาท เนื้อที่ 28,000 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 4 แสนบาท โดยมีการอนุมัติในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 แต่อย่างไรก็ตามที่ดินที่ได้รับการจัดสรรให้ชาวนาในครั้งนี้ถือว่าเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับพื้นที่นาส่วนใหญ่ที่ชาวนารังสิตยังคงต้องเช่าทำกินอยู่
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทุ่งรังสิต
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของรังสิตเกิดขึ้นในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2500 โดยได้มีการตัดถนนพหลโยธินขึ้นเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลขหนึ่ง และได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกขึ้น (พ.ศ.2504 - 2509) ทำให้พื้นที่รังสิตกลายเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่จำนวนมาก อาทิเช่น โรงงานผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมในรังสิตส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของชาวรังสิตเป็นอย่างมาก
2
ถนนพหลโยธิน แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/central/1883956
การเติบโตของอุตสาหกรรมการส่งออกและผลกระทบทางสังคม
จุดประสงค์ที่สำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 คือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าขั้นปฐมภูมิภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้า สินค้าในหมวดนี้ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
เมื่อได้รับการส่งเสริมจากรัฐ อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนยอดการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับในช่วงนั้นไทยได้ทำการค้ากับต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดการผลิตสินค้าเหล่านี้เพื่อการส่งออก ส่งผลให้มีการขยายโรงงานและตั้งโรงงานใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
รังสิตเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีโรงงานมาตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2515 เป็นต้น
นิคมอุตสาหกรรมนวนคร แหล่งที่มา : https://expressway.bemplc.co.th/ExpresswayRoutemap-Detail?id=15
เมื่อมีโรงงานก็ย่อมต้องมีลูกจ้างอพยพเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง ก่อให้เกิดชุมชนใหม่ ๆ ใกล้กับพื้นที่เขตอุตสาหกรรม นอกจากนี้การเกิดโรงงานอุตสาหกรรมในรังสิต ยังก่อให้เกิดอาชีพใหม่ คือ การเป็นลูกจ้างในโรงงาน ลูกหลานชาวนาบางส่วนละทิ้งงานในนา หันมาเป็นแรงงานในโรงงาน ทั้งนี้ก็เพราะสาเหตุหลัก 2 ประการ
1. ผลกระทบจาการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของรัฐ เช่น ในปี พ.ศ. 2518 ลูกหลานชาวนาในเขตคลองหลวงจำนวนมากเปลี่ยนอาชีพมาเป็นลูกจ้างโรงงานแทนการทำนา ทั้งนี้ก็เพราะรัฐทำการตัดถนนพลหโยธิน มีการถมดินลงไปในคลองส่งน้ำโดยไม่มีการฝังท่อระบายน้ำไว้ใต้ถนน ทำให้ที่นาในอำเภอคลองหลวงกว่า 1,900 ไร่ขาดน้ำแห้งตายไปเป็นจำนวนมาก ชาวนาพยายามแก้ปัญหาด้วยการขุดถนนเพื่อนำน้ำเข้าที่ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งให้กลบโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบของชาวนา ทำให้ชาวนาจำนวนมากต้องทิ้งที่นาหาอาชีพอื่นทำเพื่อความอยู่รอด
2. ทัศนคติที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ ลูกหลานชาวนารุ่นใหม่ไม่ต้องการที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนของผลผลิต ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ล่ะปี ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงมองว่างานในโรงงานที่มีค่าจ้างประจำ มีรายได้แน่นอน เป็นทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพ
จากเหตุผลข้างต้นทำให้รังสิตเกิดสังคมใหม่แทนที่สังคมชาวนา คือ สังคมของผู้ใช้แรงงาน มีรายได้จากค่าจ้างแทนการทำนาแบบบรรพบุรุษ
การเติบโตของโครงการหมู่บ้านจัดสรร
ธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2510 โครงการหมู่บ้านจัดสรรใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามทิศทางการขยายตัวของเมือง โดยในระยะแรกจะเกิดขึ้นบริเวณเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ แล้วค่อย ๆ ขยายออกไปสู่จังหวัดใกล้เคียง ในกรณีของรังสิตเริ่มเกิดหมู่บ้านจัดสรรเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2524
