27 มี.ค. 2021 เวลา 01:23 • ท่องเที่ยว
หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน หรือวัดอัมพวัน สุพรรณบุรี พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน
รูปหล่อหลวงพ่อโหน่ง
ช่วงนี้ อิชั้น มีภารกิจงานราชการที่มีโอกาสได้เข้าวัดเข้าวาบ่อยๆ บทความคราวที่แล้วพาผู้หลักผู้ใหญ่ไปชมวัดมณีวงศ์ ต.ดงละคร นครนายก คราวนี้ไปตรวจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ใน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ขากลับ เพื่อนรุ่นน้องที่ไปด้วยกันขอแวะไหว้พระดัง อ.สองพี่น้อง อิชั้นก็ไม่ขัดศรัทธาเพราะอาศัยรถเขามา ว่าไงว่าตามกัน
วัดที่ว่านี้ชื่อวัดอัมพวัน พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง คือ หลวงพ่อโหน่ง ซึ่งอิชั้นต้องขอสารภาพอย่างไม่อายเลยทีเดียว ว่าเพิ่งได้ยินชื่อเสียงของท่านจากเพื่อนรุ่นน้องคนนี้ แต่ชาวอำเภอสองพี่น้องถือว่าวัดนี้เป็นหนึ่งความภูมิใจ ไม่แพ้วัดไผ่โรงวัว ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเดียวกันเลยทีเดียว
ด้วยเวลาอันจำกัด เพราะต้องรีบกลับบ้านกลับช่องกัน หลังจากเข้าไปสักการะรูปหล่อในพระวิหารแล้ว อิชั้น ก็ใช้เจ้า SS Note 8 รัวถ่ายภาพ น่าเสียดายที่อัปโหลดภาพถ่ายหน้าชัดหลังละลายมาลงไม่ได้ (ขึ้นว่ามีปัญหาในการอัปโหลดทุกที)...555...เอาเป็นว่าชมภาพหน้าชัดหลังชัด กันตรงๆนี่แหละ
วิหารที่ประดิษฐานรูปปั้นหล่อ และรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อโหน่ง
ประวัติของหลวงพ่อโหน่งแห่งวัดคลองมะดัน ภายหลังเปลี่ยนมาตั้งชื่อเป็นวัดอัมพวัน แต่ชาวบ้านเก่าๆก็ยังเรียกวัดคลองมะดัน กันอยู่ อิชั้น มาค้นคว้าหาประวัติโดยถามคุณอาที่นับถือคนเดิม คือ อากู๋ (google) นั่นเอง พอได้อ่านความเป็นมาก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่าน จึงขอนำประวัติของท่านมาเล่าสู่กันฟัง สลับกับภาพวัดที่อิชั้นถ่ายในห้วงเวลาอันจำกัด นะคะ
พญานาคพ่นน้ำ ฉ่ำชื่นเย็นในวันอันร้อนระอุ
ระฆังแขวนเรียงไว้เป็นตับ
หล่วงพ่อโหน่ง เกิดเมื่อปี พ.ศ.2409 (บางตำราว่าเกิด พ.ศ.2408) ต.ต้นตาล อ.สองพี่น้อง บิดาชื่อ โต มารดาชื่อ จ้อย พออายุได้ 24 ปี จึงได้อุปสมบท ที่วัดสองพี่น้อง เมื่อบวชแล้วท่านจึงเดินทางเข้ามาศึกษาที่กรุงเทพฯ มาอยู่จำพรรษากับน้าชาย ที่มีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณเปรียญ 9 ประโยค เพื่อคิดว่าจะศึกษาพระธรรมวินัยกับท่านเจ้าคุณหลวงน้า หลวงพ่อโหน่งสังเกตเห็นเจ้าคุณมีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ จึงเอ่ยปากถามว่า "ท่านละกิเลสหมดแล้วหรือ" แต่ท่านเจ้าคุณกลับบอกให้หลวงพ่อโหน่งเข้าไปดูในกุฏิ หลวงพ่อโหน่งไปเห็นโต๊ะหมู่บูชาทำด้วยมุก โต๊ะหมู่ทอง งาช้าง และสิ่งของมีค่าอีกมากมาย
พระพุทธรูปภายในวิหารหลวงพ่อโหน่ง
เมื่อหลวงพ่อโหน่งได้เห็นความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ต่างๆของพระในกรุง และคิดว่าไม่ใช่แนวทางการหลุดพ้น จึงกราบลาท่านเจ้าคุณน้าชายกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้องตามเดิม จากนั้นก็ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งคอก เพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับพระอธิการจันทร์ พระอุปัชฌาย์ของท่าน
หลวงพ่อโหน่งศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อจันทร์ได้ 2 พรรษา จึงเดินทางมาศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จนมีความรู้แตกฉานเป็นที่ไว้วางใจแก่หลวงพ่อเนียม
มณฑปหลวงพ่อโหน่ง เป็นอาคารจัตุรมุขหลังใหญ่ ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก และรูปหล่อหลวงพ่อโหน่ง น่าเสียดายวันที่ไปมณฑปปิดแล้ว
