23 เม.ย. 2021 เวลา 06:47 • ประวัติศาสตร์
Rolex ใส่ถ่านมีแต่ของปลอมหรือไม่
นาฬิกาหรูในปัจจุบัน มักจะเป็นนาฬิกากลไก โดยเฉพาะ Rolex ในปัจจุบัน เป็นที่รู้กันว่า ทุกรุ่นเป็นกลไกอัตโนมัติ ไม่มีนาฬิกาใส่ถ่านระบบควอทซ์ แต่ในอดีต Rolex เคยทำนาฬิการะบบควอทซ์หรือไม่
Rolex เป็นแบรนด์นาฬิกาหรูที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดในปัจจุบัน ทั้งยอดขาย คุณภาพ วัสดุ ความเที่ยงตรง กลไก ทุกอย่างล้วนแต่เป็นที่ยอมรับ และโดดเด่นในเอกลักษณ์และรูปแบบเป็นอย่างมาก
ในปัจจุบัน นาฬิกาทุกรุ่นของ Rolex เป็นนาฬิกากลไกอัตโนมัติ ไม่มีนาฬิกาควอทซ์ใส่ถ่าน หรือนาฬิกาไขลาน ดังนั้น หากมีใครเห็นนาฬิกาที่หน้าปัดแปะคำว่า Rolex แล้วเข็มวิเดินทีละ 1 วินาที ไม่ได้เดินเรียบๆเนียนๆแบบนาฬิกากลไกแล้วละก็ สรุปง่ายๆสั้นๆเลยว่า Rolex ปลอม !!!
แต่ในอดีตนั้น ในช่วงเวลาหนึ่ง Rolex เคยทำนาฬิการะบบควอทซ์ใส่ถ่านด้วย เนื่องจากนาฬิกากินถ่าน ระบบควอทซ์จัดว่าเป็น นวัตกรรมใหม่ในช่วงปลายทศวรรษ1970s ที่เข้าปฏิวัติวงการนาฬิการะดับโลกเลย ในช่วงนั้น ทุกแบรนด์ต่างพยายามพัฒนากลไกนาฬิกาแบบควอทซ์ออกมาวางขายทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ Rolex แบรนด์นาฬิกาสวิสชั้นนำ
ในช่วงเริ่มแรก หลายๆแบรนด์นาฬิกาสวิสจับมือร่วมกันพัฒนากลไกควอทซ์ ในชื่อ Beta 21 ซึ่งมีการนำกลไกควอทซ์นี้ใส่ในนาฬิกาหลากหลายแบรนด์ จะขอยกตัวอย่างนาฬิการุ่นดังที่เป็นที่กล่าวถึงจนถึงปัจจุบัน ที่เป็นรุ่นบุกเบิกของนาฬิกาสวิสควอทซ์ให้ชมกัน
1. Omega Electroquatz : รุ่นนี้น่าจะนับว่าเป็นนาฬิกาสวิสควอทซ์รุ่นแรก ที่ใช้กลไก Beta 21 โดย Omega ผลิตมาประมาณ 10,000 เรือน ในช่วงปี 1970-1977 ราคาอยู่ในช่วง $3,000-$10,000
Omega Electroquartz นาฬิกาควอทซ์รุ่นแรกของนาฬิกาสวิส รูปจาก https://www.hodinkee.com/articles/the-beta-21
2. IWC Da Vinci : เปิดตัวมาในปี 1969 ด้วยรูปทรงหกเหลี่ยม ทำให้ IWC ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเคสที่จะใส่กลไก Beta 21 ลงไปในนาฬิกาทรงแปลกๆนี้ให้ได้ เมื่อเปิดตัวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และขายหมดในเวลารวดเร็ว
IWC Da Vinci ทรงหกเหลี่ยมอันเป็นเอกลักษณ์ รูปจาก https://www.hodinkee.com/articles/the-beta-21
3. Piaget 14101 : จะเห็นว่ากลไก Beta 21 นี้ ยังมีขนาดค่อนข้างหนาและใหญ่ ทำให้ต้องทำตัวเรือนที่มีขนาดใหญ่ตามไปด้วย Piaget ผลิตในช่วงปี 1970-1976 ก่อนที่จะพัฒนากลไก in-house ที่มีความบางลงกว่ามาก
Piaget 14104 ประดับด้วยเพชรกว่า 10 กะรัต ผลิตในปี 1971 รูปจาก https://www.hodinkee.com/articles/the-beta-21
Piaget 14104 with Tiger's eye dial ผลิตในปี 1970 รูปจาก https://www.hodinkee.com/articles/the-beta-21
4. Patek Philippe Reference 3587 : รุ่นนี้ผลิตมาจำกัดเพียงไม่กี่ร้อยเรือน ในช่วงปี 1969 ต่อมาในปี 1973 ได้พัฒนาเป็นรุ่น 3597 ที่ใช้กลไก Beta 22 โดยรุ่น 3587 ในภาพนี้มีทั้งรุ่นที่ทำจากทองคำขาว (white gold) และทองคำสีเหลือง (yellow gold) และมีเป็นทองชมพู (pink gold) บ้าง ซึ่งยังมีรุ่นย่อยไปอีก 3 รุ่นรูปแบบ ซึ่งทำออกมาในราคาสูงถึง $22,000
