26 มี.ค. 2021 เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์
กว่าจะมาเป็น “คลองสุเอซ” ในปัจจุบัน
สมรภูมิแห่งการแย่งชิงอำนาจ สงคราม และความมั่งคั่ง
2
อุบัติเหตุเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ของบริษัท “เอเวอร์กรีน” ที่เกยตื้นขวางลำคลองสุเอซจนทำให้การเดินเรือระหว่างเอเชียและยุโรปเป็นอัมพาตมา 48 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าคลองขุดโดยฝีมือมนุษย์เมื่อ 150 ปีที่แล้ว และมีความยาวถึง 193 กิโลเมตรนั้นสำคัญต่อเศรษฐกิจ การค้า ของโลกมากขนาดไหน เพราะเพียงแค่เหตุการณ์เรือลำเดียวขวางคลอง ก็ทำเอามูลค่าการค้าโลกเสียหายถึงชั่วโมงละ 1.2 หมื่นล้านบาท และหากไม่สามารถกู้เรือได้ในเร็ววัน ความเสียหายจะพุ่งสูงเป็นหลักล้านล้านบาท ซึ่งนั่นอาจเทียบเท่ากับงบประมาณแผ่นดินทั้งปีของประเทศขนาดกลางๆ ประเทศหนึ่งเลยทีเดียว
2
จากเหตุการณ์นี้คลองสุเอซกลายเป็นที่สนใจอีกครั้งของคนทั้งโลก ซึ่งกว่าที่คลองแห่งนี้จะเป็นอย่างเช่นในปัจจุบัน ในอดีตมันคือพื้นที่สมรภูมิแห่งการช่วงชิงอำนาจของโลกตะวันตก และโลกอาหรับ การทำสงครามนองเลือด รวมทั้งเป็นแหล่งปั้มเงินที่ไม่มีวันจบสิ้นของผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์ครอบครอง
4
🔵 จุดกำเนิดของคลองที่สำคัญที่สุดของโลก
1
คลองสุเอซ ถูกสร้างขึ้นในประเทศอียิปต์ บนพิกัดระหว่างพอร์ตซาอิด ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเมืองสุเอซ บนฝั่งทะเลแดง เชื่อมดินแดนสองทะเลเข้าด้วยกัน เริ่มขุดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2402 แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2412 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 รวมระยะก่อสร้างเวลา 10 โดยเป็นการขุดด้วยมือล้วนๆ จากแรงงานแอฟริกาและชาวอาหรับเร่ร่อนราว 220,000 คน เมื่อแล้วเสร็จคลองแห่งนี้ก็เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการค้าระดับโลกเนื่องจากเป็นเส้นทางลัดระหว่างยุโรปและเอเชีย ขจัดการเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา ที่ในอดีตการจะเดินทางอ้อมแหลมแห่งนี้เพียงอย่างเดียวต้องใช้ระยะเวลาเดินทางถึง 24 วัน
1
แนวคิดการขุดคลองลัดเชื่อมสองทะเล ไม่ได้เพิ่งมาคิดกันเมื่อ 150 ปีที่แล้ว แต่เคยมีคนคิดอยากจะขุดคลองแห่งนี้มาก่อนหน้านั้น ซึ่งผู้ที่จุดประกายความคิดคือ กษัตริย์นโปเลียนที่ 1 ของฝรั่งเศสที่เคลื่อนทัพมายึดครองอียิปต์ในปี พ.ศ.2341 แต่การเริ่มมีแผนที่จะขุดคลองจริงจังก็ล่วงเลยมาในสมัยของกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 ใน พ.ศ.2391 โดยนักการทูตและวิศวกรชาวฝรั่งเศส ชื่อ “แฟร์ดีนอง เดอ เลเซป” (Ferdinand de Lesseps) อดีตราชทูตฝรั่งเศสประจำอียิปต์ซึ่งสนิทสนมกับผู้สำเร็จราชการของอียิปต์ ชื่อ “โมฮัมเหม็ด ซาอิด” ทั้งสองคนเคยหารือเรื่องการขุดคลองกันมาก่อนแล้ว รวมทั้งเรื่องเงินทองที่จะไหลมาเทมา
7
นั่นทำให้แผนการขุดคลองจริงเริ่มต้นขึ้นใน ปี 2402 โดยบริษัทของชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทั้งหมดจนกระทั้งเสร็จสิ้นการขุดคลองและเปิดใช้งาน
1
เมื่อร้อยกว่าปีก่อนนับเป็นยุคสมัยแห่งการเดินเรือเพื่อแสวงหาดินแดนใหม่ๆ ของชาติมหาอำนาจในขณะนั้น ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) ที่ออกเดินทางไปทั่วพื้นมหาสมุทรและเข้ายึดพื้นที่ต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคมตัวเอง แน่นอนว่าคลองสุเอซที่ถูกกสร้างขึ้นโดยฝรั่งเศส ที่อยู่บนดินแดนอาณานิคมอย่างอียิปต์ ย่อมเป็นที่หมายตาของแต่ละประเทศที่จะเข้าครอบครองแย่งชิงมาให้ได้ เพื่อประโยชน์ทางการเดินเรือเพื่อการค้า การขยายดินแดน และการทำสงคราม
