5 เม.ย. 2021 เวลา 10:24 • ความงาม
เคยไหมคะ ที่ระหว่างการสระผม หรือหลังสระผม เกิดการระคายเคืองที่หนังศีรษะขึ้นมา เกิดการคัน แสบ แดง หรือแม้แต่มีผมหลุดร่วงมากขึ้น หลายๆ ท่านอาจกำลังสงสัยว่า เป็นการแพ้แชมพูสระผมหรือไม่ แล้วการแพ้แชมพูนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีการดูแล ป้องกันอย่างไรบ้าง สำหรับวันนี้ ทาง Maeyingpharmacy (แม่หญิงฟาร์มาซี) มีคำตอบให้กับทุกท่านค่ะ
การแพ้แชมพูสระผม คืออะไร?
การแพ้แชมพูสระผม เป็นอาการแพ้สารเคมีที่อยู่ในยาสระผม ทำให้หนังศีรษะเกิดการระคายเคืองตามมาได้ ซึ่งสารเคมีที่อยู่ในแชมพู มักมีส่วนผสมของ สารทำความสะอาดที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ในบางราย เช่น สาร Sodium Lauryl Sulfate (SLS) / Sodium Laureth Sulfate (SLES) น้ำหอม สารกันเสีย ซิลิโคน หรือสารเคมีอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ โดยสารเคมีเหล่านั้นไปทำลายสมดุลของหนังศีรษะ ทำให้หนังศีรษะแห้ง ระคายเคือง ผมบาง ผมร่วง ตามมาได้ เช่น Cocamidopropyl betaine, methylchloroisothiazolinone, formaldehyde-releasing preservatives, propylene glycol, Vitamin E (tocopherol), parabens และ benzophenones.
ซึ่งในบางรายนั้นพบว่า อาจเกิดการระคายเคืองบริเวณอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หน้าผาก คิ้ว ดวงตา ใบหน้า ใบหู ลำคอ ท้ายทอย รวมถึงบริเวณอื่นๆที่ได้รับการสัมผัสด้วยแชมพูสระผมที่แพ้
อาการแพ้แชมพูเป็นแบบกันไหนนะ?
อาการแสดงก็จะมีความแตกต่างกัน คือมักแสดงออก ดังนี้
1.หนังศีรษะ หน้าผาก คิ้ว ดวงตา ใบหน้า ใบหู ลำคอ ท้ายทอย รวมถึงบริเวณอื่นๆที่ได้รับการสัมผัสด้วยแชมพูสระผมที่แพ้ มีอาการแสบ คัน และมีรอยแดง
2.หนังศีรษะแห้ง
3.เกิดแผลพุพองที่หนังศีรษะ
4.เกิดสิวอุดตัน สิวผดเกิดขึ้น เนื่องมาจากแชมพูนั้น มีส่วนประกอบของซิลิโคนทำให้อุดตันรูขุมขนได้ โดยบริเวณที่พบบ่อย ก็คือ บริเวณหน้าผาก ไรผม ข้างแก้ม และขากรรไกรได้
5.มีอาการบวมที่เปลือกตา ใบหน้า
6.รังแค ผมบาง ผมร่วง
จริงๆ แล้วนอกจากแชมพูสระผมแล้ว อาการเหล่านี้ ยังเกิดได้จากปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพอากาศ ความเครียดของร่างกายและจิตใจ สารเคมีอื่นๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิวต้องสัมผัส เช่น เครื่องสำอาง สเปรย์ฉีดผม รวมถึงยาบางประเภท การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน การแพ้อาหาร เป็นต้น แต่วิธีสังเกตสาเหตุ คือ หากมีการเปลี่ยนน้ำยาสระผมแล้ว อาการเหล่านี้ เกิดภายในระยะเวลา 24 – 48 ชั่วโมง โดยบางรายอาจเกิดอย่างช้าคือ 1 สัปดาห์ แสดงว่ามีแนวโน้มสูงมากที่จะเกิดการแพ้จากแชมพูสระผมนั่นเอง โดยหากสังเกตอาการแล้วพบว่ามีอาการอื่นๆ ที่รุนแรง ขอแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชียวชาญนะคะ
แพ้แชมพูสระผม ทำอย่างไรดี?
1.หากมีอาการระคายเคืองเกิดขึ้นทันที เช่น อาการคัน หรือมีอาการแสบร้อน ขอแนะนำให้รีบล้างแชมพูสระผมออกด้วยน้ำสะอาดทันที รวมถึงบริเวณอื่นๆ ที่สัมผัสกับแชมพูให้สะอาดด้วย
2.หยุดใช้แชมพูที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ในช่วงแรกอาจเลือกใช้แชมพูสระผมเด็กที่อ่อนโยน
3.กลับไปใช้แชมพูเดิมที่เคยใช้แล้วไม่พบอาการระคายเคือง หรือเลือกแชมพูสูตรใหม่ที่ปราศจากสารเคมีที่อาจก่อการระคายเคืองได้ โดยสารทำความสะอาดที่ก่อการระคายเคือง เช่น Sodium Lauryl Sulfate (SLS) / Sodium Laureth Sulfate (SLES) รวมทั้งควรเลือกสูตร 0% Paraben, Formaldehyde, Silicone และน้ำหอม เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้มีข้อมูลว่าทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ในผู้ใช้บางราย ดังนั้นเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการระคายเคืองควรเลือกสูตรที่แนะนำนะคะ
4.อย่าลืมล้างฟองออกให้หมดทุกครั้งที่สระผม
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
1.ก่อนการเลือกแชมพูสระผมที่เหมาะสม แนะนำให้ดูส่วนประกอบของสูตร (ส่วนประกอบในแชมพูมักมีสาร 10 – 30 สาร ซึ่งสารที่มีโอกาสเกิดการระคายเคืองก็ตามที่เขียนข้างต้นนะคะ) และควรทดสอบอาการแพ้ก่อนการใช้ โดยการทดสอบมีหลายวิธี แต่วิธีง่ายๆที่แนะนำคือ การทาสารนั้นที่ใบหูทุกวันติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 วัน
2.สำหรับท่านที่ไม่เกิดอาการระคายเคืองที่หนังศีรษะและมีความชื่นชอบแชมพูสระผมที่ใช้มาก แต่พบปัญหา คือ มีสิวอุดตัน สิวผด เกิดขึ้นบริเวณหน้าผาก ไรผม ข้างแก้ม และขากรรไกร แนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิธีการสระผม คือ ระมัดระวังไม่ให้แชมพูสระผม ถูกบริเวณดังกล่าว เช่น อาจลองก้มหัวสระผม แล้วล้างผมให้สะอาด
3.หากมีอาการรุนแรง หรือมีความกังวลเป็นอย่างมาก แนะนำให้รีบไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาและทำการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไปนะคะ
เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับบทความนี้ ทาง Maeyingpharmacy (แม่หญิงฟาร์มาซี) หวังว่าหลังจากทุกท่านได้อ่านบทความนี้แล้วน่าจะทำให้ทุกท่านทราบอาการ การดูแลหลังจากเกิดการแพ้แชมพูสระผม หรือการเลือกแชมพูเบื้องต้นกันแล้วใช่ไหมคะ ครั้งหน้าจะนำบทความเกี่ยวกับวิตามินบำรุงผมมาฝากทุกท่านนะคะ พบกันใหม่บทความหน้าค่ะ ดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ
เอกสารอ้างอิง
1.Trüeb RM. Shampoo. Ther Umsch. 2002;59:256–61.
2.Trüeb RM. Shampoos: Composition and clinical applications. Hautarzt. 1998;49:895–901.
โฆษณา