30 มี.ค. 2021 เวลา 05:00 • การศึกษา
ความผิดฐานปล่อยปละละเลยให้สัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายเที่ยวไปโดยลำพัง (Fierce or Violent Animal)
3
เป็นความผิดอาญาลหุโทษที่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อร่างกาย ชีวิตหรือทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377
มาตรา 377 บัญญัติว่า “ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ความผิดอาญาฐานนี้มีคุณธรรมทางกฎหมาย คือ กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองให้พ้นจากภยันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน อันเป็นการคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมด้วย
ผู้กระทำความผิดอาญาฐานนี้เป็นบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องควบคุมสัตว์ดุ หรือสัตว์ร้าย ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าของสัตว์ดังกล่าว หรือเป็นผู้เลี้ยงสัตว์ประเภทจำพวกนี้อยู่แล้ว แต่ได้กระทำการตามที่กฎหมายกำหนด คือ ได้ปล่อยปละละเลยให้่สัตว์ที่ตนควบคุมดูแลออกไปโดยลำพังและมีพฤติการณ์ที่อาจทำให้เกิดอันตราแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นได่ จึงย่อมเป็นผู้กระทำความผิดฐานนี้
ความผิดอาญาฐานนี้ไม่ต้องมีเจตนาของผู้กระทำความผิด เนื่องจากบทบัญญัติได้กำหนดว่า “ปล่อยปละละเลย” ย่อมมีความหมายชัดเจนว่า ไม่มีเจตนา ประกอบกับบริบทแวดล้อมของบทบัญญัติกฎหมายนี้ไม่ได้สื่อถึงเจตนาของผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นผู้กระทำความผิดฐานนี้จะมีเจตนาหรือไม่ หรือประมาท ยังคงต้องรับโทษอยู่ดี
ความหมายของสัตว์ดุและสัตว์ร้ายในความผิดฐานนี้ไม่เหมิือนกัน กล่าวคือ สัตว์ร้ายเป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุร้ายตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้นและเป็นอันตรายน่ากลัวต่อผู้พบเห็น เช่น เสือ จระเข้ สิงโต ขณะที่สัตว์ดุเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของมาควบคุมเป็นพิเศษด้วยวิธีล่ามหรือขังไว้ แต่ไม่มีนิสัยดุร้ายตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้น เช่น สุนัข ช้าง เป็นต้น
1
ดังนั้นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 377 ต้องรับโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทว่า หากผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้กระทำโดยประมาทจนทำให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 แต่หากเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 แต่หากเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ (ไม่รุนแรงถึงขั้นรับอันตรายสาหัส) ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถป้องเหตุสัตว์ร้ายหรือสัตว์ดุที่จะมาทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้ด้วยการทำร้ายหรือฆ่าสัตว์ดังกล่าวได้ หากเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ย่อมสามารถอ้างเป็นการป้องกันได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 หรือเป็นเหตุจำเป็นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ก็ได้
ขณะเดียวกันพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 21 (6) กำหนดให้การฆ่าสัตว์ในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายมนุษย์ สัตว์อื่น หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ผู้เสียหายจากสัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายดังข้างต้นสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ควบคุมสัตว์ดังกล่าวหรือเจ้าของสัตว์นั้นได้ด้วยเหตุ ไม่ว่าตนจะจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ประกอบมาตรา 433 แต่ทว่า ผู้เสียหายอาจจะไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเหตุดังกล่าวก็ได้ หากพิสูจน์ได้ว่า ผู้ควบคุมสัตว์ดังกล่าวหรือเจ้าของสัตว์นั้นได้ระมัดระวังพอสมควรแก่การเลี้ยงตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อื่น ๆ หรือสามารถพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายนั้นต้องเกิดอย่างแน่นอนแม้ตนได้ระมัดระวังอย่างดีแล้วก็ตาม
1
โฆษณา