3 เม.ย. 2021 เวลา 14:31 • การศึกษา
บรรณารักษ์มีหลายแบบหลายประเภท มาดูกันว่าเด็กหญิงพิมมี่เป็นบรรณารักษ์ประเภทไหนน้า
สวัสดีค่ะทุก ๆ คน อย่างที่รู้กันว่า เด็กหญิงพิมมี่เป็นบรรณารักษ์ (ต่อจากนี้คงไม่เรียกตัวเองเต็มยศนะคะ แหะ ๆ ยาวเกิ๊น) แต่ที่จั่วหัวมาว่า มีบรรณารักษ์หลายแบบหลายประเภท เอ๊ะ มีแยกประเภทด้วยหรอ แล้วแยกยังไงนะ
คือยังงี้ค่ะ การเรียนในวิชาชีพบรรณารักษ์ จะมีวิชาเฉพาะทางที่บังคับและให้เลือกอยู่หลายตัวเลย เช่น การจัดหมวดหมู่เอกสาร การให้บริการผู้ใช้ การบริหารและจัดการสำนักงาน การทำเว็บไซต์ การสร้างฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศ กฎหมายลิขสิทธิ์และทรัพยสินทางปัญญา สารสนเทศเฉพาะทาง และอื่น ๆ ที่เปิดมามากมาย เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางวิชาชีพบรรณารักษ์ให้ตามทันโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย
ง่าย ๆ ก็คือ เราไม่ได้เรียนไปเพื่อเป็นบรรณารักษ์นั่งเฝ้าหนังสือ ยืมคืน จัดชั้นหนังสือเพียงอย่างเดียวแล้วค่ะ
ซึ่งพิมมี่ก็เรียนวิชาทั้งหมดที่ว่าไปนั้นจนจบหลักสูตร และก็ก้าวเข้าสูวงการบรรณารักษ์ ณ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งห้องสมุดมหาวิทยาลัยนี้มีลักษณะที่แตกต่างไปจากห้องสมุดประเภทอื่น ๆ คือ มีการแบ่งฝ่ายและแผนกงานในห้องสมุดที่ชัดเจน
ฝ่ายบริการ คอยวางแผนคิดบริการที่ตอบสนองผู้ใช้ ดูแลให้คำปรึกษาผู้ใช้งานในการค้นคว้าเพื่อการเรียน การสอน วิจัย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมฝึกอบรมทักษะการค้นคว้าแบบเชิงลึกสำหรับผู้ใช้งาน และอื่น ๆ
ฝ่ายเทคนิค คือผู้ที่ดูแลจัดการอยู่เบื้องหลัง ในการจัดหาข้อมูลและสารสนเทศจากแหล่งที่เค้าผลิต ผ่านกระบวนการจัดเตรียมพร้อมให้บริการ จัดหมวดหมู่ให้สะดวกในการค้นหาและใช้งาน การดูแลรักษาซ่อมแซมเอกสารที่ชำรุด และอื่น ๆ
ฝ่ายสำนักงาน บริหาร นโยบาย แผน เป็นคนดูแลสนับสนุนห้องสมุด เช่น ดูแลบุคลากร (HR) การเบิกจ่ายงบประมาณ ดูแลพัสดุ อาคาร สถานที่ และอื่น ๆ ที่อำนวยความสะดวกต่อการทำงานในห้องสมุด และยังบริหารจัดการนโยบาย แผนการทำงานต่าง ๆ ของห้องสมุด ตรงนี้คนทำงานจะไม่ใช่บรรณารักษ์โดยตรงนะคะ แต่บางห้องสมุดก็จะให้บรรณารักษ์เข้าไปทำงานในส่วนนี้ด้วย เพราะเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง
ฝ่ายไอที ดูแลเรื่องคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับงานห้องสมุด ก็คือพวกระบบห้องสมุดอัตโนมัติ สำหรับค้นหาเอกสารในห้องสมุด เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและแลนที่เชื่อมต่อเพื่อการทำงาน คอมพิวเตอร์ที่ให้บริการในห้องสมุด ตรงนี้ถ้าบรรณารักษ์ที่มีความรู้ด้านไอที ก็สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมนี้ได้เลยนะคะ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์ข้อมูล ข่าวสาร กิจกรรมต่าง ๆ ให้คนในองค์กรและนอกองค์กร มีความสำคัญเพราะว่าห้องสมุดจะอยู่เฉย ๆ รอผู้ใช้มาหาไม่ได้แล้ว เราต้องทำการตลาดและประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้ ตรงนี้บางแห่งอาจทำเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจ หรือแยกเป็นฝ่ายแผนกที่ชัดเจนไปเลย บรรณารักษ์เองก็สามารถเป็นทีมประชาสัมพันธ์ได้ด้วยเช่นกัน
รายละเอียดก็ประมาณนี้ค่ะ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยบางแห่งอาจมีฝ่ายอื่นเพิ่มเติม หรือยุบรวมบางฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน
อ้อ ในห้องสมุดไม่ได้มีแค่บรรณารักษ์เพียงคนเดียว ยังมีผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ เช่น เจ้าหน้าที่ยืมคืน เจ้าหน้าที่ดูแลชั้น นักประชาสัมพันธ์ ผู้ดูแลอุปกรณ์โสตทัศน์โปรแกรมเมอร์ ผู้ดูแลระบบเครือข่าย นักบัญชี HR เจ้าหน้าที่สารบรรณ (ราชการ) และอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมในการทำงานให้ห้องสมุดสามารถเปิดให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
และฝ่ายที่พิมได้ไปอยู่ก็คือ...บริการ นั่นเองค่า
สรุปแล้ว เด็กหญิงพิมมี่คือบรรณารักษ์ประเภทบริการค่ะ หน้าที่รับผิดชอบก็คืออย่างที่พูดไปข้างบนเลย แน่นอนว่าต้องมีอะไรสนุก ๆ มาเล่าสู่กันฟังอีกแน่นอน แต่ขอครั้งหน้านะคะ ยาวไปเดี๋ยวจะอ่านกันตาลาย ฮ่า ๆ
โฆษณา