3 เม.ย. 2021 เวลา 10:50 • ปรัชญา
เรียนรู้ภาวะผู้นำ ผ่านสายตา จอมทัพซามูไร "โอดะ โนบุนากะ"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะความเป็นผู้นำ เป็นส่วนประกอบสำคัญ ที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ
และเป็นทักษะที่จำเป็นที่ผู้นำจำเป็นต้องมี มาทุกยุคทุกสมัย
อีกหนึ่งกรณีศึกษาในเรื่องของภาวะการเป็นผู้นำที่ให้ข้อคิดได้ดี ไม่แพ้กรณีศึกษาของเรื่องราวความสำเร็จของซีอีโอในสมัยใหม่
คือการวิเคราะห์ความเป็นผู้นำ ผ่านบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์โลก
ในบทความนี้ THE BRIEFCASE จะขอหยิบยกกรณีศึกษา ภาวะความเป็นผู้นำ ผ่านเรื่องราวของ อดีตผู้ที่เคยพยายามรวบรวมแผ่นดินในประเทศญี่ปุ่น
และได้ถูกขนานนามว่าเป็น “เจ้าแห่งสงคราม” ในยุคสมัยเซ็นโกคุ
ที่มีชื่อว่า “โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga)”
3
ต้องทำความเข้าใจกันเบื้องต้นก่อนว่า
แผ่นดินญี่ปุ่นในสมัยโบราณนั้น ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ หรือเป็นแคว้น
ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้น จะถูกปกครองโดย บรรดาเจ้าเมืองหรือเจ้าแคว้นต่าง ๆ ซึ่งผู้ปกครองเหล่านี้ จะมีชื่อเรียกตามศักดินาว่า “ไดเมียว (Daimyo)”
1
จนกระทั่งมาถึง การเสียชีวิตของโชกุนลำดับที่ 6 แห่งรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ
จึงทำให้เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจของเหล่าทายาท ในปลายศตวรรษที่ 15 หรือ ในช่วงยุคมูโรมาจิ
เหล่าบรรดา ไดเมียว ในแต่ละแคว้นเริ่มรู้สึกว่า ศูนย์กลางทางอำนาจของญี่ปุ่นกำลังสั่นคลอน
และเมื่อผสมกับความมั่นใจว่าตัวเองยิ่งใหญ่ จึงทำให้เหล่าไดเมียวได้แยกตัวเป็นอิสระ ตั้งเขตอำนาจการปกครองของตนเอง และ เริ่มทำสงครามแย่งชิงดินแดนกัน ด้วยวิถีซามูไร
 
“โอดะ โนบุนากะ” ไดเมียวแห่งแคว้นโอวาริ (Owari) ที่อยู่ใจกลางของแผ่นดินญี่ปุ่น ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ลุกขึ้นมาร่วมต่อสู้ในครั้งนั้น
โดยเป้าหมายของ โนบุนากะ ไม่เพียงแต่ต้องการแย่งชิงดินแดนจากไดเมียวผู้อื่นเท่านั้น แต่เขายังมองไปไกลไปถึงการ “รวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่น” ให้เป็นหนึ่งเดียว
โอดะ โนบุนากะ เป็นคนที่มีนิสัยตรงไปตรงมาและเด็ดขาด
กล่าวคือ ถ้าเขาต้องการให้คนที่มีความขัดแย้งต่ออุดมการณ์ของเขาให้ยอมแพ้ไป เขาจะใช้กำลังในการเข้าต่อสู้ แต่เป็นการต่อสู้ที่มีศักดิ์ศรีตามวิถีของนักรบซามูไร
หลายคนอาจเคยได้ยินมุมมองประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหลาย ๆ ด้าน ที่ทำให้เข้าใจว่า โนบุนากะ เป็นคนที่มีความร้ายกาจ เน้นความรุนแรง และชอบทำสงครามเป็นหลัก จนมีฉายาที่ถูกเรียกว่า “เจ้างั่งแห่งโอวาริ”
แต่จริง ๆ แล้วเรื่องของชายผู้นี้ ยังมีอีกด้านที่ประวัติศาสตร์หลายสำนักไม่ค่อยได้พูดถึง
นั่นก็คือ โนบุนากะ เป็นคนที่ “ใช้สมอง” ในการสู้รบอยู่ตลอดเวลา
ยกตัวอย่างเช่น
ยุทธการโอะเกะฮะซะมะ ที่เขาเคยนำกองทหาร ที่มีกำลังพลเพียงแค่ 5,000 คน เข้าสู้ขัดขวางกองทัพฝ่ายตรงข้ามของโยชิโมโตะ ที่มีมากกว่า 40,000 คน จนได้รับชัยชนะ
การทำศึกโดยอาศัยสติปัญญาและมันสมองของ โนบุนากะ จึงทำให้เขาสามารถ ยึดครองแคว้นต่าง ๆ ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
และในที่สุด โอดะ โนบุนากะ ก็ได้เข้ายึดครองนครเกียวโตได้สำเร็จ จึงทำให้อำนาจทั้งหมดของญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น แทบจะตกอยู่ในมือของ โอดะ โนบุนากะ ผู้นี้แต่เพียงผู้เดียว
แล้วอะไรคือลักษณะเด่น ที่ทำให้ โอดะ โนบุนากะ สามารถขึ้นมาสู่ความยิ่งใหญ่ในยุคนั้น ได้ขนาดนี้ ?
ประการที่ 1 - การมีเป้าหมายที่ชัดเจน วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และไม่กลัวที่จะทำการใหญ่
โนบุนากะ มีเป้าหมายที่ชัดเจนเสมอ และ จะมีการวางแผนในทุกครั้ง ที่เขาเริ่มขับเคลื่อนกองทัพ ทำศึกสงครามต่าง ๆ
ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ในยุทธการโอะเกะฮะซะมะ ที่เริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับ โนบุนากะ
ในศึกนั้น โนบุนากะ รู้ดีว่ากองกำลังซามูไรของตัวเองมีจำนวนน้อยกว่าศัตรูหลายเท่าตัว
เขาจึงได้วางแผนการ ส่งสายลับเข้าไปสอดแนมและสืบข่าว จนรู้ว่ากองกำลังของข้าศึกมีอยู่มากแค่ไหน และมีเส้นทางเดินทัพอย่างไร
จากนั้นเขาจึงรอจังหวะที่ กองทหารของศัตรู เดินทางมาอยู่ในช่องเขาโอเกะฮาซามะที่กองทัพของ โนบุนากะ จะได้เปรียบทางยุทธศาสตร์และคุ้นเคยกับพื้นที่
เมื่อบวกกับในขณะนั้นเกิด ฝนเกิดตกหนักขึ้นมาทันที โนบุนากะ ไม่รอช้ารีบสั่งกองกำลังซามูไรที่มีเพียงแค่ 5,000 คน เข้าถล่มกองทหารจำนวน 40,000 คน จนได้รับชัยชนะไปในที่สุด
1
ประการที่ 2 - ผู้นำที่ดีจะต้องช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ตามให้ดียิ่งขึ้น และสนับสนุนให้ผู้ตามกลายเป็นผู้นำที่ดีได้ในอนาคต
ต้องบอกว่า โอดะ โนบุนากะ เป็นผู้ที่เกือบจะรวบรวมแผ่นดินทุกแว่นแคว้นของญี่ปุ่น ได้สำเร็จ
และ โนบุนากะ จำเป็นต้องมีพันธมิตร ซึ่งก็คือวีรบุรุษซามูไร อีก 2 คน ที่เขาคอยปลุกปั้น และ สอนวิชาต่าง ๆ นั่นคือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ และ โทกุกาวะ อิเอยาสุ
ซึ่งในภายหลังจากที่ โนบุนากะ เสียชีวิตไปแล้ว ทั้ง ฮิเดโยชิ และ อิเอยาสุ ต่างก็เป็นบุคคลสำคัญในการช่วยสานต่อภารกิจรวมชาติญี่ปุ่นเป็นหนึ่งเดียวต่อไป
1
ประการที่ 3 - ผู้นำที่ดีต้องรู้จักแยกแยะ และใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์
ถึงแม้ว่า โนบุนากะ จะมีประวัติโชกโชนเกี่ยวกับการทำศึกสงคราม และยึดเมืองต่าง ๆ เพื่อสร้างอำนาจ
แต่มีอยู่เมืองหนึ่ง ที่โนบุนากะ ทำการเข้ายึดอำนาจ แต่ไม่ทำลายตัวเมือง นั่นคือ “เมืองซาไก” ในจังหวัดโอซากา
นั่นก็เป็นเพราะ เมืองซาไกเป็นเขตเมืองเศรษฐกิจ และเมืองท่าที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น
ที่มากกว่านั้นคือ โนบุนากะ ยังให้ความช่วยเหลือบรรดาพ่อค้ารายใหญ่ของเมืองในการก่อตั้งสมาคมพ่อค้า นอกจากนี้ยังมีการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีอากรและรวบรวมระบบชั่ง ตวง วัด อีกด้วย
ประการที่ 4 - ผู้นำที่ดี ต้องโฟกัสไปที่ “วิธีการแก้ปัญหา” มากกว่า กังวลหรือจมอยู่กับปัญหา อีกทั้งต้องไม่ขาดการวางแผน และอ่านเหตุการณ์ล่วงหน้าให้ออกอยู่เสมอ
ยกตัวอย่างเช่น การแก้จุดอ่อนในเรื่องการสู้รบของกองทัพ ด้วยการนำเอาอาวุธที่ทันสมัยในขณะนั้น อย่าง “ปืน” จากโปรตุเกส เข้ามาปรับใช้ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรบ
แต่อย่างไรก็ตาม ดั่งสุภาษิตโบราณของญี่ปุ่น ที่ว่า “จุดแข็งของเรา ก็คือ จุดอ่อนของเรา”
ซึ่งเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของ โอดะ โนบุนากะ ก็เป็นดั่งเช่นสุภาษิต กล่าวไว้..
1
จุดเด่นในด้านความแข็งแกร่ง ก็ยังนำไปสู่ ข้อด้อยต่าง ๆ เช่น ความเด็ดขาดในการกำจัดศัตรูหรือคนเห็นต่าง ที่ตามมาด้วย การสร้างศัตรูรอบด้าน
ลองมาดูกันว่า ข้อควรระวังในภาวะความเป็นผู้นำของ โอดะ โนบุนากะ มีอะไรบ้าง
ข้อแรก - การมีอำนาจในมือเยอะ และกระจุกอยู่ที่ศูนย์กลางมากจนเกินไป
แม้ว่าจะกำจัดอำนาจโชกุน และรวบรวมแผ่นดินส่วนใหญ่ได้แล้ว
แต่ โนบุนากะยัง มีศัตรูมากมายที่ยังต่อต้านเขาอยู่
ยกตัวอย่างเช่น “อิกโกะ อิกกิ” (Ikko-ikki) หรือกลุ่มพระนักรบ ศัตรูที่มีความอาฆาตจากการเผาวัดอย่างโหดเหี้ยมของโนบุนากะ และกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากอำนาจของอดีตโชกุนเก่า
และด้วยอำนาจการตัดสินใจเกือบทั้งหมด ที่กระจุกอยู่ตรงกลาง คือ ตัวของ โนบุนากะ
สิ่งที่ตามมา คือ โนบุนากะ ต้องมีความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา ว่าคนรอบข้างจะแผงไปด้วยศัตรูหรือคนที่ไม่หวังดีต่อตัวเขา
เพราะหากเขาเป็นอะไรไป นั่นหมายความว่า กองกำลังหรือผู้ภักดีต่อเขาอาจเกิดความสั่นคลอนได้
ซึ่งจากตรงนี้ ทำให้เราเห็นว่า การกระจายอำนาจบริหาร ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยเลย
ข้อที่สอง - มีความมั่นใจในตัวเอง และ ประมาทคู่แข่งมากเกินไปในบางครั้ง
หากบอกว่ากองทัพของนโปเลียนที่ 1 ใช้ปืนใหญ่ได้เก่งฉกาจที่สุด ในยุโรป
กองทัพของ โอดะ โนบุนากะ ก็คือกองทัพที่มีความถนัดในการใช้ปืนไฟมากที่สุดในช่วงเวลานั้นของญี่ปุ่น
ที่ต้องกล่าวถึงนโปเลียน นั่นก็เป็นเพราะว่า เขาทั้ง 2 ล้วนมีจุดผิดพลาดของผู้นำในลักษณะคล้ายกัน
คือมีความมั่นใจในกองทัพที่ใช้ปืนไฟอย่างมาก และประมาทคู่แข่งมากเกินไป
เรื่องนี้เป็นผลทำให้กองทัพปืนไฟของโนบุนากะ ได้พ่ายแพ้ให้กับกองกำลังทหารม้าที่มีจำนวนที่น้อยกว่า ของ “อุเอสึงิ เคนชิน” ในที่สุด
บทสรุปในช่วงบั้นปลายชีวิตของ โอดะ โนบุนากะ คือเขากลายเป็นผู้นำที่ต้องอยู่อย่างหวาดระแวงคนรอบข้าง และเริ่มสูญเสียภาวะความเป็นผู้นำที่เด็ดขาดแบบในอดีตไป
และเมื่อเริ่มขาดซึ่งความเด็ดขาดไป เขาก็ต้องพบกับการทรยศของ นักรบคนสนิท “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” ที่พยายามก่อการกบฏ และพยายามแย่งชิงอำนาจ
สุดท้าย เมื่อ โนบุนากะ รู้ว่าหมดทางสู้เป็นแน่แล้ว
จึงได้ตัดสินใจ ทำการฮาราคีรี หรือ การจบชีวิตด้วยการคว้านท้อง
เป็นอันจบตำนาน ของผู้เริ่มต้นการรวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่น ในยุคเซ็นโกคุ ในที่สุด..
แม้เรื่องราวของ โอดะ โนบุนากะ จะเต็มไปด้วยเรื่องร้ายและดี
แต่สิ่งที่เราน่าจะได้เรียนรู้จากเขาไม่มากก็น้อย
ก็คือ ภาวะความเป็นผู้นำ ที่มีความชัดเจน เด็ดขาด และเป็นคนที่คิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
สำคัญที่สุดคือ การจะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้นั้น
คุณสมบัติที่สำคัญ คือต้องเป็นคนที่ “คิดวางแผนและมีวิสัยทัศน์” อยู่ตลอดเวลา..
References
-หนังสือเรื่อง “โอดะ โนบุนางะ จอมอหังการผู้พลิกประวัติศาสตร์ซามูไร” โดย ภาณุมาศ เมืองพรหม
โฆษณา