31 มี.ค. 2021 เวลา 09:41 • กีฬา
เรื่องฉาวของฟุตบอลโลกที่กาตาร์
โดย Ploy Honisz
1
ในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โซนยุโรปที่ผ่านมา หลายทีมแสดงออกทางสัญลักษณ์เพื่อประท้วงเรื่องสิทธิมนุษยชนที่กาตาร์ เจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งหน้าในปี 2022 เริ่มจากนอร์เวย์ ต่อด้วยเยอรมนี เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ ที่นักฟุตบอลชื่อดังของทีมชาติทั้ง 4 ต่างสวมเสื้อเพื่อเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับคนงานที่กาตาร์
4
ต้นต่อของเรื่องราวเกิดขึ้นจากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ที่พาดหัวข่าวว่า นับตั้งแต่กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก มีแรงงานต่างชาติเสียชีวิตไปแล้วกว่า 6,500 คน โดยคนงานเหล่านั้นมาจากอินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล, บังกลาเทศ และศรีลังกา ค่าเฉลี่ยคือนับตั้งแต่กาตาร์ได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีแรงงานต่างด้าวเสียชีวิต 12 คนต่อสัปดาห์ ข้อมูลจากอินเดีย, บังกลาเทศ, เนปาล และศรีลังกา เปิดเผยว่าคนงาน 5,927 คน เสียชีวิตระหว่างปี 2011-2020 ส่วนสถานทูตปากีสถานบอกว่ามีคนงานของประเทศเสียชีวิต 824 คนระหว่างปี 2010-2020 ทั้งนี้จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะสูงขึ้นไปอีก ถ้ารวมถึงแรงงานที่มาจากเคนยาและฟิลิปปินส์
6
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กาตาร์เตรียมประเทศเพื่อเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2022 มีโครงการก่อสร้างมากมายเกิดขึ้น เช่น สนามฟุตบอลใหม่ 7 สนาม โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อีกนับสิบโครงการ บ้างก็เสร็จสมบูรณ์แล้ว บ้างก็กำลังก่อสร้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินใหม่, ถนน, ระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งโรงแรม และอาคารมากมาย จริงที่ว่าสาเหตุการตายทั้งหมดอาจจะไม่เกี่ยวโยงกับฟุตบอลโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวเลขที่สูงขึ้นนั้นเกี่ยวเนื่องพอดีกับตอนที่กาตาร์ได้สิทธิ์จัดฟุตบอลโลก
1
ในจำนวนหลายพันคนที่เสียชีวิต มี 37 คนที่เสียชีวิตโดยตรงจากการสร้างสนามแข่งขัน ซึ่งมีการระบุลงไปอีกว่าในจำนวนนั้น มี 34 เคสที่เสียชีวิตโดยไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน หรือเสียชีวิตนอกสถานที่ก่อสร้าง เชื่อกันว่ากาตาร์มีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่กว่า 2 ล้านคน โดยคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว เช่น ชายหนุ่มจากเนปาลที่จ่ายค่านายหน้าให้บริษัทจัดหางานกว่า 40,000 บาท หลังจากที่เดินทางมาถึงกาตาร์ไม่ถึงสัปดาห์ เขาก็ฆ่าตัวตาย หรือคนงานชายอีกคนจากบังกลาเทศที่ถูกไฟฟ้าดูดจนเสียชีวิตในห้องพักคนงานเพราะน้ำรั่ว และไปสัมผัสกับสายไฟ หรือจะเป็นแรงงานชายอินเดียที่สุขภาพแข็งแรง แต่เสียชีวิตด้วยสาเหตุธรรมชาติในห้องพักของตัวเอง
จากรายงานของกาตาร์ สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกระบุว่าเป็นการตายด้วยสาเหตุธรรมชาติ โดยเฉพาะคนงานจากอินเดียกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่เสียชีวิตถูกระบุว่ามาจากสาเหตุดังกล่าว นอกจากการตายด้วยสาเหตุทางธรรมชาติแล้ว อุบัติเหตุทางถนน การตายในที่ทำงาน และการฆ่าตัวตายก็เป็นสาเหตุใหญ่ๆ เช่นกัน ทั้งนี้การตายด้วยสาเหตุธรรมชาติ เชื่อกันว่ามาจากการที่ต้องทำงานกลางแจ้งในสภาพอากาศที่ร้อนจัดของประเทศ ซึ่งฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดกินเวลายาวนาน 4 เดือน นั่นแสดงให้เห็นถึงการขาดการเอาใจใส่ในสวัสดิภาพของคนงาน