เจดีย์ทรงลังกาบนยอดมณฑป
เมื่อหลวงพ่อปาน วัดบางโคนม จ.อยุธยา มาขอเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเนียม หลวงพ่อเนียมท่านได้เอ่ยปากปากกับหลวงพ่อปานไว้ว่า " เวลาข้าตายแล้ว เอ็งสงสัยอะไรก็ให้ไปถามโหน่งเขานะ โหน่งเขาแทนข้าได้ "
เมื่อ พ.ศ. 2449 หลวงพ่อโหน่ง อายุได้ 41 ปี พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง โดยมีหลวงพ่อโหน่ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และต่อมาหลวงพ่อสดก็ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อโหน่ง นอกจากหลวงพ่อสดแล้ว ศิษย์ของท่านยังมี หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดโพธิ์ หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก
หลวงพ่อโหน่ง ท่านเป็นพระผู้มีปฏิปทาและจริยวัตรงดงาม เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่เลื่อมใสแก่พุทธศาสนิกชนทั่วหน้า ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านขจรขจาย ทั้งด้านวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมต่างๆ
หลวงพ่อแสงเจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน หรือวัดอัมพวัน ทราบถึงกิตติศัพท์ของหลวงพ่อโหน่ง จึงเดินทางมาพบและสนทนาธรรมกันอยู่เป็นเนืองนิจ หลวงพ่อแสงได้ชักชวนให้หลวงพ่อโหน่ง มาจำพรรษอยู่ด้วยกันที่วัดคลองมะดัน หลวงพ่อโหน่งตอบรับด้วยความเต็มใจ ด้วยต้องการศึกษาหลักธรรมเพิ่มเติมจากหลวงพ่อแสง เช่นกัน
หลวงพ่อโหน่ง ท่านมรณภาพ เมื่อว้นที่ 25 ธันวาคม 2477 สิริอายุ 69 ปี พรรษา 46 โดยท่านมรณภาพในท่าปางไสยาสน์แบบอาจารย์ของท่าน คือ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง หลวงพ่อโหน่ง
หลวงพ่อโหน่ง ท่านนับว่าเป็นเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษท่านหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ แห่งสยามประเทศ ท่านสร้างวัตถุมงคล ไว้แจกจ่ายพุทธศาสนิกชน พร้อมทั้งขึ้นธรรมาสน์เทศนาสั่งสอนผู้คนที่มารับแจกจากมือของท่านไปด้วย
ว่ากันว่าท่านสร้างพระพิมพ์มากกว่า 84,000 องค์ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี พอสร้างเสร็จก็จะเก็บไว้ในตุ่มน้ำ ในถัง ในปีบ ในลังไม้ พระพิมพ์ของท่านมีหลากหลายพิมพ์ แต่ที่ได้รับความนิยม คือ พิมพ์ซุ้มกอ และพิมพ์ขุนแผนหน้าค่าย พระที่หลวงพ่อสร้าง มีพุทธคุณเด่นทางเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดจากอันตรายเป็นเลิศ
ภาพจากweb pra : พระเครื่องพิมพ์ซุ้มกอ หลวงพ่อโหน่ง
ภาพจาก www.phantippowertools.net: พระพิมพ์ขุนแผนหน้าค่าย ฐานบัว หลวงพ่อโหน่ง
วัดอัมพวัน หรือวัดคลองมะดัน ที่สมัยก่อนมีลำคลองผ่านหน้าวัดและมีต้นมะดันขึ้นอยู่ชุกชุมมาก ยังมีของดีให้ชมอีก ตามอิชั้นกะน้อง Note 8 มาค่ะ
ในวิหารหลวงพ่อโหน่ง มีการสร้างพระพุทธรูปสองพี่น้อง เช่นเดียวกับวัดสองพี่น้อง ในอำเภอเดียวกัน (อ.สองพี่น้อง)
รูปหล่อหลวงพ่อโหน่ง ขนาดใหญ่หน้าวัด
จิตรกรรมภาพเขียนโบราณตามเสาวิหาร
รูปปั้นสวยๆที่อิชั้นเดาเอาว่าน่าจะเป็นพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ถ่ายมาฝากค่ะ
เสียดายที่มีเวลาเพียงน้อยนิด ยังเก็บภาพไม่จุใจเลย แต่สุพรรณบุรีกับนครนายก ก็ไกลกันมิใช่น้อย ขับรถ เอ้ย ! นั่งรถเพื่อนออกมาจากวัดด้วยสายตาละห้อย ไว้วันหลังจะมาเยือนใหม่ นะคะ แถมผ่านวัดไผ่โรงวัว ก็อยากแวะจัง แต่เกรงใจน้องอ่ะ
🙏 ยกมือไหว้ก่อนจากลา 🙏
สาวกแห่งองค์พระพุทธเจ้า
มีนานเนาว์สืบสานธรรมนำวิถี
เป็นอรหันต์เผยแผ่แต่สิ่งดี
นำชีวีสาธุชนพ้นบ่วงกรรม...🙏🙏🙏
ถ้าชอบ เรื่อง หลวงพ่อโหน่ง ที่แม่เหน่ง เล่าช่วยไลค์ช่วยแชร์ให้แม่เหน่งบ้าง นะคะ...😊🥰🤗
โฆษณา