Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เสียบสามเหลี่ยม
•
ติดตาม
31 มี.ค. 2021 เวลา 05:08 • กีฬา
หลายคนรู้ว่าโครเอเชีย คือหนึ่งในทีมชาติที่มาตรฐานสูงที่สุดของยุโรปในช่วงหลายปีหลัง
พวกเขาคือรองแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด, ผ่านเข้ารอบสุดท้ายยูโรได้ 5 สมัยติดต่อกัน แถมยังมีนักเตะที่เคยคว้ารางวัล บัลลง ดอร์ อย่าง ลูก้า โมดริช เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ
แต่ย้อนไปในช่วงต้นยุค 90 ทีมชาติโครเอเชียยังไม่เคยเข้าร่วมฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่มาก่อนเลยสักครั้ง เนื่องจากประเทศเพิ่งประกาศเอกราชจากการเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวียในปี 1991
2
โครเอเชียลงทะเบียนเป็นสมาชิกของยูฟ่ายังไม่ถึง 30 ปีเลยด้วยซ้ำ เพราะกว่าจะได้รับอนุมัติจากยูฟ่าให้เป็นชาติสมาชิกอย่างเป็นทางการ ก็ต้องรอจนถึงเดือนมิถุนายน 1993 ซึ่งถือว่าไม่ทันการณ์สำหรับการส่งทีมเข้าแข่งฟุตบอลโลก 1994 รอบคัดเลือก
กว่าที่ทีมตาหมากรุกจะได้เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลรายการระดับเมเจอร์เป็นครั้งแรก ก็ต้องรอจนถึงศึกคัดบอลยูโร 1996 เริ่มต้นขึ้น ซึ่งต้องรอให้ฟุตบอลโลก 1994 สิ้นสุดลงก่อนเลยทีเดียว
สำหรับทีมชาติที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างทีมขึ้นมาใหม่ มันย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว
2
ยิ่งไม่ต้องถามถึงเลยว่าการลุ้นเข้ารอบลึกๆ ในรายการใหญ่ๆ มันจะเป็นเรื่องยากมากขนาดไหน
แต่ช่วงปลายยุค 90 โครเอเชียสร้างชื่อให้แฟนบอลทั่วโลกจดจำอย่างรวดเร็ว ด้วยการผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายยูโร 1996 ต่อด้วยคว้าอันดับ 3 ฟุตบอลโลกฟร้องซ์ 98
1
หากคุณไปถามแฟนบอลที่เกิดทันดูบอลช่วงนั้น ว่าซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของทีมตาหมากรุก ณ ตอนนั้นคือใคร คำตอบจะไม่มีทางเป็นอื่น นอกไปจากสุดยอดดาวยิงที่ชื่อว่า ดาวอร์ ซูเคอร์
ดาวอร์ ซูเคอร์ คือดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของทีมชาติโครเอเชีย เมื่อซัดไปถึง 45 ประตูจากการรับใช้ชาติ 69 นัด เหนือกว่าอันดับ 2 อย่าง มาริโอ มานด์ซูคิช ที่ทำได้ 33 ลูกจากการลงเล่น 89 เกม