3
🔵 จุดยุทธศาสตร์แห่งการช่วงชิงของมหาอำนาจ
หลังคลองสุเอซขุดเสร็จ บริษัทฝรั่งเศสได้สัมปทานในการหากินกับคลองแห่งนี้ได้ 99 ปี ฝ่ายอังกฤษซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานานก็รู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบอย่างมากที่จะไม่ได้ครอบครองอียิปต์ จึงพยายามปลุกปั่นทุกทางในระหว่างที่กำลังดำเนินการขุดคลองเพื่อให้โครงการล่ม ทั้งการปลุกปั่นคนงานก่อสร้างให้ก่อกวนการขุดคลอง ไปล็อบบี้ป่วนบริษัทการเงินและธนาคารที่ให้ทุนก่อสร้างคลองแก่ฝรั่งเศส เพื่อให้เลิกสนับสนุนเงินในการขุดคลอง แต่จนแล้วจนรอดคลองก็สร้างเสร็จ
2
เมื่อคลองสร้างเสร็จแล้วฝรั่งเศสในฐานะผู้ได้รับสัมปทานและบริหารจัดการคลองแห่งนี้ จึงได้เดินหน้าทำสัญญากับชาติต่างๆ ต้องการนำเรือผ่านคลองสุเอซ และแน่นอนว่าเกือบทุกชาติที่มีทางออกสู่ทะเลในยุโรปก็อยากจะเดินเรือผ่านคลองแห่งนี้อยู่แล้ว เพราะมันช่วยย่นระยะเวลาการเดินเรือไปเอเชียได้จากหลักเดือนเหลือเพียงแหล่งหลักชั่วโมงเท่านั้น ใครล่ะจะไม่อยากใช้บริการ
2
จะมีก็แต่อังกฤษนี่แหละที่จะไม่ยอมเสียฟอร์มหรือเสียหน้าไปง้อขอคลองฝรั่งเศสใช้เด็ดขาด ทั้งที่ตัวเองอยากเดินเรือผ่านคลองนี้ใจจะขาด เนื่องจากการอ้อมแหลมกู้ดโฮปนั้นเสียเวลาเดินทางเป็นแรมเดือนแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่มีกระแสน้ำรุนแรง ทำเรือที่แล่นผ่านแตกและอับปางลงมานักต่อนัก
5
ครั้นจะไปขอทำสัญญาใช้คลองแบบประเทศอื่นๆ ก็ดูจะเป็นลดเกรดตัวเองลงไป ดังนั้นในเมื่ออังกฤษก็เป็นมหาอำนาจโลกที่เรียกได้ว่าเป็นอันดับหนึ่ง ณ ขณะนั้นเลยก็คงไม่ผิดนัก จึงใช้บารมีและอำนาจเงินเข้าซื้อหุ้นบริษัทที่บริหารคลองแห่งนี้เสียเลย โดยซื้อจากผู้ถือหุ้นฝั่งอียิปต์จำนวน 44% และอียิปต์ก็เต็มใจขายหุ้นให้ด้วย เพราะเวลานั้นอียิปต์ก็ต้องการเงินจำนวนมากเพื่อนำไปสร้างเขื่อนอัสวานกั้นแม่น้ำไนล์
3
ต่อมาในปี พ.ศ.2425 เกิดเหตุความไม่สงบทางการเมืองในอียิปต์ ลาภปากอังกฤษเลยทีนี้ เพราะในช่วงที่ภายในเกิดปัญหา อังกฤษเลยฉวยโอกาสนี้ส่งทหารเข้ายึดและปกครองอียิปต์เสียเลย โดยมีฝรั่งเศสแอบหนุนหลัง ทำให้อังกฤษได้ปกครองอียิปต์สมใจ และมีอภิสิทธิ์ในคลองสุเอซเฉกเช่นฝรั่งเศส
1
หากเสือสองตัวจะอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ฉันใด มหาอำนาจสองชาติก็มิอาจปกครองดินแดนเดียวกันได้ฉันนั้น การเข้ามาของอังกฤษในอียิปต์กลายเป็นการเข้ามาแย่งชิงผลประโยชน์จากฝรั่งเศสไป รวมถึงผลประโยชน์ของคลองสุเอสด้วย ทำให้ทั้งสองชาติตีกันอีกรอบ จนนำไปสู่การทำข้อตกลงในอนุสัญญาคอนสแตนติโนเปิล พ.ศ.2431 ที่มีผลทำให้คลองสุเอซเป็นดินแดนเป็นกลาง แต่ในทางปฏิบัติกองกำลังของอังกฤษได้ยึดครองพื้นที่จนกระทั่งปี พ.ศ.2497
4
แต่อย่างว่าสัญญาที่ไม่เคยเป็นสัญญา กระดาษที่เขียนด้วยน้ำหมึกใช่จะมีความหมายเสมอไป เพราะมหาอำนาจพร้อมฉีกมันทิ้งเสมอถ้ามันไม่เอื้อประโยชน์ต่อตน อังกฤษเลยฉีกสัญญาดังกล่าวทิ้ง และประกาศห้ามกองเรือของประเทศที่เป็นคู่ศัตรูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ผ่านคลองสุเอซ
🔵 เมื่อเจ้าของพื้นที่แทบไม่ได้ผลประโยชน์ดังนั้นก็ต้อง "ยึด"
อียิปต์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่มองมหาอำนาจโลกตบตีแย่งชิงคลองกันมานาน แถมไม่สามารถเก็บเงินเข้าสู่ประเทศได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะดันขายหุ้นที่เคยถือให้กับอังกฤษไปแล้ว และหุ้นใหญ่ก็ถูกถือโดยฝรั่งเศส
