Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
War Studies ศึกษาเรื่องสงคราม
•
ติดตาม
18 เม.ย. 2021 เวลา 08:22 • การเมือง
Sad reality! ประชาชนพม่าไม่มีทางชนะกองทัพได้.....
แม้ประชาชนพม่าจะกล้าหาญสักเพียงใด และได้รับเสียงสนับสนุนจากนานาชาติรวมถึงกลุ่มกบฎชาติพันธ์ุอย่างล้นหลาม แต่ก็แทบไม่มีหวังที่จะโค่นรัฐบาลทหารได้.....
(Source: Council on Foreign Relations)
เหตุผลหลักๆมีอยู่ 4 ข้อ......
ข้อแรกคือ กลุ่มผู้ประท้วงไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากต่างประเทศ
การคว่ำบาตรของอเมริกาและชาติตะวันตก ได้ผลน้อยมาก เพราะว่าชาติเหล่านี้ไม่ได้มี leverage หรืออำนาจต่อรองเหนือทหารพม่า
ขอยกอเมริกาเป็นตัวอย่าง...นายพลมินอ่องหล่ายและผู้นำทหารพม่าหลายคนโดนอเมริกาคว่ำบาตรอย่างหนักตั้งแต่ปี 2019 แล้ว ด้วยข้อหามีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา แต่ก็ไม่เวิร์ค เหล่านายพลยังอยู่ดีกินดีเพราะไม่ได้พึ่งพิงเมกาอยู่ในด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว
มาถึงรัฐประหารปี 2021...จะให้อเมริกา "ลงโทษ" พม่าเพิ่มอย่างไร จะให้ยกเลิกการฝึกซ้อมรบร่วมหรือการขายอาวุธ (แบบที่ทำกับไทยเมื่อปี 2014) ก็ไม่ได้ เพราะความร่วมมือทางทหารระหว่างอเมริกาและพม่าแทบจะไม่มีอยู่เลย
แล้ว....เข้าไปแทรกแซงโดยตรงเหมือนกรณีลิเบียไม่ได้หรือ ไปด้วยหลักการ "แทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม" (humanitarian intervention) สิ
ความกังวลเรื่องมนุษยธรรมเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเข้าไปแทรกแซงโดยตรงแน่ ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์ ใครจะลงทุนลงแรงเข้าไปแทรกแซง?
รวมๆคืออเมริกาและเดอะแกงค์ที่ไม่มีอิทธิพลและผลประโยชน์ในพม่ามากพอ ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการแถลงประณามและประกาศคว่ำบาตร
UN ก็ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะโดนจีน (ผู้เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของพม่า) และรัสเซียขัดตลอด
อาเซียนก็แตกแถว ไม่พูดเป็นเสียงเดียวกัน....จากประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด มีแค่อินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่ผลักดันให้อาเซียนออกมาตรการลงโทษรัฐบาลทหารพม่าอย่างเด็ดขาด สิงคโปร์ออกมาประณามทหารพม่าแต่ก็ไม่ได้ take action จริงจัง ฟิลิปปินส์และกัมพูชาก็เงียบ ไทย-ลาว-เวียดนามเงียบแต่ส่งตัวแทนไปร่วมงานสวนสนามวันกองทัพพม่า ส่วนบรูไนที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ก็ได้แต่พยายามดึงทุกฝ่ายมานั่งเจรจากัน
ข้อสองคือ การรวมตัวของกลุ่มกบฎชาติพันธ์ุ ให้มีความสามัคคีและยั่งยืนพอที่จะต่อกรกับกองทัพพม่า เป็นไปได้ยากมากกก
กลุ่มกบฎชาติพันธ์ุติดอาวุธในพม่า มีจำนวนมาก แต่ละกลุ่มมีแนวคิดและผลประโยชน์ที่ต่างกันไป
เคยมีความพยายามที่จะดึงกลุ่มต่างๆ รวมตัวเป็น "กองทัพสหพันธรัฐ" (federal army) เพื่อต่อกรกับรัฐบาลทหารแล้วในช่วงต้นยุค 90s แต่สุดท้ายก็ไม่เวิร์ค
ไม่ต้องดูทั้งประเทศนะ แค่ในรัฐเดียวยังมีความขัดแย้งภายในเลย
ตัวอย่างที่เห็นชัดๆก็คือรัฐฉาน จะได้ยินข่าวการปะทะกันระหว่างกลุ่ม "สภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน/กองทัพรัฐฉาน" (RCSS/SSA) ผู้คุมไทใหญ่ใต้ และ "กองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน" (SSPP/SSA) ผู้คุมไทใหญ่เหนือ อยู่บ่อยๆ
กลุ่มชาติพันธ์ุกะเหรี่ยงก็ไม่สามัคคี มีทั้งกองทัพปลดปล่อยที่ขึ้นตรงกับ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) มีทั้งกลุ่มอิสระ และกลุ่มที่ไปเข้าร่วมกับกองทัพพม่า (BGF)