ปัจจุบัน ซูเคอร์ ยังดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฟุตบอลของโครเอเชีย นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนหรือหลังแขวนสตั๊ด เขาก็คือบุคคลที่สำคัญมากสำหรับวงการฟุตบอลของชาติเล็กๆ ที่มีประชากรแค่ราวๆ 4 ล้านคน
1
ก่อนที่จะกลายเป็นตำนานของวงการลูกหนังของโครเอเชีย ดาวอร์ ซูเคอร์ เคยเป็นนักเตะทีมชาติยูโกสลาเวียมาก่อน เพราะก่อนจะเข้าสู่ยุค 90 โครเอเชียยังไม่ได้แยกประเทศออกมา
ซูเคอร์ ลืมตาดูโลกเมื่อวันขึ้นปีใหม่ของปี 1968 ที่เมืองโอซิเย็ค ซึ่งปัจจุบันอยู่ในดินแดนของโครเอเชีย
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตอนที่ ยูโกสลาเวีย กับ โครเอเชีย แยกประเทศออกจากกันในปี 1991 เขาถึงเลือกเล่นให้ทีมชาติโครเอเชียซึ่งเป็นประเทศที่เกิดขึ้นทีหลัง ร่วมกับแข้งพรสวรรค์สูงที่เคยเล่นให้ทีมชาติยูโกสลาเวียชุดเยาวชนร่วมกันอย่าง ซโวนิเมียร์ โบบัน, โรเบิร์ต โปรซิเนชกี้ และ โรเบิร์ต ยาร์นี่
ซูเคอร์ เคยเล่าให้ฟังตอนที่ไปให้สัมภาษณ์กับสื่อกีฬาของอิสราเอลเมื่อปี 2016 ว่าทำไมเขาถึงเลือกเล่นตำแหน่งกองหน้า
ซึ่งเหตุผลมันง่ายมาก เพราะนั่นคือตำแหน่งที่คุณมีโอกาสเฉิดฉายมากที่สุดในสนามนั่นเอง
“ตอนที่ผมยังเด็ก ผมได้ดูทีวีแค่ 2 ช่องเท่านั้น ซึ่งมันมีฟุตบอลให้ดูน้อยมาก”
“ในวันนี้คุณมีเพลย์สเตชั่น, ไอโฟน และเข้าถึงเรื่องราวกีฬาได้ทั้งหมดจากอุปกรณ์ในกระเป๋ากางเกงของคุณ แต่ตอนนั้นมันเต็มไปด้วยคนที่ขอแค่ได้รอดูรายการอย่าง ยูโรเปี้ยน คัพ ซึ่งปัจจุบันคือ แชมเปี้ยนส์ ลีก หรือไม่ก็ คัพ วินเนอร์ส คัพ ซึ่งปัจจุบันคือ ยูโรปา ลีก เท่านั้น”
“ผมสนุกกับการได้ดูนักเตะจากทั่วโลกมาเล่นในรายการนี้อย่าง คาร์ล ไฮน์ซ รุมเมนิกเก้ ตามด้วย มาราโดน่า ในเวลาต่อมา ซึ่งการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในตอนนั้น มันคือการแข่งขันของทีมที่มีนักเตะเก่งๆ ในตำแหน่งหมายเลข 9 หรืออาจจะเป็นตำแหน่งหมายเลข 10”
2
“สำหรับผม ผู้เล่นตำแหน่งหมายเลข 9 มันคือตัวแทนของความสำเร็จ ในเวลานั้นทีมอย่าง เรอัล มาดริด, บาเยิร์น มิวนิค, ลิเวอร์พูล และยูเวนตุส แข็งแกร่งด้วยผู้เล่นเหล่านี้”
ในช่วงต้นยุค 80 ซึ่งเป็นช่วงที่ ซูเคอร์ กำลังเข้าสู่วัยรุ่น นักเตะที่โดดเด่นมากๆ จนคว้ารางวัล บัลลง ดอร์ มักเป็นผู้เล่นดาวยิง
คาร์ล-ไฮน์ซ รุมเมนิกเก้ ได้รางวัล บัลลง ดอร์ 2 ปีซ้อนในปี 1980 และ 1981 ตามด้วย เปาโล รอสซี่ ที่พาอิตาลีคว้าแชมป์บอลโลก 1982
ขณะที่ เอียน รัช ของลิเวอร์พูล ที่แม้ไม่เคยคว้ารางวัล บัลลง ดอร์ แต่เขาก็เป็นตัวชูโรงของหงส์แดงชุดคว้าแชมป์ลีกและแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ ในปี 1984 ที่เขาคือนักเตะที่ทำประตูได้มากที่สุดของยุโรป
สิ่งนี้มีอิทธิพลสำคัญ ที่ทำให้ในปี 1984 ซึ่งเป็นปีแรกที่ ดาวอร์ ซูเคอร์ เริ่มต้นเส้นทางสู่การเป็นนักเตะอาชีพ เขาชัดเจนว่าจะเอาดีกับการเป็นกองหน้า ตอนที่เข้าร่วมทีมเยาวชนของสโมสรในเมืองที่เขาเกิดอย่าง เอ็นเค โอซิเย็ค ด้วยวัย 16 ปี
ซูเคอร์ โชว์พรสวรรค์ที่ส่งสัญญาณว่าเขาจะเติบโตมาเป็นสุดยอดดาวถล่มประตูตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น
หลังจากขึ้นทีมชุดใหญ่ของ เอ็นเค โอซิเย็ค ในฤดูกาล 1985-86 และค้าแข้งที่นั่นจนถึงปี 1989 เขาซัดให้สโมสรไปถึง 40 ประตูจากการลงสนาม 91 นัด ซึ่งถือเป็นสถิติที่ไม่ธรรมดา สำหรับนักเตะที่อายุยังไม่เกิน 21 ปี
เท่านั้นไม่พอ ในศึกฟุตบอลเยาวชนโลกเมื่อปี 1987 ดาวอร์ ซูเคอร์ ในวัย 19 ปีสร้างชื่อโดดเด่นด้วยการเป็นรองดาวซัลโวของทัวร์นาเมนต์จากผลงานซัดไปถึง 5 ประตู ทำให้ทีมชาติยูโกสลาเวียชุดเล็กคว้าแชมป์โลกมาครอง
ในปี 1989 ซูเคอร์ ที่ถูกพูดถึงไปทั่วในฐานะศูนย์หน้าดาวรุ่งที่น่าจับตามอง ได้ย้ายไปซบสโมสรยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่าง ดินาโม ซาเกร็บ
ที่นั่น เขาพัฒนาผลงานการทำประตูให้พุ่งขึ้นไปอีก ด้วยการยิงไปถึง 34 ประตูจากการลงสนามให้ดินาโมในลีกสูงสุดยูโกสลาเวีย ทั้งหมด 60 นัด ในช่วงเวลา 2 ฤดูกาล
แต่จากเหตุการณ์แยกประเทศของโครเอเชียออกจากยูโกสลาเวียในปี 1991 ทำให้ฟุตบอลลีกสูงสุดเจอผลกระทบตามไปด้วย เพราะสโมสรจาก 2 ดินแดนที่เพิ่งเกิดสงครามไม่สามารถลงแข่งในลีกเดียวกันได้
โครเอเชียซึ่งแยกไปก่อตั้งประเทศใหม่ทีหลัง ต้องว่างเว้นการจัดแข่งฟุตบอลในประเทศไปนาน 1 ปี และก่อตั้งฟุตบอลลีกขึ้นใหม่ในปี 1992
แน่นอนว่า ดาวอร์ ซูเคอร์ ที่ฟอร์มกำลังพุ่งไม่สามารถหยุดเตะฟุตบอลไปเฉยๆ นานเป็นปีได้ เขาจึงเลือกย้ายไปเล่นที่ต่างแดนกับ เซบีย่า ที่สเปนในปี 1991
การย้ายไปเล่นที่ เซบีย่า นี้เอง ที่ทำให้ ซูเคอร์ มีโอกาสได้ร่วมทีมกับหนึ่งในตำนานนักเตะที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลกอย่าง ดีเอโก้ มาราโดน่า ที่เซ็นสัญญาย้ายมาร่วมทีมในปี 1992
ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่ฤดูกาลเดียวในซีซั่น 1992-93 แต่การได้ร่วมงานกับ มาราโดน่า มันคือจุดเปลี่ยนที่ยกระดับฝีเท้าของซูเคอร์ ให้กลายเป็นศูนย์หน้าเบอร์ต้นๆ ของยุโรป
เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ ด้วยการพูดถึงตำนานแดนฟ้าขาวผู้ล่วงลับเอาไว้ว่า “ผมสนุกกับการเล่นร่วมกับ ดีเอโก้ มาราโดน่า มากกว่าคนอื่นๆ”
“ในปี 1992 เขาเซ็นสัญญากับเซบีย่า และตอนที่เพิ่งเริ่มมีข่าวลือว่าเขาจะย้ายมาเล่นกับพวกเรา ผมไม่อยากจะเชื่อ”
“ผมบอกกับทุกคนว่า ต้องให้ผมเจอเขาตัวเป็นๆ หรือเห็นเขากินข้าวร่วมกับพวกเรา หรือวอร์มอัพพร้อมพวกเราก่อนเท่านั้น ผมถึงจะเชื่อว่าเขามาอยู่กับเราจริงๆ”
“ตอนที่ผมยังเด็ก ผมได้ดูมาราโดน่าผ่านทางทีวี แต่จู่ๆ ผมก็ได้กินอาหารเช้า, ลงซ้อม และใช้ห้องแต่งตัวร่วมกับเขา มันมหัศจรรย์มาก”
“ผมหวังว่าเขาจะแนะนำอะไรบางอย่างให้ผม จนกระทั่งวันหนึ่งเขาโทรมาหาผม แล้วบอกว่า “ก่อนอื่นเลยนะ ฉันไม่อยากให้แกเอาแต่มองทีมหรืออะไรทั้งสิ้น จงก้มหน้าก้มตาวิ่งเข้าใส่ประตูของฝั่งตรงข้ามเข้าไว้ และฉันจะส่งบอลให้แกเอง แกพร้อมที่จะยัดมันเข้าสู่ก้นตาข่ายหรือเปล่าล่ะ?” ”
“มันมีนักเตะแค่ไม่กี่คนในโลกหรอก ที่สามารถพูดแบบนั้นได้ แต่มาราโดน่าคือหนึ่งในนั้น”
“ถ้าคุณดูประตูที่ผมทำได้ที่เซบีย่า มันมักจะมาจากเขา นั่นคือสิ่งที่จะติดตัวผมตลอดไป”
1
การได้เล่นร่วมกับนักเตะอย่าง มาราโดน่า ทำให้ ซูเคอร์ ซัดประตูใน ลา ลีกา ซีซั่น 1992-93 ได้ถึง 13 ประตู ทั้งที่ฤดูกาลแรกของเขาที่สเปน ตอนที่ “เสือเตี้ย” ยังไม่ได้ย้ายมาร่วมทีม เจ้าตัวยิงไปแค่ 6 ลูกในลีกเท่านั้น
ถึงแม้ มาราโดน่า จะย้ายออกจาก เซบีย่า ไปในช่วงซัมเมอร์ปี 1993 แต่คำแนะนำของตำนานทีมชาติอาร์เจนตินา ได้พัฒนาสัญชาตญาณดาวยิงของหัวหอกทีมตาหมากรุกให้เคลื่อนที่เข้าหาประตูเร็วขึ้น
ดาวอร์ ซูเคอร์ ซัดไปถึง 24 ประตูใน ลา ลีกา ฤดูกาล 1993-94 เป็นรองแค่ดาวซัลโวของลีกอย่าง โรมาริโอ ที่ซัดให้ บาร์เซโลน่า ได้ 30 ลูกคนเดียวเท่านั้น
ช่วงระหว่างซีซั่น 1993-94 จนถึง 1995-96 ตำนานทีมชาติโครเอเชียสามารถยิงให้ เซบีย่า รวมทุกรายการไม่เคยน้อยกว่าฤดูกาลละ 20 ประตู
แถมผลงานกับทีมชาติในช่วงนั้นก็ไม่ธรรมดา เขาคือดาวซัลโวของศึกยูโร 1996 รอบคัดเลือก ด้วยการซัดไปถึง 12 ลูกจาก 10 เกม ก่อนจะยิงได้อีก 3 ลูกในรอบสุดท้าย ช่วยให้โครเอเชียผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีม
ซึ่งในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพปีนั้น มีเพียงแค่ดาวซัลโวอย่าง อลัน เชียเรอร์ ที่ซัดได้ 5 ประตูคนเดียวที่ยิงได้มากกว่า
ถึงตรงนี้ต้องบอกว่า ดาวอร์ ซูเคอร์ กลายเป็นหัวหอกตัวท็อปของยุโรปอย่างเต็มตัวแล้ว และนั่นทำให้ทีมยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่าง เรอัล มาดริด ให้ความสนใจ
ความล้มเหลวของทีมราชันชุดขาวในฤดูกาล 1995-96 ที่ได้แค่อันดับ 6 ใน ลา ลีกา และพลาดแชมป์ทุกรายการอย่างรวดเร็ว ทำให้ในช่วงซัมเมอร์ปี 1996 พวกเขาลงทุนเสริมทัพแบบบ้าคลั่ง
พวกเขาเซ็นสัญญาคว้าตัว คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ, โรแบร์โต้ คาร์ลอส และ โบโด อิล์กเนอร์ ไปเสริมแกร่ง ด้วยเม็ดเงินรวมกันเป็นมูลค่าเกือบๆ 10 ล้านยูโร
แต่ว่าการซื้อตัวเข้าสู่ถิ่น ซานติอาโก้ เบร์นาเบว ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงซัมเมอร์ปีนั้นคือการกระชากอดีตคู่กองหน้าทีมชาติยูโกสลาเวียชุดแชมป์เยาวชนโลกปี 1987 อย่าง เปรแดร็ก มิยาโตวิช กับ ดาวอร์ ซูเคอร์ ไปเล่นร่วมกัน
ดาวอร์ ซูเคอร์ และ เปรแดร็ก มิยาโตวิช
มิยาโตวิช ยังคงเป็นหัวหอกตัวชูโรงของยูโกสลาเวีย ขณะที่ ซูเคอร์ ก็เป็นดาวยิงซูเปอร์สตาร์ของทีมชาติโครเอเชียที่แยกประเทศออกมา
เมื่อบวกกับพัฒนาแบบก้าวกระโดดของดาวรุ่งอย่าง ราอูล กอนซาเลซ นั่นทำให้ เรอัล มาดริด มีแนวรุกที่น่ากลัวมากๆ ในซีซั่น 1996-97 ภายใต้ระบบ 4-3-1-2 โดย ราอูล ยืนหน้าต่ำอยู่ด้านหลังคู่หัวหอกตัวใหม่อย่าง มิยาโตวิช กับ ซูเคอร์
ฤดูกาลแรกของ ซูเคอร์ กับทีมราชันชุดขาว ถือเป็นฤดูกาลที่เขาทำผลงานระดับสโมสรได้ดีที่สุดในอาชีพค้าแข้ง
สตาร์เด่นชาวโครแอตเป็นดาวซัลโวสูงสุดของทีม จากการยิงไป 29 ประตูนับรวมทุกรายการ โดย 24 ลูกในจำนวนนั้นเกิดขึ้นใน ลา ลีกา ช่วยให้ เรอัล มาดริด กลับมาคว้าแชมป์ลีกได้ทันที หลังผ่านฤดูกาลที่ล้มเหลวแค่เพียงปีเดียว
ฤดูกาล 1996-97 ที่เล่นกับ เรอัล มาดริด คือซีซั่นที่ดีที่สุดของซูเคอร์กับสโมสร
