26 มี.ค. 2021 เวลา 12:17 • ธุรกิจ
เคยรู้สึกไหมว่าแค่เราลดขยะด้วยตัวเองอาจจะยังไม่พอ?
เราจะสังเกตได้ว่าเดี๋ยวนี้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายอย่างมีความรับผิดชอบทั้งกับสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือเป็น Conscious consumer มากขึ้น
ในด้านของการผลิต เราได้ชื่นชมและสนับสนุนผู้ผลิตหลายที่ที่ได้ปรับตัวตาม แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเจ้าที่ยังไม่เล็งเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ เราเลยต้องการให้มีผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบร่วมกันมากขึ้น
ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป ได้มีการใช้หลักการที่มอบบทบาทให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ของตัวเองตั้งแต่การผลิตจนถึงการสิ้นอายุการใช้งาน และทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน หลักการนี้มีชื่อเรียกว่า EPR
"EPR คืออะไร?"
EPR หรือ Extended Producer Responsibility
แปลเป็นไทยอย่างง่ายว่าการขยายขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต
คือขยายจากการดูแค่ในกระบวนการผลิตเป็นดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ
หรือดูแลตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ > ผลิต > วางขาย > อยู่ในมือผู้บริโภค > ดูแลจัดการสินค้าหลังหมดอายุการใช้งานแล้ว
"เป้าหมายของ EPR"
EPR มีเป้าหมายหลักอยู่ 2 อย่าง คือ
1. เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์และระบบของผลิตภัณฑ์
2. เพื่อให้มีการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และวัสดุในผลิตภัณฑ์หลังการใช้งานผ่านการเก็บรวบรวม การบำบัด การใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ [อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบเชิงสังคม] (van Rossem, and Lindhqvist 2005)
โดยข้อแรกเป็นข้อที่สำคัญมาก
เพราะจากบทความที่แล้ว (ใครกันบอกได้ อะไรจะถูกรีไซเคิล) เราจะเห็นได้ว่าปัญหาของขยะที่จัดการไม่ได้ ปัญหาที่ผู้บริโภคไม่สามารถแก้ปัญหากันเองได้คือเรื่องของวัสดุและการออกแบบสินค้าที่ไม่เอื้อกับการรีไซเคิลหรือการจัดการที่เหมาะสมอื่น ๆ แต่ผู้ผลิตสามารถช่วยได้มาก
ตัวอย่างเช่น ลดแพ็คเกจจิ้งที่ไม่จำเป็น เปลี่ยนวัสดุของผลิตภัณฑ์นั้นจาก Composite material (มีหลายวัสดุมาประกอบกัน) มาเป็นแบบ mono-material ที่รีไซเคิลได้ หรือเปลี่ยนเป็นวัสดุที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางอย่างแท้จริง
ส่วนข้อสอง
อาจเป็นการตั้งระบบที่จัดการขยะผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งควรเป็นระบบที่มีภาครัฐให้การสนับสนุน เพราะจากที่ผ่านมา เรามีโครงการบริจาคขยะ โครงการรับขยะประเภทเฉพาะต่าง ๆ แต่พบว่าการเข้าร่วมมีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้ไม่เกิดผลในวงกว้างอย่างที่ควร เช่น การที่จุดรับแต่ละจุดไม่ได้สะดวกกับทุกคน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือเรื่องของวัฒนธรรม กล่าวคือ ประเทศไทย เป็นประเทศที่คนเก็บขยะ ซาเล้ง หรือผู้รับซื้อขยะมีส่วนสำคัญในการตัดสินว่าขยะชิ้นนั้นจะถูกรีไซเคิลหรือไม่ คนทั่วไปก็คุ้นชินกับการรับซื้อหรือเก็บขยะหน้าบ้านมากกว่าการแยกไว้แล้วเดินทางไปส่งขยะที่อื่น ๆ รวมถึงการไม่ร่วมมือกันกับระบบกลาง ทำให้ขยะที่ต้องส่งโครงการต่าง ๆ เป็นขยะที่ขายไม่ได้ราคาอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง
"ตัวอย่างของ EPR ที่เกิดขึ้นแล้ว"
1. 100% Recyclable: ตัวสินค้าสามารถนำไปรีไซเคิลได้จริง จากทั้งตัววัสดุเองและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น กระป๋องอะลูมิเนียมหรือโลหะต่าง ๆ พลาสติกหนา ๆ ประเภท PP หรือ HDPE
2. Reduced Packaging: การลดแพ็คเกจจิ้งที่ไม่จำเป็นไป เช่น เครื่องสำอางหรือสกินแคร์หลายแบรนด์ที่เมื่อก่อนจะต้องใส่กล่องหุ้มด้วยพลาสติกอีกชั้น ก็เปลี่ยนเป็นตัวขวดหรือหลอดโดยป้องกันการปนเปื้อนด้วยซีลอะลูมิเนียมฟอยล์
3. Responsibly Produced: ผลิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบ เช่น ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ผลิตสินค้าให้มีอายุการใช้งานยาวนาน ลดการปล่อยของเสียหรือมีขยะจากการผลิตเกินความจำเป็น ไม่ผลิตมากเกินไป (Mass production)
4. Take-back program: พบมากในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางแบรนด์ที่รับสินค้าของตัวเองกลับไปจัดการ โดยให้ส่วนลดสำหรับซื้อสินค้าชิ้นใหม่
"ประเทศพัฒนาแล้วก็ยังมีปัญหาขยะ แต่อยู่ในรูปของขยะที่ที่ส่งออกมาบ้านเรา"
อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีกรณีที่เราเห็นชัดจากการเน้นข้อสอง คือการที่ประเทศเหล่านั้นสามารถเก็บรวบรวมขยะได้ถูกต้องมากขึ้น แต่เนื่องจากค่าบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนสูง ทำให้เกิดเรื่องของการส่งออกขยะไปยังประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นผู้กำจัด (และผู้รับผลกระทบ) แทน
"ไม่ใช่แค่ CSR แต่เป็น CSV"
การทำ EPR โดยเกิดจากภาคเอกชนเอง อาจจะนับว่าเป็น CSV (Creating Shared Value) อย่างหนึ่งได้ เพราะเป็นการที่มองผลประโยชน์ของสังคม โดยยึดจากตัวธุรกิจและความเชี่ยวชาญขององค์กรเพื่อเพิ่มกระทบทางบวกให้กับสังคมโลก และยังเป็นในแนวทางของการประกอบธุรกิจที่แสวงหาการเติบโตได้อีกด้วย
"EPR เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือ"
จริงๆแล้วเพื่อนๆจะเห็นว่าการใช้ EPR เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน โดยเฉพาะจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกัน การสร้างเป็นนโยบาย บทบังคับขึ้นมา เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น
ส่วนผู้บริโภค ก็ต้องเข้าใจว่านอกจากจะมีความรับผิดชอบในการผลิตของผู้ผลิตแล้ว ยังมีความรับผิดชอบของผู้บริโภคอีกด้วย เราต้องช่วยกันในทุกภาคส่วน โดยอาจจะใช้ Good Life Goal ข้อที่ 12: ใช้ให้คุ้มค่า (ตรงกับ SDG 12: Responsible Consumption and Production) เป็นแนวทางง่าย ๆ
1 เรียนรู้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2 ลดการเกิดขยะด้วยการใช้ซ้ำ ซ่อมแซม แบ่งปันกันใช้ หรือนำไปรีไซเคิล
3 กินอาหารให้หมด สั่งแต่พอดี หรือแบ่งเก็บไว้กินในมื้ออื่น
4 สะสมมิตรภาพและประสบการณ์ ไม่ใช่ให้แค่สิ่งของ
5 เรียกร้องให้องค์กรธุรกิจให้นึกถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
อ่านเพิ่มเกี่ยวกับ Good Life Goals ได้ที่ Good Life Goals: เป้าหมายที่ดีต่อตัวเองและโลกใบนี้
#AsGreenAsYouCan
#littlebiggreen
ติดตาม little big green ในช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
โฆษณา