4
เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้มากๆ เข้า ทางฟีฟ่าก็ออกมาบอกว่า เมื่อเทียบกับการก่อสร้างอื่นๆ ทั่วโลก บ่อยครั้งที่การก่อสร้างเกี่ยวกับฟุตบอลโลกของฟีฟ่านั้นมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่า โดยไม่มีการนำหลักฐานใดๆ มาอ้างอิงทั้งสิ้น ด้าน Amnesty International ก็ออกมาระบุว่า ขณะที่คนงานในกาตาร์กำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ฟีฟ่ากลับแสวงหากำไรอย่างมหาศาล ยังมีการระบุอีกว่า มีคนงานกว่า 3,200 คนทำงานทุกวันที่สนามคาลิฟา ในจำนวนนั้นกว่า 234 คน ถูกทารุณกรรม และถูกบังคับให้ใช้แรงงาน สภาพของคนงานต้องอยู่รวมกันอย่างแออัด บางห้องต้องนอนรวมกันมากกว่า 8 คน ทั้งที่ตามกฎหมายของกาตาร์เองแล้วนั้น คนงานอยู่ร่วมกันได้ไม่เกิน 4 คนต่อห้อง ยังมีเรื่องการจ่ายเงินเดือนช้า โกหกเรื่องงาน และจำนวนเงินเดือนที่จะได้รับ การห้ามออกจากพื้นที่ก่อสร้างหรือค่ายที่พัก รวมทั้งการห้ามออกนอกประเทศ หรือเปลี่ยนงาน
5
โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเฉพาะกับตัวผู้เสียชีวิตเอง ยังมีครอบครัวของคนเหล่านั้นที่ไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อได้ยังไง เพราะคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเสาหลักของบ้าน
1
ไม่ใช่แค่เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่กาตาร์กำลังเผชิญ ถ้าเราย้อนกลับไปก่อนที่พวกเขาจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ก็มีเรื่องการคอร์รัปชั่น ติดสินบนผู้บริหารระดับสูงของฟีฟ่าเพื่อให้กาตาร์ได้รับเลือกจัดการแข่งขัน รวมทั้งการถูกถามประเด็นเรื่องถ้าอิสราเอลผ่านเข้ารอบสุดท้าย พวกเขาจะสามารถเดินทางมาแข่งขันได้หรือไม่ เพราะกาตาร์ไม่รับรองอิสราเอลในฐานะประเทศ ซึ่งกาตาร์ก็บอกว่าสามารถเดินทางมาแข่งขันได้ เรื่องการจำหน่ายแอลกอฮอล์ ด้วยความที่เป็นประเทศมุสลิม จึงไม่มีการอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมา แต่จะมีการละเว้นเป็นพิเศษในช่วงการแข่งขัน แต่ก็ระบุว่าห้ามดื่มในสถานที่สาธารณะ ไม่เท่านั้นยังมีการประท้วงจากกลุ่ม LGBT เพราะการรักร่วมเพศในกาตาร์นั้นผิดกฎหมายและอาจจะมีโทษประหารชีวิต ซึ่งกาตาร์ยังไม่ได้ให้คำตอบชัดเจนว่าแฟนบอลที่เป็นกลุ่ม LGBT นั้นจะได้รับการต้อนรับหรือไม่
4
ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความร้อนเป็นเหตุ ฟุตบอลโลกปี 2022 จะแข่งขันกันในช่วงฤดูหนาว โดยจะเริ่มในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2022 ถึง 18 ธันวาคม 2022 ทว่าด้วยผลพ่วงของโควิด ทำให้การแข่งขันรายการใหญ่ๆ เช่น ยูโร และโอลิมปิก ต้องย้ายมาแข่งขันในปีนี้แทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อตารางการแข่งขันฟุตบอลลีกทั่วโลกอย่างแน่นอน นั่นหมายความว่านักฟุตบอลที่ติดทีมชาติ และทีมได้ไปแข่งขันฟุตบอลโลกจะแทบไม่มีเวลาได้พักผ่อนยาวๆ ดังนั้นฟุตบอลในฤดูกาล 2022-23 จะต้องมีการวางปฏิทินการแข่งขันที่สอดคล้องกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อประโยชน์และสวัสดิภาพของตัวนักฟุตบอลเอง
1
อ่านมาถึงตรงนี้ฟุตบอลโลกที่กาตาร์ดูจะเต็มไปด้วยปัญหาและเรื่องราวอื้อฉาวมากมายให้ต้องตามแก้ไข ด้านมืดของเกมการแข่งขันที่สวยงามกำลังเผยโฉมออกมามากขึ้นเรื่อยๆ จนเงินมากมายมหาศาลแค่ไหนก็ปิดไว้ไม่มิด
#ฟุตบอลโลก #เวิลด์คัพ #ฟีฟ่า #ข่าวบอล #ผลฟุตบอล #ผลบอล #ฟุตบอล #Football #Soccer #PlayNowThailand #KhelNowThailand
โฆษณา