หลังจากนั้นในฤดูกาล 1997-98 ซูเคอร์ เป็นส่วนหนึ่งของทีมชุดคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่มี จุ๊ปป์ ไฮย์เกส เป็นกุนซือ ทำให้เขาใช้เวลาแค่ 2 ปี ได้ทั้งแชมป์ลีกและแชมป์ยุโรปกับทีมกาลาคติกอส
แต่สถิติการทำประตูของเขาในฤดูกาลที่ 2 ในถิ่น ซานติอาโก้ เบร์นาเบว กลับลดลงเหลือเพียง 15 ลูกรวมทุกถ้วย จากการที่เริ่มกลายเป็นตัวสำรอง หลังจากที่ เรอัล มาดริด ซื้อ เฟร์นานโด มอริเอนเตส มาจาก เรอัล ซาราโกซ่า เพื่อเสริมกองหน้าอีกรายตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์ปี 1997
ฟอร์มที่ดีของ มอริเอนเตส และ ราอูล กอนซาเลซ บวกกับการเข้ามาของตัวรุกชาวบราซิเลียนอีกคนอย่าง ซาวิโอ ในช่วงซัมเมอร์ปี 1998 โดยที่ มิยาโตวิช ยังอยู่กับทีม ทำให้ความสำคัญของ ซูเคอร์ ในถิ่นเบร์นาเบวลดน้อยลงเรื่อยๆ
สุดท้ายในปี 1999 ดาวอร์ ซูเคอร์ ในวัย 31 ปีจึงต้องย้ายไปเล่นในอังกฤษกับ อาร์เซน่อล ด้วยค่าตัวเพียง 3.5 ล้านปอนด์ และก็ไม่สามารถโชว์ฟอร์มในพรีเมียร์ลีกได้เปรี้ยงปร้างมากนัก จึงโดนปล่อยตัวให้ เวสต์แฮม แบบฟรีๆ ในช่วงซัมเมอร์ปี 2000
ซูเคอร์ สมัยที่เคยเล่นให้อาร์เซน่อลเป็นช่วงสั้นๆ
หลังจากไปเล่นกับขุนค้อน เขาก็ยังเรียกฟอร์มสมัยพีคๆ กลับมาไม่สำเร็จเช่นเดิม สาเหตุหลักเป็นเพราะมีอาการบาดเจ็บรบกวนต่อเนื่อง สุดท้ายในปี 2001 เขาก็ย้ายทีมแบบไม่มีค่าตัวอีกครั้ง โดยไปซบ 1860 มิวนิค ที่ตอนนั้นยังเล่นอยู่ในบุนเดสลีกา
แต่ด้วยปัญหาบาดเจ็บที่ยังเรื้อรัง บวกกับอายุอานามที่มากแล้วตอนที่ไปค้าแข้งที่เยอรมนี ทำให้เขายิงให้ 1860 มิวนิค ในเกมลีกได้แค่ 5 ประตูจากการลงสนาม 25 นัด ก่อนประกาศแขวนสตั๊ดไปในปี 2003 ด้วยวัย 35 ปี
ถึงแม้ว่าเส้นทางการเล่นระดับสโมสรของ ดาวอร์ ซูเคอร์ จะตกลงอย่างฮวบฮาบตั้งแต่เขาอายุขึ้นเลขสาม แต่ถ้าถามว่าแฟนบอลจดจำผลงานของเขาในช่วงไหนได้ดีที่สุด แน่นอนว่าต้องเป็นผลงานกับทีมชาติในศึก เวิลด์ คัพ ฟร้องซ์ 98
ทุกคนจำได้ดีว่ามันคือรายการที่ซูเคอร์คว้าดาวซัลโว และพาโครเอเชียที่เพิ่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายบอลโลกได้เป็นครั้งแรก คว้าอันดับ 3 ไปครองแบบน่าประทับใจ
ซูเคอร์ ทำได้ถึง 6 ประตูในทัวร์นาเมนต์ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ซึ่งนอกจากเกมรอบแบ่งกลุ่มที่แพ้ อาร์เจนตินา 1-0 แล้ว อีก 6 เกมที่เหลือเขามีชื่อบนสกอร์บอร์ดทุกนัด ไม่ว่าจะพบกับ จาเมกา, ญี่ปุ่น, โรมาเนีย, เยอรมนี, ฝรั่งเศส และ เนเธอร์แลนด์
1
เขาเกือบพาโครเอเชียโค่นเจ้าภาพอย่างทีมตราไก่ในรอบรองชนะเลิศได้ด้วยซ้ำ เมื่อวิ่งหลุดกับดักล้ำหน้าไปซัดผ่าน ฟาเบียง บาร์กเตซ ให้ทีมตาหมากรุกนำก่อน 1-0
เพียงแต่น่าเสียดายที่มาโดนทีเด็ดของ ลิลิยอง ตูราม ซึ่งร้อยวันพันปีไม่เคยทำประตูในนามทีมชาติได้มาก่อน เหมาคนเดียว 2 ประตู ทำให้ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพลิกชนะ 2-1 และผ่านเข้าไปคว้าแชมป์โลกสมัยแรกด้วยการถล่ม บราซิล 3-0 ในนัดชิงชนะเลิศแทน
ฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ฝรั่งเศส คือทัวร์นาเมนต์ที่ทั่วโลกได้รู้จักกับ ดาวอร์ ซูเคอร์
อย่างไรก็ตามในเกมนัดชิงอันดับ 3 กับเนเธอร์แลนด์ ซูเคอร์เป็นฮีโร่อีกครั้ง เมื่อซัดประตูชัยให้โครเอเชียชนะ 2-1
นั่นทำให้เขายิงแซงหน้า กาเบรียล บาติสตูต้า ของอาร์เจนตินา และ คริสเตียน วิเอรี่ ของอิตาลี ขึ้นเป็นดาวซัลโวสูงสุดของทัวร์นาเมนต์แต่เพียงผู้เดียว และช่วยให้โครเอเชียคว้าอันดับ 3 กลับบ้านได้อย่างยิ่งใหญ่
ผลงานการคว้ารองเท้าทองคำในศึกฟุตบอลโลกปีนั้น ทำให้ ซูเคอร์ คว้าอันดับ 2 ของรางวัล บัลลง ดอร์ ปี 1998 โดยแพ้แค่เพลย์เมกเกอร์ตัวเก่งของทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์โลกอย่าง ซีเนอดีน ซีดาน เพียงคนเดียว
เขาถูกยกย่องว่าทำผลงานในทัวร์นาเมนต์ที่ดินแดนน้ำหอมได้โดดเด่นกว่า โรนัลโด้ หัวหอกซูเปอร์สตาร์ที่พาทีมชาติบราซิลผ่านเข้าชิงเสียอีก
จาก 6 ลูกที่ ซูเคอร์ ยิงได้ในฟุตบอลโลก 1998 มีถึง 5 ประตูที่มาจากเท้าซ้ายข้างถนัด
ส่วนอีก 1 ลูกที่ซัดด้วยเท้าขวา เกิดขึ้นในการเจอทีมที่เพิ่งคว้าแชมป์ยูโร 1996 อย่างเยอรมนี และทำให้ทีมตาหมากรุกถล่มไปแบบราบคาบด้วยสกอร์ 3-0 ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ทีมตาหมากรุกแพ้ทุกครั้ง ถ้าต้องพบกับทีมอินทรีเหล็ก
ดาวอร์ ซูเคอร์ ไม่ใช่กองหน้ารูปร่างสูงใหญ่ จึงไม่เก่งในเรื่องของการเล่นลูกกลางอากาศ แต่ประสิทธิภาพการจบสกอร์ด้วยเท้าซ้ายของเขาในช่วงพีคๆ ถือว่าแทบไม่เป็นรองกองหน้าคนไหนในช่วงยุค 90 แต่ในขณะเดียวกัน การยิงด้วยเท้าขวาก็หวังผลได้
แม้ความสำเร็จระดับสโมสรของเขาจะมีไม่มากนัก ส่วนผลงานการเล่นทีมชาติชุดใหญ่ ก็ไม่ได้มีแชมป์รายการใดติดตัว แต่ ซูเคอร์ ก็สามารถมองย้อนเส้นทางค้าแข้งของเขาได้อย่างภาคภูมิใจมากๆ แล้ว
ซูเคอร์ กับเหรียญบรอนซ์ ที่ได้จากการพาโครเอเชียคว้าอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 1998
เขาเคยไปให้สัมภาษณ์กับ โฟร์ โฟร์ ทู เมื่อปี 2014 โดยยืนยันว่า การพาทีมชาติโครเอเชียคว้าอันดับ 3 ฟุตบอลโลก โดยที่ตัวเขาคือดาวซัลโวของทัวร์นาเมนต์ ถือเป็นสิ่งที่เขาภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ยิ่งกว่าแชมป์รายการใดๆ ที่เคยได้กับ เรอัล มาดริด เสียอีก
“ตอนที่ผมยังเด็ก ผมใฝ่ฝันว่าจะได้เล่นทีมเดียวกับ ดีเอโก้ มาราโดน่า และได้เล่นให้หนึ่งในสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง เรอัล มาดริด”
“ผมยังฝันถึงการเป็นดาวซัลโวฟุตบอลโลกเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ว่าจะด้วยอะไรก็ตาม ศึกฟร้องซ์ 98 มันคือความฝันที่เป็นจริงสำหรับผม มันคือช่วงเวลาที่ผมเล่นฟุตบอลได้ดีที่สุดในอาชีพ และทีมชาติโครเอเชียได้มีช่วงเวลาที่พิเศษ”
“สำหรับเราแล้ว มันคือสิ่งมหัศจรรย์ที่คว้าอันดับ 3 เหนือหลายๆ ทีมที่แข็งแกร่งของโลก เราเข้ารอบได้ลึกกว่า อังกฤษ, อาร์เจนตินา, ฮอลแลนด์, สเปน, เยอรมนี และ อิตาลี ซึ่งมันคือเรื่องที่น่าทึ่งมากสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างเรา”
อย่างที่เราบอกไปตั้งแต่ต้น ว่าหากคุณนึกถึงโครเอเชียในยุคนี้ คุณจะรู้ดีว่านี่คือทีมชาติที่แข็งแกร่งมากทีมหนึ่งของโลก นี่คือทีมที่เข้าชิงฟุตบอลโลกหนล่าสุด โดยที่นักเตะที่ดีที่สุดของพวกเขาคือกองกลางอย่าง ลูก้า โมดริช
ทว่าย้อนไปในช่วงยุค 90 โครเอเชียยังเป็นประเทศที่แฟนบอลยังไม่คุ้นชื่อ แต่มีกองหน้าคนหนึ่งที่รูปร่างไม่ได้สูงใหญ่ กลับสามารถทำให้ชาติเล็กๆ ชาตินี้ เป็นที่จดจำของคนทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว
และเพราะเหตุนี้นี่เอง ที่เราสามารถบอกได้อย่างเต็มปากว่า ดาวอร์ ซูเคอร์ คือตำนาน
และเขาอาจเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์วงการลูกหนังของโครเอเชียเลยก็ได้
#เสียบสามเหลี่ยม #ซูเคอร์ #ดาวอร์ซูเคอร์ #ฟุตบอลโลก #ฟร้องซ์98 #ฟุตบอลโลก1998 #มาราโดน่า #เซบีย่า #เรอัลมาดริด #อาร์เซน่อล #ลาลีกา #พรีเมียร์ลีก #โครเอเชีย #ตำนานนักเตะ
7 บันทึก
17
1
2
7
17
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย