26 มี.ค. 2021 เวลา 09:03 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
หรือความเป็นพลเมืองของเราไม่เท่ากัน ?
มุมมองจากหนังเรื่อง "Equilibrium"(2002)
1
"Equilibrium" เป็นหนังบู๊ แอ็คชั่น ที่มีเนื้อหาน่าสนใจว่าด้วยเรื่องของโลกในอนาคตหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สาม ซึ่งมีมนุษย์รอดตายจากสงครามเพียงน้อยนิด
ผลพวงจากสงครามทำให้เกิดการปกครองโลกแบบใหม่ โดยมนุษย์ทุกคนต้องกินยาระงับความรู้สึก เพื่อตัดอารมณ์ต่างๆออกไป เหลือไว้แต่ความมีเหตุมีผลเพียงอย่างเดียว (rationality)
กล่าวคือ เมื่อรับยาเข้าไปแล้วอารมณ์ของความเป็นคนจะถูกเก็บเอาไว้ในส่วนลึกที่สุด คงเหลือแต่ความมีเหตุมีผลที่ยังคงอยู่ในร่างของมนุษย์ และคอยกำกับพฤติกรรมของคนในสังคมไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง
1
ที่อารมณ์เป็นสิ่งต้องห้ามเพราะแนวคิดของโลกยุคหลังสงครามมองว่า " อารมณ์ " เป็นต้นตอของความชั่วร้าย การแก่งแย่งชิงดี ความโหดเหี้ยมทารุณ
1
สิ่งเหล่านี้เป็นพาหะที่นำโลกไปสู่ความขัดแย้ง สงคราม และทำให้อารยธรรมของมนุษย์ล่มสลายในที่สุด ดังนั้น การรับยาระงับอารมณ์จึงเป็นนโยบายหลักที่รัฐนำมาใช้เพื่อควบคุมมนุษย์ในโลกยุคหลังสงคราม
อย่างไรก็ดี ยังมีมนุษย์บางกลุ่มที่ปฏิเสธการรับยาดังกล่าวเพราะต้องการคงความเป็นมนุษย์เอาไว้
ซึ่งคนที่มีอารมณ์จะถูกมองว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" เป็นกบฏต่อสังคมที่ต้องถูกถอนรากถอนโคน ดังนั้นจึงต้องมีนักบวชกรรม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มือปราบผู้ชำนาญศิลปะการต่อสู้คอยเป็นผู้ตาม "เช็คบิล" เหล่าผู้ก่อการร้ายนี้ เพื่อทำให้สังคมมีแต่ความสงบสุขและเต็มไปด้วยความมีเหตุผล
เป็นข้อน่าสังเกตที่ว่า แม้อารมณ์จะถูกปิดกั้นไว้ แต่ความขัดแย้งก็มิได้หายไปไหน โลกจึงต้องมีมือปราบมาคอยล่าพวกนอกรีตอยู่ร่ำไป
แต่เรื่องเริ่มมาบานปลายตรงที่ เกิดอุบัติเหตุบางอย่างทำให้ John Preston (แสดงโดย Christian Bale) มือปราบอันดับหนึ่งขององค์กรลืมรับยาเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้โลกเดิมๆ ที่เขาเห็นอยู่ทุกวันเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ความรู้สึกแบบมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้นำเขาไปสู่การค้นหาคำตอบต่างๆเกี่ยวกับชีวิต และเป็นจุดเริ่มต้นสู่การปลดปล่อยมวลมนุษย์สู่อิสรภาพ
1
แม้สภาพในหนังอาจดูเกินจริงไปสำหรับสังคมสมัยนี้ แต่ถ้าพิจารณาให้ละเอียดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นใน "Equilibrium" ไม่ได้ห่างเหินจากชีวิตประจำวันของเรากันซักเท่าใดนัก ซึ่งเราสามารถตีความได้สองประเด็น
ประเด็นแรกเป็นเรื่องของการ "ควบคุม" กล่าวคือ การสถาปนาของรัฐในแบบสมัยใหม่ (modern state) ได้รุกล้ำชีวิตเราผ่านการจัดระเบียบต่างๆ โดยโครงสร้างส่วนบน หรือรัฐจะเป็นผู้บงการว่า สิ่งใดถูกหรือผิด โดยมีสิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นพลเมือง" (Citizenship) คอยรองรับ
กล่าวคือ เราจะมีสิทธิต่างๆ ได้ในอาณาบริเวณของรัฐหนึ่ง เราจำต้องมีความเป็นพลเมืองของรัฐนั้น จึงจะสามารถกระทำสิ่งต่างๆ ตามสิทธิของตนได้ตามที่กฎหมายรองรับ
ดังนั้น การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในความหมายของรัฐ จำเป็นต้องมีความเป็นพลเมือง และเพื่อการเป็นพลเมือง เราต้องอยู่ภายใต้การจัดการควบคุมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย กล่าวคือ เมื่อเกิดมาก็ต้องมีการออกใบแจ้งเกิด
เมื่ออายุผ่านเข้าเกณฑ์ 15 ปี ก็ต้องเข้าสู่การลงทะเบียนทำบัตรประชาชน สำหรับผู้ชายเมื่อถึงวัยเกณฑ์ทหาร ก็ต้องขึ้นบัญชีเป็นทหารกองเกิน จนกระทั่งแม้ตายไปก็ต้องออกมรณบัตรให้ รวมไปถึงการออกกฎหมายพระราชบัญญัติต่างๆ ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีการควบคุมและจัดระเบียบสังคมของรัฐให้เป็นไปตามความต้องการของตน