Patek Philippe 3587 Yellow gold with holed links รูปจาก https://www.hodinkee.com/articles/the-beta-21
แล้วก็มาถึง Rolex Ref.5100 ที่ทำออกมาจำนวนจำกัดเพียงประมาณ 1,000 เรือน และขายหมดไปอย่างรวดเร็ว แต่ละเรือนจะมีหมายเลขประจำตัวเรือน และถือเป็น Rolex รุ่นแรกที่ใส่กระจก sapphire crystal บนหน้าปัด จัดเป็นนาฬิกาที่ใช้กลไก Beta 21 ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ในปัจจุบันมีราคาประมูลอยู่ที่ $20,000-30,000
Rolex Ref.5100 รูปจาก https://www.hodinkee.com/articles/the-beta-21
ต่อมาอีกประมาณ 5 ปี ในปี 1977 หลังจากที่ประสบความสำเร็จจาก Ref.5100 ที่ใช้เครื่อง Beta 21 Rolex ก็ได้พัฒนากลไกของตัวเอง (in-house movement) คือรหัสเครื่องกลไก 5035 ใส่ในรุ่น Datejust และ 5055 ใส่ในรุ่น Day-Date
กลไก 5035 เครื่อง in-house Oysterquartz เครื่องแรก รูปจาก http://www.oysterquartz.net/the_5035_movement.htm
การพัฒนากลไก quartz ของ Rolex ในครั้งนี้ ก็พัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกอัตโนมัติ ทำให้มีโครงสร้างบางอย่างในกลไกคล้ายๆกัน ยกเว้นแต่ระบบอิเล็คโทรนิคส์และกลไกมอเตอร์ขับเคลื่อน กลไกส่วนอื่นๆล้วนคล้ายกับ Cal.3035 ที่เป็นกลไกฟันเฟืองที่เปิดตัวในปีเดียวกัน
Cal. 5035 นี้ มี 11 jewels เดินด้วยความถี่ 32,768 Hz โดยมีความเที่ยงตรงอย่างสูง โดยมีความคลาดเคลื่อนเพียง +/- 0.2 วินาทีต่อวัน แต่ Rolex ก็ไม่ได้มีประกาศอย่างเป็นทางการถึงความเที่ยงตรง แต่ก็มีหลายคนเชื่อว่า มีความเที่ยงตรงระดับความคลาดเคลื่อนเพียง 50 วินาทีต่อปี นี่ทำให้กลไกนี้เป็นกลไกที่มีความเที่ยงตรงที่สุดที่เคยผลิตขึ้นมาในระดับที่ทำผลิตจำนวนมาก
Rolex Oysterquartz Datejust Ref. 17000 ที่ใช้กลไก Cal. 5035 รูปจาก https://www.fratellowatches.com/rolex-oysterquartz-datejust-52mondayz-week-25/#gref
Rolex Oysterquartz Datejust ที่ใช้กลไก Cal.5035 ได้ทำออกมา 3 รุ่นคือ
Ref. 17000 เป็นรุ่น all steel
Ref. 17013 เป็นรุ่น steel กับ yellow gold
Ref. 17014 เป็นรุ่น steel กับ white gold
Rolex DayDate Oysterquartz ที่ใช้กลไกล Cal.5055 จะมีรุ่น Ref. 19018 เป็น yellow gold และ Ref. 19019 เป็น white gold
และมีรุ่นพิเศษที่ประดับด้วยเพชร และ เปลี่ยนลักษณะของ bezel และสาย
Rolex ได้ทำการผลิตและจำหน่ายนาฬิกากลไกควอทซ์ ในชื่อรุ่น Oysterquartz เป็นระยะเวลาประมาณ 25 ปี โดยมีการประมาณกันว่ามีการจำหน่ายออกมาน้อยกว่า 25,000 เรือน
โดย Rolex ได้ผลิต Oysterquartz จนถึงปี 2003 และได้หยุดทำการผลิตไปอย่างถาวร
มีเกร็ดเล็กน้อยว่า ทาง Rolex ได้มีการพัฒนา Cal. 5235 ที่เป็นกลไกที่ใช้ระบบจูนความถี่แบบดิจิตอลและใช้แบตเตอรี่แบบใหม่ และ Cal. 5335 ที่เป็นกลไก perpetual calendar แต่ไม่ได้มีการผลิตเพื่อวางจำหน่ายจริง โดยเคยพบว่ามีนาฬิกา Rolex Oysterquartz ที่ไม่มีเลข reference เข้ามาประมูล ใช้กลไก Cal. 5335 อยู่ภายใน
หากพบนาฬิกา Rolex ใส่ถ่าน กลไกควอทซ์ ที่มีการผลิต หรือจำหน่ายหลังปี 2003 แน่นอนเลยว่า ไม่ใช่นาฬิกา Rolex แท้...
โฆษณา