Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จีนจับใจ
•
ติดตาม
3 เม.ย. 2021 เวลา 08:07 • ประวัติศาสตร์
เหมียนซานและต้นกำเนิดเทศกาลเชงเม้ง
พรุ่งนี้ (๔ เมษายน) เป็นวันเทศกาลเชงเม้ง หรือ ชิงหมิงเจี๋ย 清明节 ชาวจีนทั้งประเทศและชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกจะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพชนที่สุสานหรือที่บ้าน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษ ที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน
แท้ที่จริงแล้ว ประเพณีเชงเม้งเริ่มต้นจากที่ไหน และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร
รูปปั้นเจี้ยจื่อทุยกับมารดาบนเทือกเขาเหมียนซาน (เจี้ยซาน) อันสูงชันตระหง่าน ภาคกลางของมณฑลซานซี
เทือกเขาเหมียนซาน 绵山 หรือเจี้ยซาน 介山 มีตำนานเรื่องราวเกี่ยวกับกับเจี้ยจื่อทุย 介子推 (? - ถึงปี ๖๓๖ ก่อนคศ.) บุคคลสำคัญที่มีชื่อฝากไว้แก่แผ่นดินจีน ทั้งชื่อของขุนเขา (เจี้ยซาน) ชื่อของอำเภอ (อำเภอเจี้ยซิว) และประเพณีสำคัญของประเทศ (เชงเม้ง) ดังคำกล่าวที่ว่า
“ขุนภูไม่ต้องสูงตระหง่าน ขอมีเซียนสถิตก็เลื่องชื่อ” “山不在高,有仙则名”
และเรื่องราวจิ้นเหวินกง 晋文公 (ปี ๖๙๗-๖๘๒ ก่อนคศ.) เจ้าครองแคว้นจิ้นที่มีชื่อเสียงของซานซี
รูปปั้นเจี้ยจื่อทุยหน้าทางขึ้นภูเขาเหมียนซาน ต้นกำเนิดเทศกาลเชงเม้งและหานสือเจี๋ย
เล่ากันว่าในสมัยชุนชิว จิ้นเสี้ยนกง เจ้าผู้ครองแคว้นจิ้น หลงเสน่ห์เมียน้อยชื่อหลีจี ต้องการให้บุตรของนางขึ้นเป็นรัชทายาท บุตรชายคนที่ ๑ ๒ และ ๓ ของเมียหลวงจึงต้องหนีเอาตัวรอด กลายเป็นเจ้าชายพเนจร เจ้าชายคนที่ ๒ ชื่อ ฉงเอ่อร์ 重耳 หนีหัวซุกหัวซุน เพื่อไปขอความช่วยเหลือยังแคว้นอื่น ๆ
มีครั้งหนึ่งฉงเอ่อร์อดข้าวจนเป็นลม เจี้ยจื่อทุย-อำมาตย์ผู้ซื่อสัตย์ไม่รู้จะไปหาอาหารจากที่ใด จึงยอมเฉือนเนื้อจากต้นขาของตนเองหนึ่งชิ้น จัดการย่างให้สุก แล้วให้ฉงเอ่อร์ทาน บอกว่าเป็นเนื้อกระต่ายป่า ฉงเอ่อร์จึงรอดจากการอดตาย ผ่านไป ๑๙ ปี บุญพาวาสนาส่ง ฉงเอ่อร์ได้เป็นใหญ่ กลับมาครองแคว้นจิ้นของบิดา มีนามว่าจิ้นเหวินกง ได้ตอบแทนคุณผู้เคยจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างถ้วนทั่ว แต่กลับลืมชื่อเจี้ยจื่อทุยไป
ทว่าเจี้ยจื่อทุยไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจ กลับไปอยู่ดูแลมารดาบนภูเขา กระทั่ง เมื่อมีผู้ทักท้วง จิ้นเหวินกงจึงจำได้ รับสั่งให้คนไปติดตามตัวเจี้ยจื่อทุยมาเข้าเฝ้า
2
ภาพสลักตอนหนึ่งของเจี้ยจื่อทุยบนเหมียนซานถูกไฟป่าโหมลุกไหม้ล้อมทุกทิศทาง
จิ้นเหวินกงให้คนไปตามเจี้ยจื่อทุย แต่ด้วยภูเขาเหมียนซานมีความกว้างใหญ่มาก จึงตามหาไม่พบ จิ้นเหวินกงจึงให้จุดไฟเผาไม้บนเขาไว้สามทาง เหลือทางลงเขาไว้ทางเดียว โดยคิดว่าเจี้ยจื่อทุยต้องพามารดาลงมาจากเขาทางนั้นแน่ (เป็นที่น่าแปลกใจยิ่งนักว่า ในเพลานั้นทำไมจิ้นเหวินกงจึงคิดทำเช่นนี้ได้??!!)
ไฟโหมลุกไหม้ป่าอยู่สามวัน ก็ไม่มีวี่แววของเจี้ยจื่อทุย พอเพลิงสงบ ทหารจึงได้ออกค้นหา ก็พบศพของเจี้ยจื่อทุยกับมารดา ถูกไฟครอกตายอยู่ใกล้กับซากต้นหลิวขนาดใหญ่ ยังพบชายเสื้อของเจี้ยจื่อทุย เขียนจดหมายลาตายถึงจิ้นเหวินกงด้วยโลหิต โดยเฉพาะคำว่า “ชิงหมิง” 清明 หรือ “เชงเม้ง” เพื่อเตือนสติจิ้นเหวินกงให้ “สะอาดและโปร่งใส” “เข้าใจอะไรถูกอะไรควร” และเป็นที่มาของคำว่า “เชงเม้ง”
ถ้อยคำนี้มีว่า 割肉奉君尽丹心,但愿主公常清明。 柳下做鬼终不见,强似伴君做谏臣。 倘若主公心有我,忆我亡时常自省。 臣在九泉心无愧,勤致清明复清明.
รูปเคารพอันดับหนึ่งของเจี้ยจื่อทุยบนเทือกเขาเหมียนซาน ที่มีผู้เคารพนับถือมาสักการะไม่ขาดสาย
จิ้นเหวินกงอ่านหนังสือโลหิตของเจี้ยจื่อทุยฉบับนี้ด้วยความโศกสลดยิ่งนัก สั่งการให้ฝังศพสองแม่ลูกของสมเกียรติ ณ ภูเขาเหมียนซาน แล้วให้เปลี่ยนชื่อภูเขาจากเหมียนซานเป็นเจี้ยซาน พร้อมสร้างอารามไว้อาลัยให้เจี้ยจื่อทุย
กำหนดให้วันที่เจี้ยจื่อทุยถูกไฟครอกตายเป็นวันห้ามจุดไฟ ให้ทานอาหารอย่างเย็น ๆ 只吃冷食 พอครบสามปี จิ้นเหวินกงและข้าราชบริพารต่างพากันไปเซ่นไหว้หลุมศพของเจี้ยจื่อทุย ก็พบว่าซากต้นหลิวที่ถูกไฟไหม้กลับแตกหน่อแตกตาออกมาใหม่ จิ้นเหวินกงจึงตั้งชื่อต้นหลิวนี้ว่า ชิงหมิงหลิ่ว 清明柳 หรือต้นหลิวเชงเม้ง พร้อมรับสั่งให้ปวงประชาหลังวันหานสือ 寒食节 (รับประทานของเย็น) เป็นวันชิงหมิง (เชงเม้ง) เพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของเจี้ยจื่อทุยกับมารดา
ภายหลังในสมัยราชวงศ์ฮั่นและถังวันเชงเม้ง และวันหานสือกับชิงหมิงได้รวมเป็นวันเดียว และให้ชาวบ้านเซ่นไหว้บรรพบุรุษของครอบครัว ปัจจุบันชาวบ้านธรรมดาอาจลืมเลือนเรื่องราวของท่านเจี้ยจื่อทุย แต่ยังคงสืบสานประเพณีวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่เรียกกันว่าส่าวมู่ 扫墓 (ทำความสะอาดกวาดสุสาน) หรือกว้าจื่อ 挂纸 (หรือก๊วยจั้ว ในสำเนียงแต้จิ๋ว) เพื่อความกตัญญูรู้คุณของบรรพชน
โตรกผาอันสูงชันของเหมียนซานมีวัดพุทธและอารามเต๋าตั้งอยู่แนบผาหลายแห่ง
ทุกวันนี้ บนโตรกผาอันสูงชันของเทือกเขาเหมียนซานหรือเจี้ยซาน ยังปรากฎสถานที่สำคัญหลายแห่งท่ามกลางภูมิทัศน์อันยิ่งใหญ่ตระการตา เช่น อารามต้าหลัวกง 大罗宫 ตำหนักเซียนที่อยู่ชั้นสูงสุดตามความเชื่อของศาสนาเต๋า สร้างแนบภูผาชันของเหมียนซาน เคยเป็นที่พักของเจี้ยจื่อทุย ภายหลังมีการบูรณะก่อสร้างมาในหลายยุคสมัย และมีรูปเคารพของเจี้ยจื่อทุย
วัดหยุนเฟิงแห่งผาเป้าฟู่ ตั้งอยู่ในทำเลที่สวยงามและน่าหวาดเสียว มีประวัติการสร้างแต่ครั้งยุคสามก๊ก เจริญรุ่งเรืองในสมัยถัง ซ่ง หยวน หมิง จนถึงปัจจุบัน
วัดหยุนเฟิงแห่งผาเป้าฟู่ 云峰寺抱腹岩 มีประวัติการสร้างมาตั้งแต่ยุคสามก๊กอายุกว่า ๑,๗๐๐ ปี สร้างขึ้นไปบนหน้าผาเป้าฟู่ มีความสูง ๖๐ ม. ลึก ๕๐ ม.ยาว ๑๘๐ ม. มีตำหนักสองชั้น เป็นวัดพุทธรวมกับเต๋า ภายในมีวิหารพระไวโรจนะ ตำหนักเง็กเซียนฮ่องเต้ ตำหนักห้ามังกร ฯลฯ ภายในเก็บรักษารูปปั้นเจี้ยจื่อทุยที่ชาวบ้านนับถือมากที่สุด และยังเก็บรักษารูปมังสะกายของพระภิกษุชาวจีนฮั่นคนแรกที่บรรลุพระอรหันต์ ภายในยังเก็บรักษางานจำหลักสมัยราชวงศ์ถัง ซ่ง หยวน หมิง ไว้ได้เป็นจำนวนมาก เป็นต้น
คำนับสุสานรู้คุณบรรพบุรุษ
ที่มาของประเพณีเชงเม้งจึงมีจุดเริ่มต้นจากเจี้ยจื่อทุยและเทือกเขาเหมียนซานในมณฑลซานซีด้วยประการฉะนี้...
6 บันทึก
15
8
6
15
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย