30 มี.ค. 2021 เวลา 13:28
เกาหลีฟีเวอร์! ถอดรหัส SOFT POWER อาวุธลับรัฐบาลเกาหลี
.
.
“เกาหลีฟีเวอร์”
“Korean Wave”
“K-Series”
“Kpop”
.
เชื่อว่าหลายๆ คนคงได้สัมผัสกับคำเหล่านี้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม หากย้อนไป 10 ปี เราอาจจะรู้จักประเทศเกาหลีผ่านซีรีส์เกาหลีชื่อดังอย่าง “แดจังกึม” หรือ “เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา” ถัดมาไม่กี่ปีเราก็ได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “เคป๊อป” และได้รู้จักคำว่า “ไอดอล” เป็นครั้งแรก หลายๆ คนได้เข้าสู่วงการเกาหลีเป็นครั้งแรกจากการเป็นแฟนคลับนักร้องสัญชาติเกาหลีวงต่างๆ ซึ่งถ้าหากพูดถึงสมัยนั้น ชื่อของดงบังชินกิ ซูเปอร์จูเนียร์ บิกแบงและเกิร์ลเจนเนอร์เรชั่น หรือแม้แต่เรนจะต้องผุดขึ้นมาอย่างแน่นอน
.
แต่ใครจะไปรู้ว่าในสมัยนั้น “วัฒนธรรมเกาหลี” จะสามารถแผ่ขยายไปยังทั่วโลกได้อย่างทุกวันนี้
.
ย้อนกลับไปหลังจากที่เกาหลีสามารถก้าวพ้นอำนาจภายใต้รัฐบาลทหาร เกาหลีใต้นั้นเป็นแค่ประเทศเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้กับมหาอำนาจใหญ่ๆ อย่างรัสเซีย จีน ญี่ปุ่นและอเมริกาที่มีอำนาจในทาง Hard Power ค่อนข้างมาก พร้อมกับในตอนนั้นอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีเริ่มที่จะมีอิสระมากขึ้นจากการล้มของรัฐบาลทหาร ทำให้ในช่วงนั้นวงการบันเทิงค่อนข้างที่จะมีความก้าวหน้าและการแข่งขันที่ดุเดือด ด้วยสิ่งนี้ทำให้รัฐบาลเกาหลีได้เล็งเห็นโอกาสและตั้ง Cultural Industry Bureau ขึ้นมาด้วยเป้าหมายแรกคือการขยายวัฒนธรรม Pop Culture ของเกาหลีไปทั่วโลก
.
หลังจากนั้นก็ได้ตั้ง Presidential Comittee of National Branding ในปี 2009 ด้วยจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นอย่างการ “ยกระดับสถานะและชื่อเสียงของประเทศในเวทีโลก” นอกจากนี้แล้วยังมีองค์กรที่ดูแลทางด้านการโปรโมตคอนเทนต์เกาหลีสู่นานาชาติโดยเฉพาะอย่าง Korea Creative Content Agency (KOCCA) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ องค์กรที่มีนโยบายและทำหน้าที่ในการเผยแพร่วัฒนธรรม ทำให้เราได้เห็นว่าประเทศเกาหลีนั้นได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการใช้ “Soft Power” ในการยกระดับประเทศทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม
.
“Soft Power” อย่าง Korean Wave ได้นำพาประเทศเกาหลีมาค่อนข้างไกล อาจจะด้วยความสามารถของตัวคอนเทนต์เอง ความสามารถของรัฐบาลในการสนับสนุนการส่งออก หรืออาจจะเป็นความโชคดีของเกาหลีที่สามารถหยิบจับจุดเด่นและพัฒนามาได้ถึงจุดนี้ เรียกว่าถ้าหากพูดถึงวัฒนธรรมของเกาหลีทางด้านอุตสาหกรรมเพลงและอุตสาหกรรมทีวี เราก็คงจะนึกถึงคำว่า “คุณภาพ” และ “ความโดดเด่น” ที่ทำให้เกาหลีนั้นกลายมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบันเทิงเหล่านี้
.
โดยทางรัฐบาลเกาหลีก็ได้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ผ่านการให้เงินทุนและเงินสนับสนุนในด้านต่างๆ เพื่อให้บริษัทสามารถผลิตคอนเทนต์ได้อย่างมีคุณภาพ เรามักจะเห็นซีรีส์หรือหนังที่ไม่ค่อยได้เห็นในประเทศไทย อย่างซีรีส์ทางด้านอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักข่าว ทนาย หรือหมอ หรือจะเป็นซีรีส์ทางด้านเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรม หรือการทำธุรกิจ อย่าง Startup หรือ Itaewon Class และถ้าหากพูดถึงเรื่องเพลง อุตสาหกรรมเพลงในเกาหลีก็ถือว่าไม่น้อยหน้าใคร เรามักจะเห็นเพลงประเภทใหม่ๆ และโปรดักชันที่มีความล้ำสมัย
.
ถือว่าเป็นความสำเร็จของเกาหลีเลยก็ว่าได้ในการขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมของตัวเองไปยังประเทศอื่น เริ่มต้นจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนในตอนนี้สามารถที่จะเจาะกลุ่มผู้คนได้ในหลายประเทศทั่วโลก ศิลปิน ภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในประเทศทางตะวันตกหากเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน อย่าง Blackpink หรือหนังเรื่อง Parasite ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างมากในทางแถบประเทศเหล่านั้น ทำให้เราเห็นว่ากระแสวัฒนธรรมเกาหลีค่อยๆ ที่จะแทรกซึมในวงกว้างมากขึ้น
.
ถือว่าเป็นความโชคดีของเกาหลีที่ได้โอกาสของการเข้าสู่โลกาภิวัตน์ ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีต่างๆ สามารถเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมหาศาลและด้วยคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ทำให้กระแสวัฒนธรรมเกาหลีจึงเป็นที่น่าดึงดูดและโดดเด่นในหมู่ประเทศอื่นๆ
.
การคว้าโอกาสของเกาหลีในการผลักดัน Soft Power ถือว่าเป็นการเดินเกมที่ค่อนข้างชาญฉลาด จากประเทศที่ผ่านสงครามกลายมาเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมบันเทิงอันดับต้นๆ ของโลก ถือว่าเป้าหมายในการ “ยกระดับสถานะและชื่อเสียงของประเทศในเวทีโลก” นั้นค่อนข้างสำเร็จและเห็นผลได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว
.
.
อ้างอิง:
2
โฆษณา