1
ในช่วงปี พ.ศ.2531 เมื่อเกิดยุคทองของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกิดโครงการหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเขตกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล ในย่านรังสิตเองก็มีโครงการหมู่บ้านจัดสรรใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากในช่วงนี้
ต่อมาเมื่อมีการขยายของเมือง พื้นที่รังสิตมีการตัดถนนสายใหม่ขึ้นหลายสาย ทั้งทางด่วนโทเวย์ ถนนวงแหวนรอบนอก ทำให้การเดินทางจากรังสิตไปกรุงเทพ ฯ และจังหวัดใกล้เคียงทำได้รวดเร็ว จึงเกิดการสร้างหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนกล่าวได้ว่าพื้นที่รังสิตเป็นย่านหมู่บ้านจัดสรรที่เติบโตรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
ผลกระทบของการพัฒนาพื้นที่รังสิตต่อชาวนา
การขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมและหมู่บ้านจัดสรร ทำให้ที่นาที่เคยมีอยู่อย่างมากมายถูกลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เจ้าของที่ดินทำการขายที่นาให้กับโรงงานและโครงการหมู่บ้านจัดสรร เพราะได้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำและมีปริมาณสูงกว่าการเก็บค่าเช่าที่นาอยู่มาก เห็นได้จากพื้นที่ปลูกข้าวที่ลดลงอย่างรวดเร็ว คือ จาก 599,105 ไร่ ในปี พ.ศ.2520 เป็น 391,884 ไร่ ในปี พ.ศ.2531
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าชาวนารังสิตส่วนใหญ่เช่าที่ทำกินมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เมื่อเจ้าของที่ตัดสินใจขายที่ดินออกไป จึงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพวกเค้า ทำให้ชาวนากลายเป็นคนไร้ที่อยู่และที่ทำกิน ชาวนาที่พอจะมีฐานะและปรับตัวได้ก็อาจจะประกอบอาชีพใหม่ เช่น การไปเป็นลูกจ้างโรงงาน หรือ ย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น แต่ก็มีจำนวนมากที่มีฐานะยากจนและมิอาจปรับตัวให้เข้ากับสถานะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป กลายสภาพเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างทั่วไป มีงานและรายได้ไม่แน่นอน ก่อให้เกิดเป็นปัญหาสังคมและปัญหาอื่น ๆ ตามมาจนถึงยุคปัจจุบัน
หลังจากเพื่อน ๆได้อ่านบทความเรื่อง “ทุ่งรังสิต” ครบทั้ง 3 ตอนแล้ว เพื่อน ๆ มีความคิดเห็นในเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง สำหรับผู้เขียนนั้นมองว่าปัญหาทุ่งรังสิตเกิดจากการวางแผนพัฒนาของภาครัฐที่ขาดการมองผลกระทบอย่างรอบด้าน ทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวนากลายเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนเวลาผ่านไปเกินหนึ่งร้อยปี ผลกระทบนั้นก็ยังคงอยู่
หากเหลียวมองรอบตัวเราจะพบว่า เรื่องทำนองนี้มิได้เกิดขึ้นแค่ที่ทุ่งรังสิตเท่านั้น แม้ในปัจจุบันปัญหาแบบนี้ก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ในบ้านเมืองของเรา
แต่เมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีทำให้ผู้คนรู้ทันเหตุการณ์ได้ดีกว่ายุคเก่าก่อนมาก ดังนั้น “การที่เราจะรู้จักเรียนรู้ ที่จะรับผิดชอบ และ ดูแลทรัพย์สินแห่งตน” ตามที่นายซิมเมอร์แมน เค้าได้ฝากเอาไว้ให้กับชาวสยามเยี่ยงเราเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว คงเป็นสิ่งสำคัญ ที่พวกเราควรยึดถือปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์นั้น ๆ ไว้ ให้แก่ลูกหลานของเราสืบไปในอนาคต
แหล่งข้อมูล
-รัชกาลที่ 5 ทรงอนุญาตขุด"คลองรังสิต"ในทุ่งหลวงเหนือกรุงเทพฯ ที่มีโขลงช้างและไข้ป่า
-"คลองรังสิต" เมกะโปรเจคสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยน "ป่า" เป็น "นา" นับล้านไร่
-ชีวประวัติของทุ่งรังสิต: จาก สมัน นาข้าว สาวโรงงาน ถึงนักศึกษาและเหี้ย
-"ประวัติทุ่งรังสิต" ป่าเขตร้อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกในอดีต - ชมรมประวัติศาสตร์สยาม
-สุนทรี อาสะไวย์, เรืองวิทย์ ลิ่มปนาท, ร้อยปีรังสิต: การศึกษาในมิติประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม
โฆษณา