หากมองอีกด้านหนึ่ง ความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ที่เรารับรู้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็อาจเป็นเพียงแค่กลวิธีการควบคุมชีวิตแบบหนึ่งที่รัฐใช้เพื่อให้เรารู้สึกว่า มีสิทธิ เสรีภาพ อยู่ทุกขณะจิต
แต่ก็มีคำถามอีกหลายประการตามมา โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวเนื่องกับผู้คนที่ไม่ได้มีสถานภาพเป็นพลเมือง ตั้งแต่ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่อยู่ตามชายแดน แรงงานต่างด้าว ฯลฯ แม้ว่าจะมีหน่วยงานของรัฐให้ความสนใจและเข้าไป "จัดระเบียบ" กลุ่มคนเหล่านี้อยู่บ้าง
แต่ผู้เขียนไม่ทราบว่า การจัดระเบียบดังกล่าวมีผลให้กลุ่มคนเหล่านั้น ได้รับสิทธิความเป็นพลเมือง ที่เท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่หรือไม่ แต่สิ่งที่สังเกตชัดเจนได้เพียงอย่างเดียว คือ การจัดการของรัฐได้สร้าง "ความเป็นอื่น" (the others)ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนชายขอบเหล่านี้
ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องของการมองโลกแบบ "แยกส่วน" โดยใน "Equilibrium" ความมีเหตุผลได้กลายมาเป็นลัทธิหลัก โดยอารมณ์ได้รับการจับแยกออกไปเพื่อให้สังคมเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ข้อขัดแย้งต่างๆ
อาทิเช่น ความขัดแย้งในกรรมสิทธิ์อันเกิดจากมุมมองของรัฐที่ได้แยกคนออกจากธรรมชาติ และอ้างสิ่งที่เรียกว่าการอนุรักษ์ เพื่อความชอบธรรมในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นการแยก "คน" ออกจาก "ป่า"
ห้ามมิให้คนเข้าไปกระทำการใด อันจะไปรบกวนทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่แต่เริ่มเดิมทีชุมชนต่างก็มีวิธีภายใต้กรอบจารีต ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุลอยู่แล้ว แต่รัฐกลับเป็นตัวการในการแยกพวกเขาเหล่านั้นออกจากวิถีชีวิตที่มีมาแต่เดิม รวมไปถึงวิธีการคิดแบบแยกส่วน ที่มุ่งใช้แต่การคำนวณด้วยเหตุผลล้วนๆ ในการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดนำที่เติบโตขึ้นทุกวัน
ทำให้จากเดิมที่คน และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ต้องเกื้อกูลอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ทรัพยากรธรรมชาติกลับถูกแยกส่วนเป็นเพียงปัจจัยในการผลิตสินค้า โดยรัฐได้ใช้อำนาจผ่านใบเอกสารสิทธิ์ในการจัดสรรและดึงทรัพยากรสู่ส่วนกลางและการให้สัมปทาน การประมูล แก่กลุ่มนายทุนเอกชนต่างๆ
เป็นการดำเนินการเพียงเพื่อผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยที่ไม่สนใจสิทธิของชุมชนในแบบจารีตที่อยู่บนพื้นดิน หรือผืนป่าที่มีมาแต่เดิมจนนำไปสู่ความขัดแย้งของกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรธรรมชาติระหว่างรัฐและชุมชน
ภาพประกอบจาก pixabay
ทั้งหมดที่กล่าวมาสอดคล้องกับแนวคิดในภาพยนตร์ที่ว่า แม้เราจะพยายามสถาปนาความมีเหตุผล ให้กลายเป็นลัทธิหลักในสังคม และเชื่อว่ามันเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สังคมดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ร่ำไป ดังนั้น คงไม่เกินไปที่จะกล่าวว่า ยิ่งเราเข้าไป "ควบคุม" และ "แยกส่วน" สิ่งต่างๆ ออกอย่างเกินพอดี ผลที่ตามมาคงไม่น่าปรารถนานัก
1
การจะทำให้โลกมีความสมดุลปราศจากความขัดแย้งคงไม่ง่าย แต่คงไม่ยากเกินความพยายามของมนุษย์ ซึ่งควรเริ่มจากการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดการมองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู ลดการแบ่งแยกพวกเขา พวกเรา ด้วยสีผิวหรือชาติพันธุ์
1
โลกที่ไร้ความขัดแย้งสวยงามขนาดไหน ?
ถ้าอยากรู้...ทุกคนต้องช่วยกันสร้างครับ
เครดิตบทความ :
ผู้เขียน : นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทความได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากผู้เขียนเพื่อเผยแพร่บนเพจหนังหลายมิติ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา