5 เม.ย. 2021 เวลา 12:40 • ครอบครัว & เด็ก
“เหตุการณ์ที่เคยเจอ คือครูไม่ได้เข้าใจในอัตลักษณ์ของเรา ทำให้หนูไม่อยากไปโรงเรียน ต้องขอบคุณแม่ที่เข้ามาช่วยและอยู่กับหนูในตอนนั้น สังคมเรายังไม่เปิดกว้างให้เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาเปิดเผยตัวเอง บางครั้งครูเองเป็นคนล้อเลียนเด็กเองด้วยซ้ำ ซึ่งหนูเองก็เคยโดนมาเหมือนกัน”
คำบอกเล่าถึงประสบการณ์จาก ศิริวรรณ พรอินทร์ หรือ “หงส์” เยาวชนหญิงแห่งเอเชีย เธอเล่าถึงความทรงจำที่เจ็บปวดจากการถูกเลือกปฏิบัติจากครูในโรงเรียนเพราะชอบผู้หญิง ในงาน เรื่องเล่าสายรุ้ง We Are Different : A Journey of the Rainbow เพื่อสะท้อนปัญหาความไม่เข้าใจในอัตลักษณ์บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศของคนในสังคม ในโอกาสเปิดตัว “คู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ” ที่จัดทำโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
ศิริวรรณ เล่าว่า สำหรับเธอเองโชคดีที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ เธอมีแม่ 2 คน และช่วงที่เรียนชั้น ม.2 เริ่มรู้สึกชอบผู้หญิง จึงตัดสินใจบอกแม่ และสิ่งที่ได้รับกลับมาคือ แม่ปรบมือดีใจ “แม่ดีใจเพราะว่าเรารู้ตัวแล้วบอกแม่ และเราก็บอกเพื่อนด้วยว่าเราชอบผู้หญิง เพื่อนในกลุ่มก็เข้าใจ เพราะเพื่อนเรามีความหลายหลายมาก มีทั้งชาติพันธุ์ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วเรามารวมกลุ่มกัน คือมีปัญหาอะไรเราก็ช่วยเหลือกัน”
แต่สังคมในโรงเรียน สำหรับเธอมองว่ายังมีความไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่ไม่น้อย แม้จะมีครูและเพื่อนบางคนที่เข้าใจและสนับสนุนไม่เลือกปฏิบัติอยู่ ซึ่งการที่เด็กเจอครูที่เข้าใจส่งผลดีกับเด็กอย่างมาก ครูควรเป็นบุคคลที่เด็กสามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง แต่การที่ครูที่ไม่เข้าใจหรือครูบางคนถึงขั้นนำอัตลักษณ์ของเด็กไปพูดเป็นเรื่องสนุก อาจะทำให้เด็กเกิดแผลในใจเหมือนที่เคยเจอมาก่อน และรู้สึกดีใจที่มีคู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ ซึ่งเธอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเขียนคู่มือเล่มนี้ และมองว่าไม่ใช่แค่ให้ผู้ปกครองอ่าน แต่ครูในโรงเรียนรวมไปถึงตัวเด็กเองก็อ่านได้เหมือนกัน
มัจฉา พรอินทร์ เครือข่ายครอบครัวที่มีลูกหลานหลากหลายเพศ เล่าถึงวันที่น้องหงส์ลูกสาวเข้ามาบอกกับเธอและคู่ชีวิตของเธอว่า “หนูชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง” หากเป็นหลายครอบครัวอาจกังวล เพราะยังมีอคติต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่ แต่เธอและคู่ชีวิตได้เปิดพื้นที่ให้ลูกสามารถพูดคุยได้อย่างเปิดใจทุกเรื่อง
“จังหวะที่ลูกเดินเข้ามาบอกคือ ตอนเขาอยู่ ม.2 ซึ่งตอนนี้ลูกสาวอยู่ ม.6 กำลังจะเรียนจบ ครอบครัวเราจะพูดเรื่องเพศกันเป็นปกติ เราสอนว่าเรื่องเพศพูดได้ เรื่องเพศสามารถเข้ามาได้ทุกๆ ช่วงในบทสนทนา ลูกก็พูดขึ้นมาว่า แม่หนูว่าหนูชอบผู้หญิง เราดีใจที่ลูกอายุเท่านี้สามารถรู้ตัวเองได้แล้วว่าเป็นอะไร ชอบใคร เราทั้งคู่ทำให้ลูกได้เห็นรูปแบบความรัก ความสัมพันธ์ ความอบอุ่นที่นอกเหนือจากหญิงและชาย ตามบรรทัดฐานที่สังคมอยากให้เป็น หลังจากนี้ไปไม่ว่าลูกจะเผชิญกับอะไรนอกบ้าน ให้ลูกรู้ไว้ว่าบ้านเราแม่จะไม่มีทางเลือกปฏิบัติ ไม่บังคับให้หนูเป็นในสิ่งที่สังคมอยากให้เป็น และหนูจะได้รับการสนับสนุนให้เป็นตัวของตัวเองแน่นอน ที่สำคัญเราพยายามต่อสู้ให้กับทุกครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ และทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านสิทธิและความหลากหลายทางเพศ และเป็น NGO ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานกับเด็กกลุ่มเปราะบาง เราก็พบว่า มีการเลือกปฏิบัติในสถานศึกษา และจากรายงานของยูเนสโก พบว่าเด็กที่เป็น LGBT ไม่มีกลไกการปกป้องในโรงเรียน มันส่งผลต่อความรู้สึกปลอดภัย ความมั่นคง และโอกาสของเขาอย่างมาก ซึ่งมองว่าแต่ละครอบครัวควรจะหาเครื่องมือ หรือวิธีการในการพูดคุยสื่อสารในพื้นที่ที่รับฟังกันด้วยหัวใจ คู่มือเล่มนี้ที่จะช่วยทลายกำแพงอคติทางเพศก็ได้” มัจฉา กล่าว
อย่างไรก็ตามพื้นฐานของพ่อแม่ที่ยังกังวลเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของลูก คือความกังวลว่าลูกต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก และพ่อแม่ก็จะถูกสังคมมองว่าเลี้ยงลูกไม่ดี เลี้ยงลูกให้อยู่ในกรอบของสังคมไม่ได้ ทำให้พ่อแม่มักจะยอมรับไม่ได้ และใช้คำว่าปรารถนาดีแล้วบอกว่ายังไม่ถึงวัยของเขา ซึ่งจริงๆ เรื่องเพศ มันสามารถพูดได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และการที่ครอบครัวเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจริง แต่อย่าลืมว่าเด็กใช้เวลาอยู่ในโรงเรียน 8 ชั่วโมง ใช้ชีวิตในสังคมภายนอกอีกไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง อยู่บ้านเฉพาะช่วงเวลานอน หรือ เสาร์-อาทิตย์ ชีวิตของเด็กก็จะมีสังคมของเขาเอง มีเพื่อน โรงเรียน และกิจกรรมที่เขาสนใจ ทำให้เรามีความกังวลใจไม่น้อยว่า ถ้าไปโรงเรียน ครูที่ไม่มีความเข้าใจก็อาจจะเลือกปฏิบัติกับลูกได้ ดังนั้นพ่อแม่ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของลูก ว่าจะสามารถเอาตัวรอดในสภาพสังคมแบบนี้ ไม่สร้างความกลัวให้เขา เพื่อให้เขาเกิดการเรียนรู้ และพาตัวเองออกสู่โลกกว้างและรับมือได้
นพ.เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic ) โรงพยาบาลรามาธิบดี ดูแลคนไข้ในมุมความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นหลัก พบว่าครอบครัวเป็นทั้งปัจจัยเกื้อหนุนและเป็นปัจจัยที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพทั้งกายใจ ไม่ว่าจะเป็นคู่ครองหรือพ่อแม่ การที่เด็กจะเปิดเผยอัตลักษณ์ความหลากหลายทางเพศกับพ่อแม่ เขาต้องใช้ความกล้าและต้องคิดเรื่องผลลัพธ์ที่ตามมา ส่วนใหญ่ที่เจอคือพ่อแม่รับไม่ได้ การเปิดเผยอัตลักษณ์ ของแต่ละคนมีปัจจัยต่างกัน ทั้งศาสนา วัฒนธรรม ถ้าครอบครัวยอมรับก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น
“จากการรับฟังและสื่อสารกับทั้ง 2 ฝั่งที่เข้ามาขอรับคำปรึกษา พบ คำถามว่าลูกเป็นแบบนี้ เป็นคนข้ามเพศ ป่วยไหม ต้องรักษาไหม ซึ่งความหลากหลายทางเพศเป็นมิติหนึ่งของมนุษย์ เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่โรค ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปเปลี่ยน ไม่ต้องหาคำตอบว่าทำไมถึงเป็น ทางการแพทย์ทั่วโลกจะไม่ทำกัน เราต่อต้านการพยายามเปลี่ยนแปลงลักษณะอัตลักษณ์บุคคล เราเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีความรักลูกในแบบของตัวเอง แต่แค่ขาดความเข้าใจ และมีความกังวลว่าลูกจะเป็นอย่างไร อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร จะมีลูกหรือเปล่า แก่ไปใครจะเลี้ยง พอเราเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่กังวล เราก็จะค่อยๆ สร้างความเข้าใจกับเขาทีละประเด็น เช่น เรื่องการแต่งงาน จริงๆ ไม่ได้เป็นที่ตัวคน แต่เป็นเพราะกฎหมาย เป็นปัญหาที่โครงสร้างสังคม ถ้าจะแก้ต้องไปแก้ที่โครงสร้าง ไม่ใช่แก้ที่ตัวคน” นพ.เบญทวิช กล่าว
สำหรับคู่มือเล่มนี้ทีมงานพยายามคัดสรรเรียบเรียง เพื่อไม่ให้เป็นหนังสือที่วิชาการเกินไป อ่านง่าย แต่แทรกสาระความรู้ มีความทันสมัยและสากล ในแต่ละบทเรียบเรียงให้เห็นเส้นทางสายรุ้ง ในหนังสือจะค่อย ๆ ร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ และคอยปรับทัศนคติมุมมองต่างๆ ให้เกิดการเปิดใจรับฟังมากขึ้น เชื่อว่าเด็กต้องการแค่การรับฟัง
ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่าทางบ้านไม่เคยถามเลยว่าเราเป็นเพศอะไร แต่ไปโรงเรียนเราพบผู้บริหารโรงเรียนขึ้นมาพูดใช้คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศชายเป็นหญิง” ให้ครูจดชื่อ คุมประพฤติ เป็นความเลวร้ายที่เจอนอกบ้าน และเคยถูกเพื่อนหัวเราะใส่หน้าเสาธง เป็นประสบการณ์เลวร้ายในชีวิต เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ที่เกิดจากการที่เราเรียนรู้กันเพื่อที่จะเข้าใจกันด้วยความรัก มันจะกระจายและขยายไป ด้วยคำถามที่ว่าสังคมเราสนใจที่จะเข้าใจกันมากแค่ไหน เราอยากให้คู่มือเล่มนี้ไปถึงทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้มีความหลากหลายทางเพศ ครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง เพราะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้เข้ามาพูดคุยกับเรา
ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ ทำงานเชิงรุกร่วมกับ สสส. มานาน 2 ปี เพื่อถอดบทเรียนและประสบการณ์ดูแลเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ คู่มือฉบับนี้นอกจากแบ่งปันความรู้เรื่องสุขภาวะ ยังสะท้อนมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรม ผ่านการสะท้อนเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาสุขภาพ และเป็นคู่มือฉบับแรก ๆ ของไทย จากการสานพลังกับภาคีเครือข่ายครอบครัว เด็ก-เยาวชน สถาบันการศึกษาที่สนใจขับเคลื่อนความเข้มแข็งเรื่องเพศทางเลือก ที่จะใช้เป็นองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาในครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายทางเพศ
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.เป็นหน่วยงานที่เห็นความสำคัญต่อความกังวลของพ่อแม่ที่มีลูกข้ามเพศ จากการสำรวจพบว่าพ่อแม่ที่มีลูกหลากหลายทางเพศ มีความกังวลใจในการเปิดเผยตัวตนของลูก ว่าจะถูกรังแกที่โรงเรียน จะถูกปฏิเสธทำงาน หรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจะส่งผลกระทบอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาวะทั้งสิ้น และการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพเป็นหน้าที่ของเราโดยตรง ความไม่เข้าใจกัน การไม่เปิดใจรับฟัง หรือการมีอคติทางเพศต่อกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ สสส. พยายามจะทลายกำแพงและเกิดเป็นหน่วยงาน ที่เข้ามามีบทบาทในการเสริมช่องว่างและเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกัน
“ความรู้ที่เกิดขึ้นในคู่มือไม่ใช่เพียงศาสตร์เดียว การแพทย์อย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่เป็นศิลปะในการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว คู่มือนี้มีความรู้แบบสหศาสตร์ ในการสร้างความเข้าใจ สสส. หวังว่า คู่มือเล่มนี้จะเป็นก้าวแรก และเป็นเพื่อนของพ่อแม่ ที่จะต้องพูดคุยกับลูกในอนาคต” ภรณี กล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถอ่านคู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศทางออนไลน์ที่ http://online.anyflip.com/slmrr/cjaj/mobile/index.html
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
โฆษณา