31 มี.ค. 2021 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป 5 วิธีประเมินมูลค่า คริปโทเคอร์เรนซี
2
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 บิตคอยน์ได้ทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.9 ล้านบาท ต่อเหรียญ
คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมถึง 35.8 ล้านล้านบาท และถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดอันดับที่ 8 บนโลก
4
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หลายคนก็ได้ตั้งคำถามว่ามูลค่าของบิตคอยน์ ถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง และเราจะประเมินมูลค่าของสินทรัพย์นี้อย่างไร ?
6
และเมื่อไม่นานมานี้ CFA หรือสถาบันที่รับรองคุณวุฒิด้านวิชาชีพนักการเงินทั่วโลกได้ตีพิมพ์เอกสารที่กล่าวถึงเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ด้วย
1
โดยวิธีการประเมินมูลค่าดังกล่าวเป็นการรวบรวมโดยคุณ Hougan และ คุณ Lawant ที่อยู่ในเอกสารเผยแพร่ของทาง CFA ซึ่งไม่ได้เป็นความเห็นจากสถาบันอย่างเป็นทางการ
3
วันนี้ เรามาดูกันว่ามีแนวทางประเมิน
มูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
3
ก่อนหน้านี้ การประเมินมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อน
เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้สร้างกระแสเงินสดขึ้นมา
จึงทำให้ยากต่อการประเมินมูลค่าอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม CFA ก็ได้ระบุว่ามี 5 แนวทางในการประเมินมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี
ซึ่งก็ต้องบอกว่าแต่ละแนวทางมีสมมติฐานและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
เรามาเริ่มกันที่แนวทางที่ 1 เมื่อเรามองว่า “คริปโทเคอร์เรนซีเข้ามาแทนที่ทองคำ”
วิธีนี้จะเป็นการประเมินมูลค่าในลักษณะของการเปรียบเทียบ
ระหว่างมูลค่าตลาดของสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี กับมูลค่าของทองคำ
โดยเราต้องคาดการณ์ว่าคริปโทเคอร์เรนซีนั้นจะมาแทนทองคำเป็นสัดส่วนเท่าใด
เช่น หากเราคาดการณ์ว่าบิตคอยน์จะมาแทนที่ทองคำได้ราว 10%
1
ปัจจุบัน ทองคำ มีมูลค่าตลาด 342 ล้านล้านบาท
บิตคอยน์ มีมูลค่าตลาด 32 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.4% เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดทองคำ ก็จะดูสมเหตุสมผลกับที่เราคาดการณ์
1
แต่สำหรับใครที่คิดว่าบิตคอยน์จะมาแทนที่ทองคำได้ในสัดส่วน 5%
บิตคอยน์ ก็จะถือว่ามีมูลค่าที่สูงเกินไปแล้ว นั่นเอง
3
แนวทางที่ 2 เมื่อเรามองว่า “คริปโทเคอร์เรนซีเข้ามาแทนที่สกุลเงินทั่วไป”
1
แนวทางนี้จะเป็นวิธีเดียวกับการประเมินมูลค่าของเงินตราทั่วไปแบบดั้งเดิม
ที่ประเมินจากปริมาณและรอบหมุนของเงินในระบบ
โดยเราจะมี 4 ตัวแปรหลักที่สำคัญ แบ่งออกเป็น
2
- Money Supply (M) คือ มูลค่าตลาดของคริปโทเคอร์เรนซีที่เราสนใจ
- Velocity of Money (V) คือ ความถี่ของการใช้คริปโทเคอร์เรนซีในรอบ 1 ปี
- Price Level (P) คือ มูลค่าเฉลี่ยของธุรกรรมการใช้คริปโทเคอร์เรนซีที่เกิดขึ้น
- Quantity of Goods and Services (Q) คือ จำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้น
9
โดยสมการที่ได้ก็อยู่ในรูปแบบของ M x V = P x Q
3
ยกตัวอย่างเช่น หากบิตคอยน์มีปริมาณธุรกรรม 1 แสนล้านครั้ง ต่อปี (Q)
ในขณะที่มีการใช้จ่ายด้วยบิตคอยน์ราว 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อธุรกรรม (P)
2
หมายความว่า P x Q หรือ มูลค่าธุรกรรมทั้งหมดจะมีมูลค่าราว 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี
1
ทีนี้ หากว่าบิตคอยน์ ถูกเปลี่ยนมือ (V) เฉลี่ยราว 5 ครั้ง ต่อปี
เราก็สามารถคำนวณมูลค่าตลาดของคริปโทเคอร์เรนซี หรือ M ที่ควรจะเป็นได้ โดย M = P x Q / V
ซึ่งเท่ากับ 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นเอง
7
หลังจากนั้น เราก็สามารถนำมูลค่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่คำนวณได้
มาเทียบได้ว่าสูงหรือต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากน้อยขนาดไหน
1
Cr. The Verge
แนวทางที่ 3 เมื่อเรามองว่า “คริปโทเคอร์เรนซีเป็นระบบเครือข่าย”
ปกติวิธีนี้จะนิยมใช้วัดมูลค่าสำหรับกลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์
เช่น Facebook, Instagram หรือ Twitter
โดยมูลค่าของบริษัทเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้น ตามจำนวนผู้ใช้งานที่เยอะขึ้น
ในขณะที่ หากแพลตฟอร์มไม่มีผู้ใช้งาน บริษัทก็จะมีมูลค่าเท่ากับ “0”
4
โดยสมการของการประเมินมูลค่าเบื้องต้น
ก็คือ นำจำนวนผู้ใช้งานบนคริปโทเคอร์เรนซียกกำลังด้วย 2
อย่างไรก็ตาม ทาง CFA ก็ได้ระบุว่ามีข้อจำกัดเรื่องคุณภาพของผู้ใช้งาน
เพราะการได้มาของผู้ใช้งานในบางครั้ง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสร้างเครือข่าย
แต่เกิดมาจากการโฆษณา จึงทำให้วิธีนี้ ไม่ถูกนำมาพูดถึงมากนัก
2
แนวทางที่ 4 เมื่อเรามองว่า “คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเสมือนสินค้าโภคภัณฑ์”
5
สินค้าโภคภัณฑ์คือ สินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันทั่วโลก
ยกตัวอย่าง เช่น น้ำมันดิบ, ยางพารา, ถ่านหิน, ข้าว, น้ำตาล
วิธีการประเมินมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์
จะคำนวณจากต้นทุนในการผลิตเพื่อให้ได้สินค้า
โดยต้นทุนหลักสำหรับคริปโทเคอร์เรนซี ก็คือ ค่าไฟฟ้า ค่าเซิร์ฟเวอร์ และค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการขุด
ซึ่งมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีที่ควรจะเป็นไม่ควรต่ำกว่าต้นทุนทั้งหมดนี้
3
แนวทางที่ 5 เมื่อเรามองว่า “คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ที่มีจำนวนจำกัด”
วิธีนี้จะคำนวณด้วยโมเดลที่เรียกว่า Stock-to-Flow
ซึ่งวิธีดังกล่าวมักจะถูกนำมาคำนวณหามูลค่าของสินทรัพย์ที่หายาก เช่น ทองคำและเงิน
1
ทั้งนี้ Stock-to-Flow ถูกออกแบบมาใช้กับบิตคอยน์โดยเฉพาะ เนื่องจากบิตคอยน์มีลักษณะคล้ายกันกับทองคำและเงิน คือ มีอยู่อย่างจำกัด และมีความสามารถในการกักเก็บความมั่งคั่งเอาไว้ได้
โดยโมเดล Stock-to-Flow จะเป็นการเทียบสัดส่วนระหว่าง
มูลค่าบิตคอยน์ที่มีอยู่ทั้งหมดบนโลก หารด้วยมูลค่าที่ผลิตขึ้นใหม่ได้ในแต่ละปี
ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละปี มูลค่าของบิตคอยน์ทั้งหมดบนโลกจะเพิ่มขึ้น
ในขณะที่บิตคอยน์ก็จะผลิตยากขึ้นเพราะในทุก ๆ สี่ปีจะเกิดกระบวนการ Halving
หรือการลดผลตอบแทนจากการผลิตบิตคอยน์ลงครึ่งหนึ่ง
อีกความหมายหนึ่งก็คือ ขุดได้ยากขึ้น นั่นเอง
3
Cr. The Tradable
นั่นจึงทำให้การประเมินมูลค่าบิตคอยน์ด้วย Stock-to-Flow จะมีลักษณะเป็นเทรนด์ขาขึ้นตลอดเวลา
ซึ่ง CFA ก็ได้ระบุว่าโมเดลนี้เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางประเมินมูลค่า แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีนี้ เพราะดูเหมือนว่าการเกิดขึ้นที่น้อยลงของบิตคอยน์ได้ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัวแล้ว ซึ่งถ้าใช้วิธีนี้ในการประเมินมูลค่าก็จะไม่มีวันที่มูลค่าลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้นไปตลอดกาล
ซึ่งไม่สมเหตุสมผลเหมือนวิธีอื่น ที่มูลค่าที่เหมาะสมจะขึ้นลงตามปัจจัยอื่น ๆ ด้วย
ถึงตรงนี้ เราก็คงพอจะรู้แล้วว่ามีวิธีอะไรบ้าง
ที่เราจะนำมาใช้เพื่อหามูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซี
แม้ว่าจะมีแนวทางการประเมินมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีที่หลากหลาย
แต่ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่มีโมเดลไหนที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย
1
อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้งหมดที่กล่าวมาก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการประเมินมูลค่า
เพราะถ้าหากเราไม่รู้มูลค่าที่เหมาะสมของสินทรัพย์ที่จะลงทุนเลย
การซื้อครั้งนั้น ก็อาจจะเรียกว่าเป็นการเก็งกำไร มากกว่าการลงทุน..
3
โฆษณา