6 เม.ย. 2021 เวลา 15:13 • ประวัติศาสตร์
6 เมษายน วันจักรี
วันจักรี (Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี
1
ทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จากกรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็น กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์
6
จากบันทึกตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์ (รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4) ขึ้นประดิษฐานเอาไว้สำหรับให้พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อๆ ไป ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้ถวายความเคารพสักการะ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละหนึ่งครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประดิษฐานหลายต่อหลายครั้ง
จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์มาไว้ ณ ปราสาทเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกชาถ ซึ่งพระที่นั่งสำหรับประดิษฐานพระบรมรูปองค์นี้
รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ซ่อมแซมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานพระนามว่า ปราสาทเทพบิดร โดยได้มีการซ่อมแซ่มและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นในวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน อีกทั้ยังโปรดให้เรียกวันที่ 6 เมษายนนี้ว่า วันจักรี
การสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์
นับตั้งแต่กาลอันพระมหากษัตราธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้ามหาราช ปฐมบรมกษัตริย์ในมหาจักรีบรมราชวงศ์ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหะวิริยะ ทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงดำรงอิสรภาพแห่งราชอาณาจักรไทยเมื่อพุทธศักราช 2325 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้
โดยในอดีตได้มีการจัดงานสมโภชพระนครครั้งใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง คือ พระบาทสมเด็จพระพุทยอดฟ้ามหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าๆ ให้สมโภชเมื่อแรกสร้างพระนครเสร็จครั้งหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าๆให้สมโภซในวาระครบ 100 ปีแห่งการสถาปนาเมื่อพุทธศักราช 2425 ครั้งหนึ่ง
และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมโภชในวาระครบ 150 ปีเมื่อพุทธศักราช 2475 อีกครั้งหนึ่ง
ในมหามงคลสมัยแห่งการสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลจัดงานสมโภชเพื่อความสถิตสถาพรแห่งพระราชอาณาจักรสืบไป
ดวงตราไปรษณียากรชุด 150 ปี ราชวงศ์จักรี
วันแรกจำหน่าย 1 เมษายน 2475
พิมพ์ที่ Waterlow & Sons Ltd., England
แสตมป์ชุด 150 ปี ราชวงศ์จักรี
ชนิดราคา จำนวนพิมพ์และราคาปัจจุบัน (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
2 ส.ต. 3,000,000 ดวง 70 บาท 15 บาท
3 ส.ต. 1,000,000 ดวง 120 บาท 35 บาท
5 ส.ต. 3,000,000 ดวง 70 บาท 15 บาท
10 ส.ต. 3,000,000 ดวง 70 บาท 15 บาท
15 ส.ต. 1,000,000 ดวง 370 บาท 50 บาท
25 ส.ต. 500,000 ดวง 600 บาท 70 บาท
50 ส.ต. 200,000 ดวง 2,100 บาท 100 บาท
1 บาท 100,000 ดวง 3,400 บาท 550 บาท
ดวงตราไปรษณียากรชุดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
วันแรกจำหน่าย 4 เมษายน 2525
พิมพ์ที่ John Waddington of Kirkstall Ltd., England
แสตมป์ชุดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200
ชนิดราคา จำนวนพิมพ์และราคาปัจจุบัน (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
1.25 บาท 3,000,000 ดวง 20 บาท 10 บาท
1 บาท 10,000,000 ดวง 20 บาท 10 บาท
2 บาท 3,000,000 ดวง 30 บาท 10 บาท
3 บาท 3,000,000 ดวง 65 บาท 15 บาท
4 บาท 3,000,000 ดวง 50 บาท 20 บาท
5 บาท 3,000,000 ดวง 85 บาท 30 บาท
6 บาท 3,000,000 ดวง 85 บาท 30 บาท
7 บาท 3,000,000 ดวง 100 บาท 55 บาท
8 บาท 3,000,000 ดวง 65 บาท 30 บาท
9 บาท 3,000,000 ดวง 80 บาท 40 บาท
แผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
วันแรกจำหน่าย 4 เมษายน 2525
พิมพ์ที่ John Waddington of Kirkstall Ltd., England
แผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
จำนวนพิมพ์และราคาปัจจุบัน (ยังไม่ใช้, ใช้แล้ว)
จำนวนพิมพ์ 20,000 แผ่น
ราคาปัจจุบัน
ยังไม่ใช้งาน 1,300 บาท
ใช้งานแล้ว 800 บาท
ขอบคุณที่ติดตามครับ
1
โฆษณา