17 เม.ย. 2021 เวลา 09:44 • การศึกษา
วาจาอันเป็นที่รัก
การพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญมากในชีวิตประจำวัน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องพบเจอกับคนอื่น ๆ การพูดเป็นการสื่อสารที่รับรู้ได้รวดเร็ว และเข้าใจง่าย ตรงประเด็นที่สุด ถ่ายทอดข้อมูลได้มากที่สุด อาจจะเป็นการพูดกันต่อหน้า หรือ ผ่านทางเครื่องมือสื่อสารก็เป็นการสื่อความได้ชัด ตรง รวดเร็วที่สุด
การพูดเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนรู้สึกมีกำลังใจ หรือ หมดกำลังใจ ก็ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้จะนำเรื่องราว การพูดอันเป็นที่รักมาฝากดังนี้
1. ต้องเป็นคำจริง พูดด้วยความจริงใจ ไม่ได้แสแสร้ง ไม่ได้ปรุงแต่งคำขึ้น ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความให้เว้อวังอลังการ ไม่อำความ เปิดเผยความดีของคนอื่นเท่าที่รู้และสัมผัสได้
2. พูดด้วยเสียงที่ไพเราะ น่าฟัง ไม่พูดพาดพิงถึงความไม่ดีของคนอื่น หรือพูดถึงความดีของตนเองมากเกินไป ...ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี
3. พูดแต่เรื่องที่มีประโยชน์ เกิดผลดีทั้งคนพูดและคนฟัง แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร ก็ไม่ควรพูด
4. พูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา ปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก่อนพูด ก็ให้ดูใจเราก่อนว่า ใจเรามีจิตเป็นอย่างไร แล้วจึงพูด ถ้าจิตยังไม่ดี อย่าพูดออกไปดีกว่า
5. พูดถูกกาล ถูกเวลา ต้องรู้ว่าควรพูดเวลาไหน ... ควรพูดสถานที่ไหน ...เพื่อให้ผู้ฟัง พร้อมรับฟัง และปฏิบัติตาม บางสิ่งบางอย่างก็ต้องคอยเวลาที่เหมาะสม จึงเกิดประโยชน์สูงสุด
เพราะฉะนั้น ก่อนพูด จึงต้องพินิจพิจารณาว่าพูดแล้ว กระทบจิตใจของใครบ้างหรือเปล่า คนฟังจะรู้สึกอย่างไร พูดแล้วผู้ฟัง ฟังแล้วจะรู้สึกอย่างไร
หลักการพูดทางพระพุทธศาสนา ....
พระพุทธเจ้า ได้ตรัสอยู่ในพระไตรปิฎก เรื่อง อภัยราชกุมารสูตร ดังนี้
ดูก่อน ราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบ ด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่ จะพยากรณ์วาจานั้น
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้น เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ ตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย.
เรื่อง อภัยราชกุมารสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
โฆษณา