1 เม.ย. 2021 เวลา 15:39 • สิ่งแวดล้อม
ข่าวร้าย - จากรายงานเรื่องการสูญเสียพื้นที่ป่าในปี 2020 พบว่าป่าถูกทำลายมากกว่าปี 2019 เสียอีก
โดยตลอดทั้งปี 2020 ป่าไม้บนโลกใบนี้ได้หายไปอีก 12.2 ล้านเฮกตาร์ - มากกว่าที่เสียไปในปี 2019 ราว 12%
โดยเฉพาะป่าฝน เสียไปถึง 4.2 ล้านเฮกตาร์
ผลของการทำลายป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากมายหลายแห่งเทียบเท่าการปล่อยคาร์บอนฯ 2.64 พันล้านตัน
บราซิลครองแชมป์อันน่าอับอายนี้ - เสียป่าไป 1.7 ล้านเฮกตาร์ มากกว่าปี 2019 - 15%
ดังที่ทราบกันว่าป่าแอมะซอนในบราซิลได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา ทั้งจากนโยบายที่ส่งเสริมการใช้พื้นที่ ความไม่ใยดีของผู้นำประเทศ ตลอดจนปัญหาไฟป่าที่ลุกลามรุนแรงมากกว่าปีไหนๆ
ไฟป่าในแอมะซอนเกิดขึ้นจากการเผาเพื่อชิงพื้นที่มาทำเกษตร แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น บวกกับความแห้งแล้งทำให้ความแรงของไฟแผ่กว้างเกินควบคุม กินกระจายพื้นที่เกินกว่าที่คาด
มากไปกว่านั้น บราซิลยังเสียพื้นที่ชุ่มน้ำที่ดีที่สุดของโลกอย่าง Pantanal จากการบุกรุกทำการเกษตรและไฟป่าที่ผลาญระบบนิเวศสมบูรณ์ไปเกือบ 1 ใน 3 ของพื้นที่
นอกจากแอมะซอนในบราซิล ป่าฝนผืนใหญ่ที่ต่อเนื่องไปยังประเทศรอบข้างก็ได้รับความเสียหายในจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
โบลิเวีย เสียป่าไป 277,000 เฮกตาร์ เปรู 190,000 เฮกตาร์ และโคลอมเบีย 166,000 เฮกตาร์
ในฟากของป่าฝนที่ดีอีกแห่งของโลกอย่างลุ่มน้ำคองโก ก็สูญเสียพื้นที่สีเขียวไปไม่น้อย ทั้งในประเทศคองโกและแคเมอรูน
โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เสียป่าเป็นอันดับสองรองจากบราซิล - 490,000 เฮกตาร์
และยังพบว่าการระบาดของโควิด-19 มีส่วนสำคัญที่ทำให้ป่าฝนแห่งนี้ถูกบุกรุกหนัก - สาเหตุจากการตกงาน การอพยพหนีโรคระบาด มาอาศัยพึ่งพิงทรัพยากรในผืนป่า
คนคองโกจำนวนมาก ยังอาศัยถ่านจากไม้เป็นเชื้อเพลิงพลังงาน
นอกจากนี้ ราคาของปาล์มและโกโก้ที่ถีบตัวสูงขึ้น ก็เป็นแรงจูงใจให้เกิดการบุกรุกป่าเพื่อการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในข่าวร้ายของวันนี้ก็ยังพอมีข่าวดีแทรกอยู่เล็กน้อย
เมื่อป่าฝนที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกที่ตั้งอยู่บนประเทศอินโดนีเซียมีอัตราการสูญเสียที่ลดน้อยลงกว่าปีที่แล้ว
แม้ในภาพรวมใหญ่ อินโดนีเซียจะเสียป่ามากเป็นอันดับ 4 แต่เมื่อมองย้อนหลังไป เปอร์เซ็นต์พื้นที่ป่าถูกทำลายมีน้อยลงเรื่อยๆ
ซึ่งถือเป็นสัญญาณด้านบวก
สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้อุตสาหกรรมปาล์ม การปฏิรูปภาคเกษตร การบรรเทาความยากจน และส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน
เหล่านี้ช่วยให้ป่าฝนอินโดไม่ถูกทำลายหนักเหมือนเก่า
เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย ที่สถิติการทำลายป่าลดลงเช่นกัน
หลังการสูญเสียพื้นที่ป่าครั้งใหญ่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งป่าหายไป 1 ใน 3 ของที่มีทั้งหมด ทำให้รัฐบาลหันมาอนุรักษ์กันมากขึ้น ทั้งยังยกระดับข้อบังคับทางกฎหมายให้เข้มข้น - การลักลอบตัดไม้จะมีทั้งโทษปรับและจำคุก
นอกจากในภาคของรัฐบาล องค์กรอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำเหยื่อกระดาษและน้ำมันปาล์มของทั้งสองประเทศก็กำลังปรับทิศทางการทำงานใหม่ ให้อุตสาหกรรมเดินอยู่บนความยั่งยืน รวมถึงการห้ามตัดไม้ทำลายป่า หรือแผ้วถางพื้นที่ชุ่มน้ำ
ส่วนจะสำเร็จอย่างไร ก็คงต้องติดตามดูกันต่อ
ข้อมูลทั้งหมดนี้ อ้างอิงจากรายงานของ University of Maryland ที่เพิ่งออกมาเมื่อปลายเดือนมีนาคม
ซึ่งพยายามย้ำภาพให้เห็นว่ามนุษย์กำลังเดินไปในทางที่ผิด และทำให้ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น
10 อันดับ ประเทศที่เสียป่ามากที่สุดในปี 2020
บราซิล - 1.7 ล้านเฮกตาร์
คองโก - 490,613 เฮกตาร์
โบลิเวีย - 276,886 เฮกตาร์
อินโดนีเซีย - 270,057 เฮกตาร์
เปรู - 190,199 เฮกตาร์
โคลอมเบีย - 166,485 เฮกตาร์
แคเมอรูน - 100,295 เฮกตาร์
ลาว - 82,240 เฮกตาร์
มาเลเซีย - 72,977 เฮกตาร์
เม็กซิโก - 68,423 เฮกตาร์
อ่านรายงานฉบับเต็มที่ https://bit.ly/31DalrT
โฆษณา