30 มี.ค. 2021 เวลา 02:35 • การเมือง
รัฐประหารพม่าและทิศทางความสัมพันธ์กับจีน
สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศพม่าดูเหมือนว่ากำลังดำเนินไปบนเส้นทางของประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง จากที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะเหนือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพพม่าในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
แต่ในวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา กองทัพพม่า นำโดย พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี เหตุการ์นี้ส่งผลให้ชาวพม่าเกิดความไม่พอใจ เนื่องจากการทำรัฐประหารนั้นขัดต่อแนวทางของประชาธิปไตย และทำให้ประเทศต้องถอยหลังกลับไปสู่ระบอบเผด็จการเหมือนในยุคของนายพลเนวิน ด้วยเหตุนี้ชาวพม่าทุกกลุ่มชาติพันธุ์จึงได้ออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่กลุ่มคณะรัฐประหารและทวงคืนประชาธิปไตย
การรัฐประหารในครั้งนี้ทำให้เกิดขบวนการทางการเมืองและสังคมต่าง ๆ ที่มีวิธีในการต่อต้านรัฐประหารที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเคาะหม้อหรือวัสดุต่างๆ การนัดหยุดงานของทุกสายอาชีพ เป็นต้น นอกจากนี้การรัฐประหารยังส่งผลในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพม่าและประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯที่มีต่อการรัฐประหารในพม่านั้นคงไม่เกินความคาดหมายของใครหลายคนนัก เพราะหลังจากที่กองทัพพม่าได้ทำการรัฐประหาร โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯก็ได้ประกาศคว่ำบาตรประเทศพม่า แต่จีนกลับมีท่าทีที่ต่างไปจากเดิม โดยปกติแล้วจีนมักทำหน้าที่ปกป้องพม่ามาโดยตลอด เช่นในกรณีการคุกคามชาวโรฮิงญา แต่ในการรัฐประหารของพม่าครั้งล่าสุดจีนกลับมีท่าทีไม่เห็นด้วย
ทั้งจีนและสหรัฐฯนั้นไม่ได้ต้องการประกาศคว่ำบาตรพม่าอย่างเต็มรูปแบบ เพราะเหตุผลด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯไม่ได้ประกาศคว่ำบาตรพม่าเต็มรูปแบบ แต่เน้นคว่ำบาตรคณะรัฐประหาร และธุรกิจที่อยู่ภายใต้การบริหารของกองทัพ เนื่องจากกลุ่มหัวก้าวหน้าในพรรคเดโมแครตเห็นว่าการคว่ำบาตรเต็มรูปแบบนั้นถือเป็นการลงโทษประชาชนมากกว่าคณะรัฐประหาร และการคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบต่อประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯที่เข้าไปลงทุนในพม่า เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย รวมถึงการคว่ำบาตรเต็มรูปแบบกับพม่าของสหรัฐฯ อาจทำให้พม่าหันไปพึ่งพาจีนมากขึ้น
4
ส่วนจีนนั้นไม่ประกาศคว่ำบาตรเต็มรูปแบบ เพราะมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ประกอบกับจีนนั้นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกับพม่า ทั้งกับรัฐบาลพลเรือนและกลุ่มชาติพันธุ์ ย้อนกลับไปในช่วงหลังยุคสงครามเย็น จีนถือเป็นประเทศสำคัญที่ให้การสนับสนุนพม่าในการจัดตั้งอุตสาหกรรม รวมถึงบริเวณชายแดนจีน-พม่าได้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีการค้าขายอย่างคึกคักในช่วงปีค.ศ. 1990-2000
1
แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของพม่า รัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดี เต็ง เส่ง พยายามที่จะดึงประเทศตะวันตกเข้ามาถ่วงดุลอำนาจกับจีนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัฐบาลพลเรือนของพม่าก็ยังคงดำเนินมาด้วยดีโดยตลอด ซึ่งเห็นได้จากการอนุมัติการลงทุนของจีนในพม่าจำนวนหลายโครงการในยุครัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี
จะเห็นได้ว่าในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พม่ามีการดำเนินนโยบายทางการทูตที่ค่อนข้างซับซ้อนและเท่าทันจีน แม้จะใช้นโยบายลู่ตามลมที่สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของจีนในเวทีระหว่างประเทศ แต่พม่าก็ยังคงเปิดให้ประเทศตะวันตกเข้ามาลงทุนทางธุรกิจ โดยมีนัยยะเพื่อคานอำนาจกับจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพพม่าได้ทำการรัฐประหารและเข้ามาปกครองประเทศ รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างจีนกับพม่าคงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง
ในมุมมองของจีนนั้นมองว่าประเทศตนอาจเจรจาด้านเศรษฐกิจกับรัฐบาลทหารได้ยากกว่ารัฐบาลพลเรือน เพราะรัฐบาลทหารนั้นค่อนข้างมีความเป็นชาตินิยมสูง และไม่ต้องการให้ประเทศมหาอำนาจใดเข้ามามีอิทธิพลในพม่ามากเกินไป แต่ถึงอย่างไรจีนก็ยังมีความพยายามที่จะสร้างสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารชุดล่าสุดนี้ ซึ่งอาจเป็นผลจากเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากการที่จีนพยายามคัดค้านคำแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารของพม่าที่ร่างขึ้นโดยสหราชอาณาจักร
ส่วนของพม่า พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารของพม่านั้นมองว่าจีนไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากจีนขายอาวุธให้กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำสงครามเรียกร้องเอกราชกับพม่า และกองทัพพม่าก็ได้หันไปซื้ออาวุธจากรัสเซียแทนจีน แต่รัฐบาลทหารนั้นก็ไม่ได้ต้องการตัดสัมพันธ์กับจีนเสียทีเดียว
โดยรัฐบาลได้แต่งตั้ง วุนนา หม่อง ลวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าการแต่งตั้งรัฐมนตรีคนใหม่นี้อาจเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีน เพราะวุนนา หม่อง ลวินนั้นเคยเดินทางไปเยือนจีนหลายครั้ง ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในยุครัฐบาลของเต็ง เส่ง และเป็นผู้อนุมัติโครงการระเบียงเศรษฐกิจของจีนที่พาดผ่านพม่า ดังนั้นการแต่งตั้งวุนนา หม่อง ลวิน ที่มีแนวคิดนิยมจีนจึงอาจช่วยส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและพม่านั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
เรื่อง: คณิตพรณ์ เถาทอง | Junior News Re-writer
3
#MODERNIST - The Magazine on Life.
ติดต่อโฆษณา ad@modernistthai.com
โฆษณา