1
ดังนั้น พ.ศ.2499 นายพลนัสเซอร์ (Nasser) ของอียิปต์ประกาศยึดคลองสุเอซเข้าเป็นของรัฐ ทำให้เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประท้วง
อียิปต์ประกาศกฎอัยการศึก ในบริเวณคลองสุเอซ พร้อมกับส่งทหารเข้าควบคุมกิจการของคลอง อิสราเอลถือโอกาสส่งรถถังบุกเข้าไปในคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ และมุ่งหน้าไปเขตคลองสุเอซ
5
ในเวลาเดียวกัน อังกฤษและฝรั่งเศสก็กระหน่ำซ้ำเติมโดยยกพลขึ้นบกที่พอร์ตซาอิด อ้างว่าส่งทหารเพื่อเข้ามารักษาความสงบ กองทัพอียิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือราว 40 ลำ กีดขวางคลองไม่ให้เรือผ่าน
2
และแล้วการมาของสหประชาชาติและสหรัฐก็เข้ามา เพื่อกดดันให้อังกฤษและฝรั่งเศสถอนกำลังทหารออกจากคลองสุเอซ เพราะถ้าไม่ถอน คงจะมีอีกชาติที่พร้อมเข้ามาร่วมวงสงครามข้างคลองด้วยแน่นอน ซึ่งก็คือสหภาพโซเวียต และถ้าโซเวียตเข้ามาผสมลงโรงด้วยแล้ว งานนี้คงไม่ใช่เรื่องดีและสงครามจะไม่จบง่ายๆ แน่นอน
4
เหตุการณ์ดูจะคลี่คลายลงได้ เพราะอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอล ถอนกำลังทหารออกจากอียิปต์ และคลองสุเอซสามารถเปิดให้บริการได้อีกครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2500
1
และเพื่อให้คลองแห่งนี้เป็นของอียิปต์อย่างเต็มตัว ธนาคารโลกจึงเป็นตัวกลางเข้ามาไกลเกลี่ยระหว่างผู้ถือหุ้น 3 ชาติคือ ฝรั่งเศสที่ถือหุ้นใหญ่ อังกฤษ และอียิปต์ ซึ่งรัฐบาลอียิปต์ยอมจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทจากยุโรปรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 81.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,528 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2501 ซึ่งถ้าคิดตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันก็ราว 2.5 แสนล้านบาท
หลังจากนั้นก็มีวิกฤตคลองสุเอซอีกครั้งในปี 2510 - 2518 โดยเป็นการสู้รบกันระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับ ซึ่งอียิปต์ปิดคลองไม่ให้เรือของอิสราเอลผ่าน ยื้อกันนาน 8 ปี กว่าจะสงบศึกได้
🔵 คลองสุเอซแหล่งปั้มเงินของอียิปต์
ปัจจุบันคลองสุเอซทำรายได้เข้าอียิปต์ปีละ 5.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.68 แสนล้านบาทเลยทีเดียว จากเรือที่แล่นผ่านคลองแห่งนี้วันละไม่ต่ำกว่า 50 ลำ หรือในช่วงพีคอาจถึงวันละ 90 ลำก็มี ซึ่งในปี 2563 มีเรือน้อยใหญ่ป่านคลองสุเอซถึง 19,000 ลำ และยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยรัฐบาลอียิปต์คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีรายได้จากคลองสุเอสสูงถึง 13.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 411,000 ล้านบาท
3
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเหตุการณ์เรือบรรทุกสินค้าเอเวอร์กรีน ที่เกยตื้นขวางคลองจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่กระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า การเดินเรือ และมีมูลค้าความเสียหายคิดเป็นรายชั่วโมงมากกว่าหมื่นล้านบาท
ซึ่งนี้ก็เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ของคลองสุเอซ คลองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลกฝั่งเอเชีย แอฟริกา แลยุโรป ที่ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าคลองปานามาเพื่อนของมันในฝั่งอเมริกา
2
โฆษณา