7 เม.ย. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
อบรมให้รู้จักอาย สั่งสอนให้เป็นคนจริง
คนรุ่นผมเติบโตในสภาพแวดล้อมที่สอนให้รักษาสัจจะ ในยุคที่ลูกเสือท่องคติพจน์ประจำใจว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” จดจำฝังหัวไว้แต่เด็ก ยากจะทำใจรับหลักการตลาด ‘สักแต่สัญญา’
ในยุคนั้นนิทานต่าง ๆ ที่เราอ่านเน้นเรื่องความซื่อสัตย์และการรักษาสัจจะ เช่น เรื่องแม่ที่ไม่ยอมโกงโดยซื้อตั๋วรถไฟครึ่งราคาให้ลูกชายที่เพิ่งพ้นวัยลดครึ่งราคามาได้เพียงวันเดียว ในนวนิยายบู๊ที่ตัวละครเป็นโจรปล้นสะดม ‘อ้ายเสือเอาวา’ ก็เป็นโจรที่รักษาสัจจะ ว่าคำไหนคำนั้น ต่อให้เป็นโจรก็เป็น ‘คนจริง’
1
รู้ว่านี่เป็นเรื่องแต่ง! แต่ในชีวิตจริง พวกนักเลงก็รักษาคำพูด ในยุคนั้นคำว่า ‘นักเลง’ ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบเหมือนในสมัยนี้ นักเลงไม่ใช่อันธพาล นักเลงอาจเป็นพวกหัวไม้ชอบต่อยตี แต่ไม่รังแกคนอ่อนแอกว่า ที่สำคัญคือนักเลงรักษาคำพูดหรือ ‘สัญญาสุภาพบุรุษ’ และเป็น ‘คนจริง’
คำว่า สัญญาสุภาพบุรุษ มีความหมายมากกว่าสัญญาทางกฎหมายใด ๆ เพราะมันประทับตราศักดิ์ศรีของความเป็นคน การผิดสัญญาเป็นเรื่องน่าละอายอย่างหาที่เปรียบมิได้
2
สัจจะเป็นสิ่งเดียวที่คนจนคนรวยมีสิทธิเท่ากัน มันมีค่ายิ่งกว่าเงินทอง มันเป็นเครดิต ความเชื่อถือ และมันจะถูกทำลายทันทีที่เสียสัจจะเพียงครั้งเดียว
1
ส่วนคนจริงคือคนที่อายเป็น!
1
.
ปัญหาต่าง ๆ ในบ้านเมืองเราเกี่ยวข้องกับคำว่าความซื่อสัตย์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มองไปรอบตัวเราในสังคมปัจจุบัน หาผู้ที่เรียกว่า ‘คนจริง’ ยากเต็มที
ค่านิยมของเราสอนเด็กให้ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ความสุขและความสำเร็จ (ซึ่งวัดด้วยเงินตรา) มิใช่ตั้งเป้าหมายที่คุณภาพของคนและคุณภาพชีวิต ผลก็คือเราเป็นสังคมที่มีกฎหมายมาตราต่าง ๆ นับไม่ถ้วน มีตำรวจมากมาย มีทนายความล้นเมือง
1
สังคมที่มีตำรวจกับทนายความมาก สะท้อนว่าเป็นสังคมที่มีคนไม่ซื่อสัตย์จำนวนมาก เพราะถ้าคนรักษาสัญญาเสียอย่างเดียว กฎหมายอะไรก็ไม่จำเป็น เพราะผูกพันกันด้วยสัญญาสุภาพบุรุษ
4
สังคมซึ่งการเก็บเงินที่คนลืมทิ้งในรถแท็กซี่เป็นข่าวและต้องประกาศเกียรติคุณสะท้อนสังคมที่ขาดแคลนความซื่อสัตย์และความดี เพราะเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นน้อยมาก
2
การสั่งสอนเด็กรุ่นใหม่จึงไม่อาจให้เฉพาะความรู้ ต้องรวมจริยธรรม-ความซื่อสัตย์เข้าไปด้วย สอนเด็กว่า ก่อนให้สัญญาอะไรกับใคร คิดก่อนว่าจะทำได้จริงไหม และจะทำจริง ๆ ไหม เพราะความซื่อสัตย์มีค่าเหนือกว่าความรู้เสียอีก เพราะสังคมที่คนไม่มีความรู้อย่างมากก็แค่ล้าหลัง แต่สังคมที่มีแต่คนโกง พังอย่างเดียว
6
ปราศจากจริยธรรม ต่อให้มีความรู้หรือปริญญากี่ใบ ก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้ค่า และท้ายที่สุดผู้ใหญ่เหล่านี้ก็สร้างสังคมที่ไร้ค่า ต่อให้บ้านเมืองเจริญทางวัตถุเท่าใด ก็เป็นสังคมที่กลวงเปล่าที่เราคงไม่อยากให้ลูกหลานของเราเป็นส่วนหนึ่งของมัน
4
คนโบราณใช้คำว่า ‘อบรมสั่งสอน’
อบรมจริยธรรม สั่งสอนความรู้
อบรมให้รู้จักอาย สั่งสอนให้เป็นคนจริง
1
.
นิทานเรื่องหนึ่งเล่าว่า หัวหน้าเผ่าคนหนึ่งรู้ว่าตนเองแก่แล้ว หมดกำลังวังชาลงไปเรื่อย ๆ เขาต้องการหาคนมาสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าต่อจากเขา เขาจึงคัดลูกน้องที่มีแววห้าคน มอบเมล็ดพืชให้คนละเมล็ด บอกว่า
“นี่เป็นพันธุ์พืชที่ปลูกยากมาก จงเอาเมล็ดพันธุ์นี้ไปเพาะ ให้เวลาหนึ่งปี ใครปลูกได้ต้นใหญ่ที่สุดแสดงว่ามีความสามารถเป็นผู้นำเผ่าได้ และจะได้เป็นหัวหน้าต่อจากเรา”
1
ผ่านไปหนึ่งปี ลูกน้องแต่ละคนก็นำพืชที่ปลูกในกระถางมาให้หัวหน้าดู แต่ละต้นใหญ่ สมบูรณ์
หัวหน้าชราตรวจดูต้นไม้เหล่านั้น ในที่สุดก็หยุดที่กระถางใบหนึ่ง มันเป็นกระถางเปล่า มีแต่ดิน ไม่มีต้นไม้ หัวหน้าถามว่า “นี่เป็นของใคร?”
ชายหนุ่มคนหนึ่งตอบว่า “เป็นของข้าฯ”
“ทำไมจึงปลูกไม่ขึ้น? เจ้าไม่ได้รดน้ำพรวนดินรึ?”
“ข้าฯรดน้ำพรวนดิน ให้มันรับแสงแดดทุกวัน แต่มันก็ไม่ยอมแตกหน่อผลิใบ ข้าฯจนปัญญา ข้าฯไม่มีความสามารถปลูกต้นไม้ชนิดนี้จริง ๆ”
2
หัวหน้าชราบอกชายหนุ่มคนนั้นว่า “เรามิได้ต้องการคนที่ปลูกต้นไม้เก่งมาเป็นหัวหน้าเผ่า เราต้องการคนซื่อสัตย์ต่างหาก เมล็ดพืชที่เราให้ทุกคนไปนั้นเป็นเมล็ดตาย ปลูกอย่างไรก็ไม่มีทางขึ้น เจ้าเป็นคนซื่อสัตย์ จึงสมควรเป็นหัวหน้าคนใหม่”
4
.
โฆษณา