26 มี.ค. 2021 เวลา 06:54 • การศึกษา
เคยสงสัยมั้ยคะว่า "ปลาต้องกินน้ำหรือเปล่า ??"
1
ระหว่างให้อาหารปลาดุกก็เห็นมันอ้าปากกว้างเขมือบอาหารเม็ดที่ลอยอยู่ในน้ำ ทำให้นึกสงสัยขึ้นมาว่า...นอกจากอาหารแล้ว ปลาต้องกินน้ำด้วยหรือเปล่า ?
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
คำตอบ คือ แล้วแต่ว่าปลานั้นเป็นปลาน้ำจืดหรือปลาน้ำเค็ม !!
ซึ่งกระบวนการที่เป็นปัจจัยว่าปลาจะต้องดื่มน้ำหรือไม่ คือ การออสโมซิส ( Osmosis) และการแพร่ (Diffusion)
2
ออสโมซิส คือ การเคลื่อนที่ของโมเลกุลของน้ำจากบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำมาก (สารละลายเจือจาง) ไปสู่บริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำน้อย (สารสะลายเข้มข้น) เช่น การแช่ผักในน้ำ, การดูดน้ำเข้าสู่รากพืช
การแพร่ คือ การเคลื่อนที่ของโมเลกุลของสารจากบริเวณที่มีความเข้นข้นสูงไปยังบริเวณที่มีความเข้มข้นต่ำจนอยู่ในสภาพสมดุล เช่น การเติมน้ำตาลลงในกาแฟ, การแช่อิ่มผลไม้
1
📍กรณีปลาน้ำจืด ซึ่งอยู่ในน้ำที่มีเกลืออยู่ต่ำมากจนแทบจะไม่มีเลย ในขณะที่ตัวปลามีเกลืออยู่มากกว่าน้ำภายนอก น้ำจึงซึมผ่านเหงือกและเนื้อเยื่อต่าง ๆ เข้าไปในตัวปลาอย่างต่อเนื่องผ่านการออสโมซิส จนปลาไม่จำเป็นต้องกินน้ำเลย
4
และเพื่อรักษาน้ำให้คงที่ ปลาน้ำจืดจึงต้องคอย "ถ่ายเบา" ออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งมีการประมาณการว่าอาจมีการถ่ายเบามากถึงร้อยละ 20 ของน้ำหนักตัว
1
โดยมีไตเป็นอวัยวะสำคัญในการกรองเอาของดีซึ่งเป็นสารที่ร่างกายต้องการเก็บไว้และกำจัดของเสียที่ร่างกายต้องการขับทิ้งออก ดังนั้นปลาพวกนี้จึงมีไตที่พัฒนาดี สังเกตได้ว่าไตปลาน้ำจืดจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาทะเลมาก
1
นอกจากนี้แล้วปลายังมีเซลล์พิเศษที่เหงือกที่เรียกว่า คลอไรด์เซลล์ ทำหน้าที่เก็บอิออนที่สำคัญต่าง ๆ ในน้ำไม่ให้ออกจากร่างกายด้วย
🌿 สรุป คือ ปลาน้ำจืดไม่ดื่มน้ำค่ะ
2
📍กรณีปลาน้ำเค็มหรือปลาทะเล จะตรงกันข้ามกับปลาน้ำจืด เพราะในน้ำทะเลนั้นมีเกลืออยู่ในปริมาณร้อยละ 3.5 ซึ่งของเหลวในร่างกายของปลามีเกลือน้อยกว่าน้ำทะเลเกือบ 1 ใน 3 ปลาจึงสูญเสียน้ำออกจากร่างกายผ่านการออสโมซิสอยู่ตลอดเวลา
3
ถ้าปลาไม่ดื่มน้ำเข้าไปก็จะสูญเสียน้ำมากจนตายได้ ปลาบางชนิดกินน้ำมากถึงร้อยละ 35 ของน้ำหนักตัว ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาระดับเกลือในร่างกายโดยการ "ถ่ายเบา"
1
โดยไตของปลาทะเลแทนที่จะทำหน้าที่กำจัดน้ำส่วนเกิน กลับต้องทำหน้าที่ดูดน้ำกลับและกำจัดสารพวกเกลือและแอมโมเนียออกจากร่างกายด้วยการแพร่ออกผ่านทางคลอไรด์เซลล์ จึงทำให้เนื้อปลาทะเลไม่มีรสเค็ม ยกเว้นปลากระดูกอ่อนจำพวกปลาฉลามและกระเบน
เนื่องจากปลาพวกนี้มีระบบ Osmoregulation แตกต่างจากปลากระดูกแข็ง คือ แทนที่จะปล่อยแอมโมเนียออกไปนอกร่างกาย มันกลับนำสารกลุ่มนี้ละลายเก็บไว้ในเลือดเพื่อทำให้เลือดของมันมีความดันออสโมติกใกล้เคียงกับน้ำทะเล
มันจึงไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำเพิ่มในปริมาณมากเพราะไม่เกิดการออสโมซิสระหว่างตัวมันและน้ำทะเล แต่มีผลทำให้เนื้อของมันมีกลิ่นคล้าย ๆ ฉี่ ซึ่งเป็นกลิ่นของแอมโมเนียนั่นเอง
2
🌿 สรุป คือ ปลาทะเลกินน้ำและกินเยอะด้วยค่ะ
1
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
ส่วนปลาน้ำกร่อย เช่น ปลากะพง จะเป็นปลาที่มีระบบไตพัฒนามากที่สุดและสามารถทำหน้าที่เหมือนทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเล ปลาพวกนี้จึงสามารถปรับตัวอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม
นอกจากนี้ยังมีปลาที่มีการเปลี่ยนย้ายถิ่นอยู่ทั้งแม่น้ำและทะเล เช่น ปลาแซลมอน
ปลาแซลมอนในวัยแรกเกิดจะอาศัยอยู่ในต้นแม่น้ำซึ่งเป็นน้ำจืด แต่เมื่อโตขึ้นมันจะอพยพไปหากินในแหล่งที่อาหารอุดมสมบูรณ์กว่า นั่นคือ ในทะเลซึ่งเป็นน้ำเค็ม มันจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเค็มของน้ำ
และเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ มันจะว่ายทวนน้ำเพื่อไปผสมพันธุ์และวางไข่ที่ต้นแม่น้ำอีกครั้ง
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
จากข้อมูลนี้เรานำมาใช้ในการเลี้ยงปลาได้อย่างไรบ้าง ??
🔑 ในน้ำที่ปลาน้ำจืดอาศัยอยู่เต็มไปด้วยของเสียจากการ "ถ่ายเบา" ที่เกิดจากการรักษาน้ำในร่างกายให้คงที่ และ "ถ่ายหนัก" จากอาหารที่กินเข้าไป เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ๆ จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ปลา
1
🔑 กรณีปลาเครียด เช่น ช่วงการขนย้ายปลา ตับซึ่งควบคุมการออสโมซิสของแร่ธาตุและน้ำให้ภายในและนอกตัวปลาให้มีความเข้มข้นเท่ากันจะทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ปลาขาดเกลือไป
การเติมเกลือที่มีความเข้มข้นต่ำ 0.1% ในน้ำ (เกลือ 1 ก.ก. ต่อน้ำ 1 ตัน) จึงลดการสูญเสียแร่ธาตุจากร่างกายลง ทำให้ปลาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ลดความเครียดลง แต่การใช้แบบต่อเนื่องจะทำให้การทำงานของอวัยวะภายในคลาดเคลื่อน ไม่เป็นผลดีในระยะยาว
🔑 กรณีเลี้ยงปลาทะเล ถ้าปล่อยให้น้ำระเหยออกไปจนความเค็มสูงขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับปลาที่จะต้องคอยปรับระดับเกลือในเลือดของตัวเองให้เหมาะสม ซึ่งต้องให้พลังงานมากขึ้น
🔑 กรณีปลาน้ำจืดป่วย การแช่ยาในน้ำจะช่วยได้แค่รักษาแผลภายนอกเพราะปลาไม่ได้กินน้ำเข้าไป หากต้องการรักษาภายในต้องให้ยาโดยวิธีอื่น เช่น เอายาละลายน้ำแล้วคลุกกับอาหารให้ปลากิน
1
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจเลี้ยงปลาบ้างนะคะ ❤️
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
โฆษณา