26 มี.ค. 2021 เวลา 11:33 • กีฬา
ต่อให้ทีมฟุตบอลจะเก่งกาจแค่ไหน แต่ถ้าบริหารการเงินได้ไม่ดีพอ ก็มีบทสรุปที่การ "ยุบทีม" ได้เหมือนกัน และนี่คือเรื่องราวของ "เจียงซู ซูหนิง" สโมสรแชมป์ลีกจีนที่ปิดฉากไปแล้วเรียบร้อย
1
จะมีสักกี่ทีมในโลก ที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ปั๊บ ฤดูกาลต่อมา ยุบทีมทิ้งมันซะเลย
เรื่องประหลาดนี้ เกิดขึ้นกับสโมสรเจียงซู ซูหนิง จากลีกจีน ที่ตอนนี้เป็นเพียงแค่อดีตทีม เรียบร้อยแล้ว
เหตุผลเดียวที่เรียบง่าย นั่นคือ พวกเขา "ไม่มีเงิน" ซึ่งในโลกของธุรกิจฟุตบอล ถ้าหากไม่มีเงินแล้ว การยืนหยัดต่อไปในวงการนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลย
ในปี 2011 ก่อนสี จิ้นผิง ขึ้นรับตำแหน่งผู้นำของประเทศจีนเล็กน้อย เขาเคยประกาศอย่างหนักแน่นว่า ความฝันของเขาเกี่ยวกับเรื่องกีฬามีอยู่ 3 อย่าง
1- ได้เห็นจีนผ่านไปเล่นฟุตบอลโลก
2- ได้เป็นเจ้าภาพบอลโลก
3- คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก
2
ความฝันข้อ 1 ของสี จิ้นผิง เป็นจริงแล้ว จีนผ่านไปเล่นบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2002 ได้สำเร็จ แต่กับอีก 2 ข้อต่อมา คุณจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องยกระดับวงการฟุตบอลจีนอีกไกลมากๆทีเดียว
ในข้อ 2 ถ้าอยากเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก คุณต้องพัฒนาสนามแข่งขันของตัวเอง ให้มีมาตรฐานระดับเกรดเอ ทั่วประเทศ ส่วนข้อ 3 ถ้าอยากคว้าแชมป์โลก คุณก็ต้องปั้นนักเตะรุ่นใหม่ ให้มีความแข็งแกร่งมากพอ จะไปแข่งขันกับชาติใหญ่ๆได้
เมื่อสี จิ้นผิง มีเป้าหมายเกี่ยวกับฟุตบอลที่หนักแน่นแบบนั้น วงการฟุตบอลจีน จึงเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วมาก
ในช่วงต้นทศวรรษ 2010 บรรดาองค์กรใหญ่ๆ ที่มีธุรกิจผูกพันกับรัฐ ต่างเอาเงินมหาศาลมาลงทุนทำทีมฟุตบอลกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อย่างเช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เอเวอร์แกรนด์ จ่ายเงิน 100 ล้านหยวนเทกโอเวอร์ สโมสรฟุตบอลกว่างโจว ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นกว่างโจว เอเวอร์แกรนด์
1
สโมสรเหอเป่ย ถูกซื้อโดยบริษัทอสังหาฯ ชื่อไชน่า ฟอร์จูน แลนด์ เดเวล็อปเมนต์ ก็เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น เหอเป่ย ไชน่าฟอร์จูน
1
หรือบริษัท กรีนแลนด์ โฮลดิ้ง ที่เป็นบริษัทอสังหาฯ เหมือนกัน ก็เทกโอเวอร์ เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว เป็นเจ้าของสโมสรคนใหม่
เมื่อกลุ่มธุรกิจลงเงินมากมายขนาดนั้น ทำให้การแข่งขันในไชนีส ซูเปอร์ลีก มีความเข้มข้นอย่างมาก แต่ละทีมมีเงินก้อนโต ที่จะจ้างซูเปอร์สตาร์ และโค้ชระดับโลกเข้ามา นอกจากนั้น สนามที่ได้มาตรฐานระดับความจุ 4-5 หมื่น ก็ถูกสร้างขึ้นง่ายๆ
เมื่อลีกจีน ดูจะมีกลุ่มทุนซัพพอร์ท ทำให้คุณภาพของลีกก้าวกระโดดไปไล่บี้ กับลีกญี่ปุ่น และลีกเกาหลี ไม่นานนักจีนก็ได้โควต้า ในเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก สูงสุด 4 ทีม ทิศทางของฟุตบอลจีนถือว่าสดใส มีนักเตะดาวรุ่งป้อนเข้าสู่ทีมชาติอย่างมากมาย
-------‐---------------------
ตัดกลับไปที่ปี 1990 บริษัท "ซูหนิง" ก่อตั้งขึ้น โดยเป็นธุรกิจผลิตเครื่องปรับอากาศ ธุรกิจดำเนินไปด้วยดี เริ่มขยายกิจการไปทำอสังหาฯ และเทคโนโลยี ทำค้าปลีก และสุดท้ายแตกไลน์ไปทำช็อปปิ้งออนไลน์
หลักการเดียวกันกับทีมธุรกิจอื่นๆ ซูหนิง ต้องการใช้สโมสรฟุตบอลในการสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร ว่ามีส่วนช่วยผลักดันวงการกีฬาของประเทศ ดังนั้นในปี 2015 พวกเขาจึงจ่ายเงินเทกโอเวอร์ สโมสรเจียงซู เซนตี้ และเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นเจียงซู ซูหนิง
1
ซูหนิงกรุ๊ป เป็นบริษัทใหญ่ที่มีเครดิตดี นั่นทำให้เวลาสโมสรฟุตบอลไปกู้เงินธนาคาร มาเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือซื้อนักเตะ ก็ได้รับเงินง่ายมาก
พอมีเงินปั๊บ พวกเขาก็เดินหน้าช็อปปิ้งซื้อตัวดังๆทันที ไม่ว่าจะเป็น รามิเรส หรือ อเล็กซ์ เตเซร่า ตามด้วยจ้างผู้จัดการทีมระดับโลกอย่างฟาบิโอ คาเปลโล่ เข้ามาอีกคน
นอกจากจะสร้างทีมเจียงซู ซูหนิงแล้ว บริษัทซูหนิง ยังควักเงินก้อนยักษ์ 230 ล้านปอนด์ เพื่อถือหุ้นใหญ่ของอินเตอร์ มิลาน ในกัลโช่ เซเรียอา อิตาลีอีกด้วย
3
เมื่อคุณสร้างทีมด้วยเงิน ตราบใดที่ยังมีเงิน ทีมฟุตบอลก็ยังเดินหน้าไปได้ด้วยดี เจียงซู ซูหนิง ซื้อเอแดร์ กองหน้าชาวบราซิลจากอินเตอร์มาอีกคน และถ้าใครยังจำกันได้ ครั้งหนึ่งพวกเขาก็เกือบได้ตัวแกเร็ธ เบลด้วยซ้ำ
ผลงานของทีมก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด ฤดูกาล 2020 พวกเขาก็คว้าแชมป์ไชนีสซูเปอร์ลีกที่รอคอยได้สำเร็จ สามารถโค่นบัลลังก์ทีมเต็งแชมป์อย่างกว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ลงได้อย่างสวยงาม
หลังจากคว้าแชมป์แค่ไม่กี่เดือน ท่ามกลางบรรยากาศที่แฟนๆกำลังมีความสุข และมีความฝันว่าจะทำผลงานในเวทีแชมเปี้ยนส์ลีกได้ดี สโมสรก็ประกาศ "ยุบทีม" ด้วยสาเหตุคือ สโมสรไม่มีเงิน
1
สโมสรเจียงซู ซูหนิง มีรายได้หลักทางเดียว คือเงินจากบริษัทแม่ซูหนิงกรุ๊ป รายได้ทางอื่น ขายนักเตะก็ไม่ได้ พวกเขาไม่มีทีมซื้อขายที่เก่งกาจขนาดนั้น ตัวที่ซื้อมาแพงๆ เงินก็จมหายไปเลย ทีมการตลาดก็ไม่ดี โปรโมทให้คนดูเข้าสนามค่าเฉลี่ยไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ
1
เมื่อมีรายได้ทางเดียว และค่าใช้จ่ายยังคงที่อยู่เรื่อยๆ ทันทีที่ช่องทางรายได้นั้นมีปัญหา สโมสรจึงต้อนตัวเองเข้ามุมอับทันที
1
จาง จินดง ผู้บริหารสูงสุดของซูหนิงกรุ๊ปยอมรับว่า ด้วยวิกฤติโควิด ทำให้ธุรกิจหลักขององค์กร นั่นคือค้าปลีกเริ่มมีปัญหา เงินสดเริ่มขาดมือ ดังนั้นเขาไม่สามารถเอาเงินจากธุรกิจแม่ ไปจ่ายหนี้สินที่เกินตัวของเจียงซู ซูหนิงได้ ค่าเหนื่อยนักเตะ ค่าเหนื่อยโค้ช หลายๆคน แพงกว่าผู้เล่นในยุโรปด้วยซ้ำ และกำไรทีได้กลับมาก็น้อยนิด ไม่คุ้มกับการลงทุนเลย
2
ต่างกับกรณีของอินเตอร์ มิลาน ที่ปีหน้าจะได้กลับไปเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ก็พร้อมทำเงินมหาศาล แต่กับเคสของเจียงซู ซูหนิง ต่อให้ได้แชมป์ หรือได้ไปเล่นเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ทีมก็ยังขาดทุนยับอยู่ดี ไหนจะค่าเหนื่อยคนเก่า ไหนจะงบประมาณซื้อนักเตะใหม่ มันมีแต่รายจ่าย
บริษัทแม่ ประกาศชัดเจนว่า ไม่อยากแบกรับภาระอีกต่อไปแล้ว จึงประกาศหาคนมาเทกโอเวอร์สโมสร โดยราคาขายอยู่ที่ 1 เซนต์ เท่านั้น
1
แต่ปัญหาคือไม่มีกลุ่มผู้ลงทุนคนไหนสนใจเลย เพราะเจียงซูบอกว่า คนที่มาเทกโอเวอร์ ต้องแบกรับหนี้ 67 ล้านปอนด์ ที่สโมสรกู้ไว้กับธนาคารด้วย ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ใครจะไปยอมจ่ายเงิน เพื่อให้ตัวเองมาลงทุนในธุรกิจที่ยากจะทำกำไรแบบนี้
2
สมาคมฟุตบอลจีน ให้เดดไลน์ ในการหาคนมาเทกโอเวอร์ เพื่อชำระหนี้สินคั่งค้าง เพราะสมาคมต้องส่งรายชื่อไปแข่งขันในเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีกแล้ว แต่สุดท้ายเจียงซูหาคนซื้อไม่ได้ และบริษัทแม่ก็คอนเฟิร์มว่า ถ้าทำทีมต่อ หนี้ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ขอตัดจบยุติเพียงแค่นี้ดีกว่า เลิกสโมสรไปเลย จากนั้นตัวเลข 67 ล้านปอนด์ บริษัทแม่ก็จะค่อยๆผ่อนชำระคืนธนาคารต่อไป
1
แถลงการณ์ของสโมสรกล่าวว่า "ด้วยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ สโมสรเจียงซู เราไม่พร้อมที่จะลงเล่นในไชนีสซูเปอร์ลีก และเอฟเอซี แชมเปี้ยนส์ลีก ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เราพยายามหานายทุนที่จะเทกโอเวอร์สโมสรแล้ว แต่เราไม่สามารถหาได้ นั่นทำให้เราไม่มีทางเลือก นอกจากจะยุบทีมทันที"
3
เหตุผลก็เข้าใจได้ง่าย ตอนนี้บริษัทค้าปลีกของซูหนิงเองก็ไม่ทำกำไรเท่าเมื่อก่อน และภาระกับอินเตอร์ มิลานก็ยังมี ดังนั้นถ้าต้องตัดยูนิตอะไรสักอย่างออกไป ก็ต้องเลือกอะไรที่ทำเงินน้อยที่สุด ซึ่งก็ไปหวยออกที่เจียงซู ซูหนิงนั่นเอง แม้สโมสรจะเพิ่งได้แชมป์ลีกสูงสุดมาก็เถอะ มันช่วยไม่ได้จริงๆ
ทีมฟุตบอลจะเก่งแค่ไหน แต่เมื่อหวังพึ่งพารายได้แค่มิติเดียว มันก็ไม่พอที่จะทำให้สโมสรยืนหยัดได้ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
การที่เจียงซูยุบทีมไปดื้อๆแบบนั้น ทำให้แฟนบอลโกรธแค้นมาก คือก่อนที่ซูหนิงจะมาเทกโอเวอร์ มันก็มีสโมสรเจียงซู เอฟซีอยู่ ก่อตั้งมาตั้ง 63 ปี แฟนบอลท้องถิ่นก็เชียร์กันมาเรื่อยๆ ฟอร์มดีบ้าง ร้ายบ้าง ต่อให้ไม่เคยเป็นแชมป์อะไร อย่างน้อยก็มีทีมให้เชียร์เรื่อยๆ
แต่พอซูหนิงมาเทกโอเวอร์ปั๊บ อัดเงินเข้ามา ซื้อสตาร์มาโป้ง โป้ง สุดท้ายทีมได้แชมป์ลีกครั้งแรก แล้วประกาศยุบทีมมันซะเลย แล้วแบบนี้แฟนบอลจะรู้สึกอย่างไร
1
ลองนึกภาพ สมมุติที่อังกฤษ อย่างสโมสรมิดเดิลสโบรห์ ทีมก็ขึ้นๆลงๆ ในลีกสูงสุดบ้าง ดิวิชั่น 1 บ้าง แต่ไม่เคยได้แชมป์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่เคยได้แชมป์ลีกสูงสุด แต่สโมสรก็อยู่คู่กับเมืองมาร้อยกว่าปีแล้ว ถ้าวันหนึ่งมิดเดิลสโบรห์มีคนมาเทกโอเวอร์ อัดเงินเข้าสโมสรหลายร้อยล้านปอนด์ จนทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ (สมมุติ) ก่อนสุดท้ายจะยุบสโมสรไปเลย เพราะเจ้าของจ่ายหนี้ไม่ไหว และแฟนบอลก็ทำอะไรไม่ได้ด้วย เพราะหุ้นอยู่กับเขาหมด
4
เรื่องราวของสโมสรที่มีมา เมื่อนายทุนคนใหม่บอกว่า "ไม่เอาแล้ว" ประวัติศาสตร์ใดๆ ก็จบลงได้ทันที ซึ่งจากนี้ไป ถ้าชาวเมืองเจียงซู อยากจะมีทีมฟุตบอลใหม่ขึ้นมาในเมืองก็ต้องรอองค์กรใหม่ ก่อตั้งขึ้นมาเอง นับหนึ่งตั้งแต่แรก
1
กรณีศึกษาของเจียงซู ซูหนิง คือเหตุผลที่การเทกโอเวอร์ ต้องทำอย่างรอบคอบมากๆ ถ้าหากเศรษฐีที่เข้ามาซื้อทีมมีความรัก ความห่วงใยทีมจริงๆ ทีมก็จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเขาแค่ซื้อเพื่อเอามาเป็นเครื่องมือทำอะไรสักอย่าง เขาจะเอาสโมสรไปปู้ยี่ปู้ยำแบบไหนก็เดาไม่ได้
ปรากฎการณ์สโมสรล่มสลายในฟุตบอลจีน เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมาก โดยนับตั้งแต่มีโควิด-19 มีถึง 17 สโมสร ที่เลิกทำทีมไปเรียบร้อยใน 3 ดิวิชั่น
3
สาเหตุสำคัญคือเรื่องของ "ฟองสบู่" กล่าวคือ สโมสรจ่ายค่าเหนื่อยแพงๆ ให้กับผู้เล่นต่างชาติจนเกินตัวไปมาก และคิดในใจว่า เดี๋ยวก็หารายได้มาถมๆได้เอง
แต่สิ่งที่เห็นคือความเห่อ ความคลั่งของแฟนบอลในช่วงแรกๆก็ลดลงไปแล้ว ในซีซั่น 2019 คนดูฟุตบอลในสนามเฉลี่ยแค่ 51% เท่านั้น อย่างเจียงซู ซูหนิง สนามจุได้ 62,000 คน แต่คนมาดูเฉลี่ยแค่ 27,508 คน ต่อแมตช์เท่านั้น
ยิ่งในซีซั่น 2020 มีโควิดแบบเต็มๆ คราวนี้เงินสดของแต่ละทีมก็เริ่มขาดมือแล้ว หลายๆทีมพยายามจะเซฟค่าใช้จ่าย จึงได้รู้ปัญหาว่า ค่าเหนื่อยที่ทุ่มให้อย่างบ้าคลั่ง มันเกินเรตที่ตลาดเขาจ่ายให้ตั้งเยอะ
สมาคมฟุตบอลจีน จึงออกกฎเพดานค่าเหนื่อยขึ้นมา เพื่อเบรกไม่ให้แต่ละสโมสรจ่ายหนักจนเกินไป โดยอนุญาตให้จ่ายค่าเหนื่อยได้ 68 ล้านปอนด์ต่อปี ขณะที่ตัวต่างชาติ จ่ายค่าเหนื่อยได้สูงสุด 9 ล้านปอนด์ต่อปีเท่านั้น (1.7 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์) จะมาทุ่ม 3-4 แสนต่อวีก เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้อีกแล้ว
1
ถ้ายังจำกันได้ ตอนฮัล์ค กับออสการ์ เซ็นสัญญากับเซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี เขาโกยเงินคนละ 4 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ้าคลั่งเกินไป การเห็นทีมหนึ่งจ่ายแบบนี้ อีกทีมก็จะเอามั่ง สู้กันไปเรื่อยๆ จนตัวเลขมันเฟ้อไปไกล สุดท้ายก็ต้องเจ็บตัวกันทั้งหมด
2
สำหรับกรณีศึกษาที่เราได้จากฟุตบอลจีนในเคสของเจียงซู มี 3 เรื่องสำคัญ
เรื่องแรกคือการเทกโอเวอร์ทีม แฟนบอลเองก็ต้องช่วยสโมสรดูด้วย ว่าคนที่จะมาซื้อทีมเป็นใคร น่าเชื่อถือหรือไม่ ถ้าหากดูทรงแล้ว จะพาทีมพังแน่ๆ เสียงจากแฟนบอลจะสามารถส่งตรงถึงผู้บริหารได้ และอาจทำให้เกิดการทบทวนเรื่องการซื้อขายอีกครั้ง
อย่าลืมว่านักธุรกิจเขามองสโมสรฟุตบอลคือสินทรัพย์อย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีหัวใจให้เลย วันหนึ่งเมื่อมันไม่ทำกำไร เขาก็ไม่ลังเลใจที่จะทำลาย
1
เรื่องที่สองคือ ในวงการฟุตบอลที่รันด้วยเงิน อัดเงินอย่างเดียว เพื่อสร้างความฮือฮา มันก็จะหวือหวาได้ในช่วงสั้นๆ แต่สุดท้ายไม่มีใครจ่ายเงินฟรีๆ เผาเงินเล่นได้ตลอดไป วงการฟุตบอลที่ยั่งยืน จะไม่ใช้จ่ายในตัวเลขที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น
และเรื่องที่สามคือ ฟุตบอลจีนได้รู้แล้วว่า การหารายได้นั้น "สำคัญ" สโมสรที่ไม่มีการบริหารการเงินที่ดี ก็อาจล่มสลายได้ง่ายๆแบบเจียงซู ซูหนิงเลยทีเดียว
สำหรับการยุบทีมเรื่อยๆของวงการฟุตบอลจีนแบบนี้ น่าสนใจว่าจะมีอิมแพ็กอย่างไรต่อไป
1
อยากรู้เหมือนกันว่า ต่อให้มีเรื่องยุบทีมแต่วงการฟุตบอลจีนก็ยังแข็งแกร่งต่อไปเหมือนเดิม หรือจะค่อยๆเสื่อมถอยลงมาช้าๆ
และความฝันของสี จิ้นผิง ที่จะได้เป็นเจ้าภาพบอลโลกสักครั้ง หรือพาจีนคว้าแชมป์โลกจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
โฆษณา