1 เม.ย. 2021 เวลา 18:15 • ประวัติศาสตร์
《เช็งเบ๋ง เทศกาลกตัญญู(清明孝道节)》ฉบับวัฒนธรรมฮกเกี้ยน
《清明》唐·杜牧
清明时节雨纷纷,เมื่อถึงเช็งเบ๋ง ฝนก็ตกปรอยๆ
(เช็ง เบ๋ง สี เจะ อู้ ฮุน ฮุน)
路上行人欲断魂。ผู้คนสัญจรไปมาด้วยความไหวหวั่น
(หล่อ ซี-อ่อง เฮง หยิน หยก ตวน หุน)
借问酒家何处有?ขอถามไถ่ว่าร้านเหล้าอยู่หนใด
(จี-โอะ บุ๋น จิ้ว ก๊า โห ชู่ อิ๋ว)
牧童遥指杏花村。เด็กเลี้ยงวัวจึงชี้ไกลไปยังหมู่บ้านซิ่งฮวา
(บ๊ก ต๋อง อี-เยา จี้ เฮง ฮวา ชุน)
.
เมื่อพูดถึงเช็งเบ๋ง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงภาพบรรยากาศในบทกวีของตู้มู่ แต่ทว่าในตอนเริ่มแรกเดิมทีนั้น เช็งเม้งไม่ได้มีสภาพบรรยากาศเช่นที่กล่าวมา หากแต่เป็นเพียงหนึ่งใน 24 กาลปักษ์(二十四节气)เท่านั้น
.
คำว่า “เช็ง(清)” แปลว่า: บริสุทธิ์ ส่วนคำว่า “เบ๋ง(明)” แปลว่า: ใสสะอาด เมื่อรวมทั้งสองคำจะได้ว่า “ช่วงเวลาแห่งความรื่นรมย์ใจ” ตามปฏิทินจันทรคติจีนและยี่สิบสี่กาลปักษ์ ช่วงเวลาเช็งเบ๋งเป็นช่วงที่สภาพอากาศสดใสและสวยงามที่สุดของฤดูใบไม้ผลิ
เช็งเบ๋งกับชาวฮกเกี้ยน(闽南清明节)
เทศกาลเช็งเบ๋งเป็นเทศกาลที่ลูกหลานร่วมใจกันมาเคารพเซ่นไหว้และทำความสะอาดสุสานบรรพชน ณ หลุมฝังศพ
.
องค์ประกอบของสุสาน
• หลุมฝังศพ หรือ บ่อง(坟墓);เป็นเนินดินสูงจากพื้นไม่มาก
• ป้ายหน้าหลุมศพ หรือ บ่องป๋าย/บ่องปี(墓牌/墓碑);นามบัตรผู้ตายอันประกอบด้วย; ชื่อ-นามสกุลของตนเองและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ถิ่นกำเนิด
• เนินหลุมศพ หรือ บ่องคิว(墓丘)
• เก้าอี้เล็กสำหรับวางกระถางธูป
• ลานสำหรับทำความเคารพ
• ฮาวท่อ หรือ พระแม่ธรณี(后土);มีลักษณะเป็นเป็นป้ายเล็กๆ อยู่ทางขวาของบ่อง
.
อุปกรณ์สำหรับเซ่นไหว้
• เส้นหมี่เหลืองสด 1 จาน(蛋面)
• ข้าวเหนียวกวนน้ำตาลทรายแดง 1 จาน(黑糖糯米糕)
• อังกู๊ 1 จาน(红龟粿)
• ฮวดโก้ย 1 จาน(发粿)
• ก้าม/ส้ม(柑)พูโต๋/องุ่น(葡萄)อ่องหลาย/สับปะรด(王梨)เป๋งโก้/แอปเปิ้ล(苹果)
• เต๋ หรือ เหล้าขาว(茶、白酒)
• หงอเซ้ง(五牲)
• กระดาษกิ๊ม(金银纸)
.
วิธีการไหว้
1) เข้าไปที่บ่องแล้วหันไปไหว้ฮาวท่อ หรือ พระแม่ธรณี ซึ่งอยู่ทางขวามือของหลุมศพโดยใช้ธูปไหว้เจ้า 3 ดอกเท่านั้น
2) เมื่อไหว้เจ้าที่เสร็จแล้วจึงหันกลับมาไหว้บ่องป๋ายด้วยธูป 1-2 ดอก
.
หลังไหว้บรรพบุรุษเสร็จแล้ว ลูกหลานก็จะรับประทานของที่นำมาไหว้ด้วยความเชื่อว่าจะโชคดี เช่น อ่องหลาย: บรรพบุรุษจะนำโชคมาให้, ฮวดโก้ย: เพื่อให้กิจการรุ่งเรือง, อังกู๊: เพื่อให้มีอายุยืนยาว เป็นต้น
ประเพณีนิยมในวันเช็งเบ๋ง(闽南清明节习俗)
1) แนวคิด(观念):เมื่อเอ่ยถึงเทศกาลเช็งเบ๋ง ชาวจีนฮกเกี้ยนทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมากซึ่งเป็นเทศกาลที่ปฏิบัติและสืบทอดจากสู่รุ่น กิจกรรมหลักๆ คือ การปัดกวาดเช็ดถูบ่องและการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ(扫墓祭祖)โดยทั่วไปเชื่อกันว่าการทำความสะอาดหลุมศพมีมาตั้งสมัยราชวงศ์ฉินหรือยุคก่อนหน้านั้นอย่างเช่นยุคชุนชิว(秦代或先秦春秋)โดยเทศกาลเช็งเบ๋งมีความเกี่ยวกับเทศกาลอาหารเย็น หรือ กว่าซิด(寒食节)แล้วในยุคหลังๆ ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเช็งเบ๋ง ในขณะเดี๋ยวกันเทศกาลดังกล่าวก็ค่อยๆ ถูกลืมไป เมืองจวนจิวมีสุภาษิต(泉州俗语)กล่าวว่า: "เช็งเบ๋งไม่กลับบ้านนั้นไร้บรรพบุรุษ ตรุษจีนไม่หวนสู่เรือนนั้นไร้เมีย【清明无转厝无祖,过年无转厝无某;เช็งเบ๋งโบ๋จวนฉู่โบ๋จ้อ โก้ยหนีโบ๋จวนฉู่โบ๋โบ้】" อุปมาว่า การไม่กลับบ้านมาเซ่นไหว้บรรพชนเมื่อถึงเทศกาลนั้นคือการไม่เคารพต่อบรรพบุรุษและถือเป็นการแสดงความอกตัญญูอีกด้วย
2) การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ(祭祖):ในช่วงเที่ยงของวันนี้ แต่ละครอบครัวจะทำเปาะเปี้ยสด หรือ ยุนเปี้ย(润饼)เตรียมซัมเซ้งหรือหง่อเซ้ง(三五牲礼)หลังจากนำไปยังห้องโถงที่ตั้งป้ายซินจู้(神主牌)แล้วจึงทำการเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษได้โดยตรง ตลอดจนเจ้าของบ้านหรือเจ้าของที่ดินนั้นๆ(家住或地基主)
3) การทำความสะอาดหลุมศพ(打扫坟墓):การทำความสะอาดและดูแลหลุมศพในเทศกาลก็เพื่อรักษาสภาพให้คงเดิมเท่าที่จะทำได้และเพื่อความเป็นระบบระเบียบของตัวสุสาน อีกประการหนึ่งคือเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพชนที่สร้างไว้ ลูกหลานจึงทำการตอบแทนโดยการทำความสะอาดบ่องนั่นเอง
4) การรับประทานเปาะเปี้ยสด(食润饼):เปาะเปี้ยสดเป็นอาหารหลักของเมืองจวนจิว ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากเทศกาลอาหารเย็น ยุนเปี้ย(润饼)เกิดจากการน้ำแป้งหมี่มาตีเป็นแผ่นแป้งบางๆ ไว้สำหรับห่อไส้ที่ต้องการจะใส่ มีสำนวนพื้นบ้านของเซี่ยเหมิน(厦门民谚)กล่าวว่า: "เช็งเบ๋งต้องกินเปาะเปี้ย【清明吃薄饼;เช็งเบ๋งเจียะเปาะเปี้ย】" ความหมายคือ หลังจากครอบครัวร่วมกันทำความสะอาดหลุมศพแล้ว ต้องร่วมกันรับประทานเปาะเปี้ย อันหมายถึงความพร้อมหน้าพร้อมตากัน ซึ่งในปัจจุบันมณฑลฮกเกี้ยนยังคงรักษาธรรมเนียมดังกล่าว
จุดประสงค์ของเทศกาลเช็งเบ๋ง(清明目的)
1) เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้แก่คนรุ่นหลัง
2) เป็นศูนย์รวมวงศ์ตระกูล ผังตระกูลโดยการนัดหมายวันที่จะไปไหว้
3) เป็นกรอบถนนแห่งความกตัญญูที่มีต่อผู้ล่วงลับ ชาวจีนถือความกตัญญูเป็นอันดับแรก(百善孝为先)
4) เพื่อเตือนสติว่า ความตายเกิดได้ทุกเมื่อและไม่ว่าใครก็หลีกเลี่ยงมิได้ จงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท
5) เพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่เหล่าบรพพบุรุษผู้ล่วงลับได้ถ่ายทอดและสร้างเอาไว้
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันรูปแบบการเซ่นไหว้จะเปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์หรือการรับวัฒนธรรมตามภูมิลำเนาของบรรพบุรุษในแต่ละท้องที่จะต่างกันออกไป แต่เทศกาลเช้งเม้งก็ยังคงเป็นเรื่องของการแสดงความกตัญญูที่มีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับและระลึกถึงคุณงามความดีที่สร้างไว้แก่อนุชนรุ่นหลังให้มีชีวิตที่ดีขึ้นดั่งเช่นทุกวันนี้
อ้างอิงข้อมูล:
《閩南清明節習俗你知道多少?》每日頭條,由:大閩南,2015年3月29日
โฆษณา