ข้อสามคือ ไม่ใช่แค่ฝั่งประชาชนที่ตั้งหน้าตั้งตาสู้ ฝ่ายทหารก็ไม่ยอมแพ้เหมือนกัน
กองทัพพม่า ที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "ทัดมาดอว์" (Tatmadaw) เชื่อว่าทหารเป็นผู้สร้างชาติและเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นชาติของพม่า กองทัพพม่าก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1941 ในชื่อ "กองทัพกู้ชาติพม่า" และเป็นกลุ่มที่ปลดปล่อยพม่าจากอาณานิคมของอังกฤษ ภายหลังเอกราช กองทัพพม่าก็เข้ามาจัดระเบียบสังคมใหม่ในทุกด้าน พูดอีกแง่ก็คือ กองทัพพม่ามีอายุมากกว่ารัฐพม่าสมัยใหม่เสียอีก
ทัดมาดอว์ต้องฝ่าฟันกับวิกฤตมากมาย ทั้งการสู้รบกับกลุ่มคอมมิวนิสต์และกบฎชนกลุ่มน้อย ไหนจะการโดนนานาชาติคว่ำบาตรอย่างยาวนานในยุค 1990s อีก...การที่ถูกล้อมรอบโดยศัตรูและต้องสู้รบอย่างยาวนานทำให้กองทัพพม่าชินกับการใช้ความรุนแรง และการที่กองทัพสามารถ "ชนะ" ทุกศึกและอยู่รอดปลอดภัยอย่างแข็งแกร่งมาถึงปัจจุบัน ทำให้กองทัพมีความมั่นใจในตัวเองสูง
พูดสั้นๆคือ กองทัพพม่าไม่มีทางอ่อนข้อให้ฝ่ายประชาชนแน่ และไม่แคร์ด้วยว่าต่างชาติจะคิดยังไง ต้องสู้กันจนเละไปข้างหนึ่ง
ข้อสุดท้ายคือ ความเหนือกว่าของอาวุธยุทโธปกรณ์
ทัดมาดอว์ภายใต้การนำของมินอ่องหล่าย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับความสามารถของกองกำลังทหารเป็นอย่างมาก ทั้งกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ และสรรหาอาวุธทันสมัยจากต่างประเทศ โดยประเทศที่ขายอาวุธให้ทัดมาดอว์มี จีน รัสเซีย และอินเดีย เป็นหลัก
1
ปัจจุบันทัดมาดอว์มีทั้ง ขีปนาวุธ เครื่องบินขับไล่ รถหุ้มเกราะจำนวนมาก และ เรือดำน้ำ
การมีเรือดำน้ำ และการพัฒนาทัพเรือในภาพรวม เน้นให้เห็นถึงศักยภาพของพม่าในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ย้อนกลับไปซัก 10 กว่าปีก่อน พม่ามีเรือแค่หยิบมือเดียวและขาดการฝึกซ้อมที่มีคุณภาพ ต่างกับในปัจจุบันที่มีทั้งเรือดำน้ำ (1 ลำจากอินเดีย) เรือฟริเกต (4 ลำ โดยที่ 2 ลำเป็นเรือฟริเกต Jianghu-II จากจีน และอีก 2 ลำต่อเอง) เรือยกพลขึ้นบก LPD และเริ่มมีการฝึกซ้อมรบร่วมกับอินเดีย จีน และชาติในอาเซียน
ถ้าเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น และฝ่ายทหาร "ใช้อาวุธหนัก" แบบเต็มที่ ฝ่ายประชาชนจะเอาอะไรไปสู้?
Reference List:
CSIS. “Myanmar’s Military Seizes Power”. Published February 1, 2021.
https://www.csis.org/analysis/myanmars-military-seizes-power
.
Ebbighausen, Rodion. “Myanmar coup: ASEAN split over the way forward”. DW News. Published March 29, 2021.
https://www.dw.com/en/myanmar-coup-asean-ties/a-57042503
Ebbighausen, Rodion. “Opinion: Naive optimism threatens Myanmar protest movement”. DW News. Published April 2, 2021.
https://www.dw.com/en/opinion-naive-optimism-threatens-myanmar-protest-movement/a-57085509
Komchaluek. “พม่ามืดมน'ทัพสหพันธรัฐ'ฝันไม่เป็นจริง”. Published March 20, 2021.
https://www.komchadluek.net/news/scoop/461595
Rahman, Mohammad Rubaiyat. “What Myanmar’s New Amphibious Ship Says About Its Naval Ambitions”. Diplomat. Published November 9, 2019.
https://thediplomat.com/2019/11/what-myanmars-new-amphibious-ship-says-about-its-naval-ambitions/
Selth, Andrew. “Myanmar: pariah status no bar to defence modernisation”. Lowy Institute. Published May 7, 2019.
https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/myanmar-pariah-status-no-bar-defence-modernisation
1 บันทึก
2
6
1
2
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย