4 เม.ย. 2021 เวลา 11:30 • ปรัชญา
กลัวที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ หลักคิดแบบ Best / Worst case scenario อาจช่วยได้
มีเรื่องอะไรที่คิดจะทำหรืออยากทำมานานแล้วแต่ไม่ได้ทำซักทีมั๊ยครับ ลองเอาหลักการคิด Best / Worst case scenario มาใช้ แล้วคุณจะได้คำตอบ
เมื่อคืนนี้ผมคิดจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการนำหลักการตัดสินใจด้านการลงทุนมาใช้กับการตัดสินใจในการดำเนินชีวิตจริง แต่เนื่องจากอ่านหนังสือติดลมล่วงเลยเวลาไปจนดึกดื่นเลยขอเอามาเขียนวันนี้แทนครับ
เนื้อหาบางส่วนมาจากหลักการคิดการลงทุนของ Howard Mark CEO ของ Oaktree capital และ Tim Ferris นักธุรกิจสุดแนวครับ
ใครที่เคยทำธุรกิจหรือเคยลงทุนหรืออย่างน้อยเคยได้ยินเรื่องการทำธุรกิจและการลงทุนมาบ้างก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องการนำ Best case scenario (สถานการณ์ดีที่สุดที่อาจเกิดขึ้น) และ Worst case scenario (สถานการณ์แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้น) มาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินกลยุทธ์ หลักคิดก็คือ ในทุกๆการตัดสินใจเราต้องประเมินผลที่จะตามมาจากการตัดสินใจนั้นให้ได้ครอบคลุมครบถ้วนความเป็นไปได้ไม่ว่าจะในด้านบวกหรือด้านลบให้มากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะลงทุนซื้อสินค้าสักอย่างหนึ่งมาขาย Best case ก็อาจจะเป็นเราสามารถขายของได้จนหมดตามราคาที่เราตั้งใจไว้ ส่วน Worst case ก็อาจเป็นไปได้ว่าสินค้าของเราอาจจะไม่สามารถขายได้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว ทำให้เราต้องเสียเงินลงทุนไปทั้งหมด เมื่อเราเปรียบเทียบสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในทั้ง 2 กรณีแล้วหากสถานการณ์ดีที่สุดที่อาจเกิดขึ้นนั้นดีกว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดมากๆ แบบนี้เราก็ควรที่จะตัดสินใจเดินหน้าต่อไปครับ (กรณีนี้ เช่น มีคนออกเงินให้เราไปซื้อสินค้า เราลงแรงขาย เลวร้ายที่สุดเราก็เสียเวลา แต่ถ้าขายได้กำไรเราก็แบ่งกับเจ้าของเงินคนละครึ่ง)
เป็นคอนเซปต์ง่ายๆและไม่ซับซ้อนใช่มั๊ยครับ ใช่แหละ ผมว่าทุกคนเข้าใจแน่ๆ ทีนี้ขออธิบายต่อ ผมพบว่าข้อดีที่สุดก็คือเวลาเราเอาหลักการนี้มาประกอบการตัดสินใจในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆมักจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีเสมอครับ เพราะมันทำให้เรามองเห็นสถานการณ์ตามความเป็นจริงและตัดเอาอารมณ์ซึ่งมักส่งผลให้เราตัดสินใจผิดพลาดออกไป
ทีนี้ถ้าเราเป็นคนที่อยากเริ่มทำอะไรใหม่ๆแต่ยังกลัวที่จะเริ่มต้น ก่อนจะเอาหลักการที่ผมบอกไปใช้ มีข้อเท็จจริงอยู่อีก 2–3 ข้อที่ควรจะระลึกไว้เสมอครับ
ข้อแรก เวลาที่พร้อมไม่มีอยู่จริง ข้อนี้ผมพบว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเริ่มทำอะไรตามที่ตั้งใจซักที ถ้าเราจะเปลี่ยนงาน จะแต่งงาน หรือจะมีลูก แล้วเราต้องรอให้พร้อมก่อน สุดท้ายแล้วเราอาจจะไม่ได้ทำตามที่เราตั้งใจไว้ ถ้าเรื่องนั้นสำคัญต่อเราจริงๆและเราอยากทำ ผมว่า ลงมือทำ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดครับ
ข้อสอง เงินไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง เคยมั๊ยครับที่เราจะบอกตัวเองว่า ถ้าฉันมีเงินพอละก็ฉันจะ……. จริงๆสมัยก่อนผมก็เคยคิดแบบเดียวกัน คิดว่าเก็บเงินให้พร้อมซะก่อนแล้วเดี๋ยวเราก็จะไปทำนั่นทำนี่ แต่สุดท้ายผมพบว่ามันเป็นเพียงข้ออ้างที่เราจะไม่ลงมือทำมากกว่า และถ้ามองว่าต้องเก็บเงินให้ได้มากๆซะก่อนเราจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการไล่ตามมันครับ และนอกจากนี้ถ้าคุณเจอปัญหานี้แสดงว่าสิ่งที่คุณกำลังทำ (เพื่อเงิน) กับสิ่งที่คุณต้องการทำจริงๆนั้นมันกำลังไปคนละทางครับ
ข้อสาม เราไม่จำเป็นต้องรอให้ใครอนุญาต ถ้าเรามีโครงการอะไรใหม่ๆ หรือจะเริ่มทำสิ่งใหม่ๆที่เราไม่เคยทำมาก่อน เรียกว่าอยากจะออกจากคอมฟอร์ตโซนว่างั้น แล้วไปขอความเห็นคนรอบตัว ไม่ว่าจะ เพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง นะครับ ส่วนใหญ่ผมพบว่ามักจะไม่มีใครเห็นด้วย หรือไม่ก็บอกว่า อย่าไปทำเลย เสี่ยง ทำงานไปแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว ถ้าเจอแบบนี้ไม่ต้องเสียกำลังใจ ถ้าสิ่งที่เราทำนั้นไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ลงมือทำได้เลยครับ เพราะถ้าเรากำลังจะเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่ตามมาคือความไม่แน่นอน และเวลาเจอสถานการณ์ที่ผลลัพท์ไม่แน่นอน คนส่วนใหญ่มักจะเลือกที่จะไม่ทำอะไร
ทีนี้ก็ถึงเวลาเอาหลักการ Best / Worst case scenario มาใช้ซะที ไม่ว่าเรากำลังอยากทำอะไร ลองมอง scenarios ทั้งหมดเป็นสเปรคตัมแถบสี จากสีขาวเข้มไปจนถึงดำสนิทนะครับ โดยให้สีขาวมีค่าเท่ากับ 10 แทน Best Case (เราทำอะไรที่เปลี่ยนชีวิตสำเร็จ กลายเป็นคนละคน) ส่วนปลายอีกด้านสีดำมีค่าเท่ากับ 1 แทน Worst case (เราเสียชีวิตหรือพิการ)
ผมยกตัวอย่างยอดฮิต “กำลังเบื่องานคิดจะลาออกจากงานประจำไปทำฟาร์มในต่างจังหวัด”
กรณีนี้ Best case คือ คุณสามารถประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าของฟาร์ม และได้ทำในสิ่งที่รักทุกๆวัน (ค่า แถบสี 10)
ส่วน Worst case ล่ะ แน่นอนว่าคงไม่ใช่เสียชีวิตครับ แต่อาจจะเป็นการไม่ประสบความสำเร็จ และสูญเสียเงินเก็บ ซึ่งกรณีนั้นเราสามารถหาใหม่ได้ หรือใช้เงินลงทุนน้อยในช่วงแรก หรือทดลองเช่าที่ดินและทำควบคู่ไปกับงานประจำก่อนได้ (ค่าแถบสี 4–5)
ทีนี้เมื่อได้ลองคิดดูจริงๆ ผลลัพที่อาจเกิดขึ้นในด้านดีนั้นมากกว่าด้านแย่มากๆ แบบนี้แสดงว่าเราควรที่จะลงมือทำครับ
การจะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆแล้วมี worst case เป็น 10 นี่ผมว่าแทบจะไม่มี ยกเว้นว่าเราตั้งใจจะไปเล่นบันจี้จั้ม กระโดดร่ม หรือทำอะไรที่เสี่ยงจริงๆครับ ท้ายที่สุดแล้วอุปสรรคจริงๆที่ทำให้เราไม่เริ่มต้นทำอะไรซักทีอาจจะเพียงแค่เรากลัวจนให้ค่า worst case ที่น่าจะมีค่าแค่ 4–5 ผิดไปเป็น 9–10 นั่นเองครับ
โฆษณา