26 มี.ค. 2021 เวลา 06:03 • ธุรกิจ
วันละเรื่องตอน “ทำไมญี่ปุ่นไม่สนใจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า”
เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา อากิโอะ โตโยดะ ประธานของ “โตโยต้า” ได้ออกมากล่าวสุนทรพจน์ว่า ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า EV เกินจริงไป เพราะ EV ไม่ใช่ไม่ก่อมลพิษเลย ยังต้องใช้พลังงานจากไฟฟ้า แล้วไฟฟ้ามาจากไหน ถ้าไม่ใช่มาจากถ่านหินและเชื้อเพลิง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในปีนี้ โตโยต้าประกาศเตรียมจะเปิดตัวรถ EV ระดับ Mass-Market เป็นครั้งแรกในสหรัฐ ถึงแม้จะยังคงยืนยันคำเดิมว่า จากการวิจัยภายในแล้วพบว่า EV กับไฮบริด ปล่อยมลพิษเท่าๆ กัน
แสดงให้เห็นว่าโตโยต้ายังคงยึดมั่นในรถยนต์ไฮบริด ส่วนรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นอื่นๆ เช่น ฮอนด้า เองก็ร่วมทุนกับค่ายรถเจ้าอื่นอย่าง G.M. จากสหรัฐ ในการขายรถยนต์ EV
ด้วยกระแสรักโลกทำให้รัฐบาลหลายประเทศประกาศจะเลิกขายรถยนต์พลังงานสันดาป (เบนซินและดีเซล) ในปี 2035-2040 เช่น ในอังกฤษและฝรั่งเศส
เพียงแต่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เร่งรีบนัก โดยแม้จะมีเป้าหมายในการห้ามขายรถสันดาปเหมือนกัน แต่เป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นคือ “อนุญาตให้ขายรถไฮบริดได้”
เหตุผลข้อแรกของบรรดาค่ายรถญี่ปุ่นที่ยังไม่กระโดดเข้าจับกระแส EV เลย ก็คงเป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้เร่งนี่แหละ ส่วนเหตุผลข้อถัดมา ก็คงเป็นยอดขาย ที่ถึงแม้กระแสจะแรงจริง แต่ยังคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 3% ของยอดขายรถทั้งโลกด้วยซ้ำ
เหตุผลข้อต่อไปคือ โตโยต้าลงทุนไปกับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนไปมากแล้ว โดยเป็นรถยนต์ที่สร้างพลังงานจากไฮโดรเจน ซึ่งทำปฏิกริยากับออกซิเจน จนทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า และปล่อยของเสียออกมาแค่ “ไอน้ำ” เท่านั้น
โตโยต้ามีรถยนต์ที่ใช้พลังงานดังกล่าวอยู่ ชื่อรุ่นว่า “Mirai” ที่แปลว่า “อนาคต” ในภาษาญี่ปุ่น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ตั้งแต่เปิดตัวรุ่นไฮโดรเจนนี้มาตั้งแต่ปี 2014 กลับขายได้แค่ประมาณ 11,000 คันเท่านั้นเอง
กระนั้น โตโยต้าก็ยังคงพยายามขายรถรุ่น Mirai ต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าจะเป็นเทคโนโลยีของอนาคตมากกว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายว่ารุ่นยนต์ Mirai รุ่น 2 จะสามารถขายได้เป็น 2 เท่า เนื่องจากตั้งในราคาที่ถูกกว่า
ถ้าโตโยต้าจะประสบความสำเร็จในการขายรถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนแล้ว จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับเสียก่อน โดยเฉพาะกับสถานีเติมไฮโดรเจน
บลูมเบิร์กคำนวณว่าทั่วโลกอาจต้องลงทุนถึง 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียวในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเติมไฮโดรเจนให้เพียงพอกับเบนซินและดีเซลในปัจจุบัน
กลายเป็นสถานการณ์ไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่จะเกิดก่อนไก่ เราจะมีรถ EV ก่อนมีสถานีชาร์จ หรือจะมีสถานีชาร์จก่อนมีรถ เราจะมีรถไฮโดรเจนก่อน หรือรอค่อยมีสถานีก่อนเราถึงจะซื้อรถ
ก็ต้องมาดูกันว่าเทคโนโลยีไหนจะเป็นเทคโนโลยีแห่ง “อนาคต” กันแน่
โฆษณา