28 มี.ค. 2021 เวลา 07:59 • ศิลปะ & ออกแบบ
ภาพ โขนสดตรีเศียร นี้ ใช้เวลานาน (ตามเคย) กว่าจะเสร็จ ตั้งแต่ร่างสเก็ตช์ ต่อด้วยการขยายขึ้นดรออิ้งขาวดำ และจบที่ภาพสีน้ำมัน ถึงจะนานแต่ก็ทำด้วยความสนุกสนาน ไม่รู้สึกเบื่อ เพราะได้วาดสิ่งที่ชอบหลายอย่างลงในภาพ อาทิเช่นหัวโขนตรีเศียร ซึ่งสวยแปลกตา, การแสดงโขนสดแบบบ้านๆ, ซุ้มปืนอัดลมจุกน้ำปลาตามงานวัด, บรรยากาศโรงละครสัตว์และ Freak Shows, ของเล่น ตุ๊กตุ่นต่างๆ ฯลฯ
1
พญายักษ์ตรีเศียรเป็นน้องชายต่างมารดาของทศกัณฐ์ พอเติบใหญ่ก็แยกออกมาครองเมืองของตนเอง ในช่วงต้นเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อนางสำมนักขา น้องสาวคนสุดท้องของทศกัญฐ์สูญเสียสามี เธอก็ออกเดินทางท่องเที่ยวให้คลายความเศร้า บังเอิญไปเจอพระรามในอาศรมกลางป่า ก็ปิ๊งอย่างแรง พยายามไล่จีบก็ไม่สำเร็จ พาลหงุดหงิดไปตบตีนางสีดา พระรามกับพระลักษมณ์เลยทำร้ายนางเป็นการลงโทษและไล่ไป
นางสำมนักขาโกรธแค้นจึงไปฟ้องพี่ชาย 3 ตน อันมี ทูษณ์ ขร และ ตรีเศียร ยักษ์ทั้งสามทยอยกันยกทัพมาหวังฆ่าพระราม แต่ล้วนพ่ายแพ้ถูกพระรามสังหารตายหมด บทบาทของตรีเศียรก็จบลงง่ายๆ สั้นๆ แค่ตรงนี้ ส่วนนางสำมนักขายังไม่ยอมเข็ด ไปฟ้องพี่ใหญ่คือทศกัณฐ์ ใส่ความและยุยงอะไรต่างๆมากมาย จนทศกัณฐ์ทั้งโกรธทั้งเคลิ้ม ทำการลักตัวนางสีดา พาให้เกิดสงครามใหญ่โตยุ่งเหยิงตามมาภายหลัง
ที่สนใจวาดตรีเศียร ส่วนนึงคือหัวโขนที่งดงามถูกใจ อีกส่วนนึงคือในบทประพันธ์รามเกียรติ์สมัยรัชกาลที่ 1 เขียนถึงการจัดทัพของตรีเศียรว่า เหล่าทหารตั้งแต่ระดับขุนศึกลงไปถึงไพร่พล ล้วนประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตประหลาดๆ ผสมปนกันระหว่างยักษ์ ภูติผี อมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานหลากหลายชนิด เป็นกองทัพของเหล่าอสุรกายไฮบริดพิสดาร ซึ่งปกติไม่มีปรากฏในทัพของยักษ์เมืองอื่นๆ ดังเช่นคำกลอนที่แนบมานี้
ผมเลยจับตอนที่ตรีเศียรจัดทัพ ตรวจไพร่พลก่อนยกออกไปหาพระรามมาวาด เปลี่ยนพลทหารอสุรกายให้เป็นตุ๊กตาคิวพีหรือซอนนี่ แองเจิ้ล ส่วนนายทหารให้ดูกึ่งๆ คนดูแลซุ้มยิงปืนจุกน้ำปลาในงานวัด ตรีเศียรเองก็เปรียบดังตัวชูโรง หรือไม่ก็หัวหน้าคณะโขนสด​
อนึ่ง ชื่อโขนสด​ "ตรีเศียร​ ตระการศิลป์" บนป้ายห้อยด้านบน​ ผมดัดแปลงมาจากชื่อโขนสดคณะครู​ "พิชัย​ วิไลศิลป์​" ซึ่งเป็นโขนสดคณะแรกที่ได้ไปชมโดยบังเอิญ​ ในงานสงกรานต์วัดไร่ขิง​ เมื่อปี​ 2550 รู้สึกประทับใจในความอารีมีน้ำใจของชาวคณะ และบรรยากาศสนุกสนานเป็นกันเอง จับต้องได้ใกล้ชิดกับผู้ชมของการแสดงโขนสด​ จนอยากวาดออกมาเป็นภาพ​ คือจุดเริ่มแรกของภาพชุดโขนสดที่ทำต่อเนื่องเรื่อยมา
หากไม่ฟลุคไปเจอการแสดงวันนั้น ผมคงไม่มีอะไรให้เก็บมาต่อยอด มาถ่ายทอดเป็นภาพเขียนต่างๆนาๆ​ ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
โฆษณา