7 เม.ย. 2021 เวลา 04:31 • การเมือง
#explainer กองเรือจีน 200 ลำ บุกเข้าเขตน่านน้ำของฟิลิปปินส์ จนเกือบจะเป็นชนวนเหตุของความรุนแรง แต่ในขณะที่ฟิลิปปินส์ประณามกองเรือจีน ฝั่งจีนก็ตั้งคำถามว่า แล้วทำไมจะบุกเข้าไปไม่ได้
4
นี่คือเหตุการณ์สำคัญในทะเลจีนใต้ ที่มีอิมแพ็กกับประเทศอื่นๆในอาเซียนด้วย และสำหรับไทยแม้จะไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็ถือว่าเรามีความใกล้ชิดกับทั้งฝั่งอาเซียน และฝั่งจีน workpointTODAY สรุปสถานการณ์ทุกอย่างให้เข้าใจใน 12 ข้อ
1) ในอดีตประเทศจีน ด้วยความเป็นมหาอำนาจ ทำให้พวกเขา "อ้างสิทธิ์" ในการยึดครองน่านน้ำทั้งหมด โดยจีนจะมีแผนที่ของตัวเอง ในชื่อ Nine-dash line (แผนที่ ที่มาพร้อมเส้นประ 9 เส้น) อ้างกรรมสิทธิ์ 90% ของทะเลจีนใต้ คือเรือประมงของจีน สามารถบุกเข้าไปจนเกือบถึงพรมแดนของฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และ มาเลเซียได้เลย โดยอ้างได้ว่า นี่คือน่านน้ำของประเทศจีน
12
2) ในปี 1982 สหประชาชาติ ออกกฎหมายทางทะเล (UNCLOS) ขึ้น เพราะ มีหลายๆชาติ ที่ทำเหมือนจีน นั่นคืออ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลว่าเป็นของตัวเอง ดังนั้นเพื่อให้มีกฎเกณฑ์มาตรฐานอะไรสักอย่าง จึงมีการกำหนดเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ขึ้น โดยกฎหมายระบุว่า จากชายฝั่งลากเส้นออกไป 200 ไมล์ทะเล (370 กิโลเมตร) รัฐบาลของประเทศนั้น จะมีสิทธิ์แสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่เพียงผู้เดียว ว่าง่ายๆ คือในระยะ 370 กิโลเมตรจากชายฝั่ง คือพรมแดนของประเทศนั้นนั่นแหละ
10
ทุกประเทศ จะสามารถหาประโยชน์จาก EEZ ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งการประมง การขุดเจาะน้ำมัน หรือแก๊สธรรมชาติ หรือการวางสายวางท่อใดๆ เป็นอิสระของประเทศนั้นๆ
4
3) เมื่อ UNCLOS กำหนดมาแบบนั้นแล้ว จีนก็ย่อมไม่สามารถแสวงประโยชน์จาก Nine-dash line ได้เหมือนเดิมอีก เพราะแผนที่ฉบับเดิมที่จีนใช้ มันไปรุกล้ำเขต EEZ ของประเทศอื่นๆ
4
ถ้าอ้างอิงจาก Nine-dash line จีนจะรุกล้ำเขต EEZ ของฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนามไปมากถึง 300 กิโลเมตร ลองคิดดูว่า สหประชาชาติกำหนดพื้นที่เศรษฐกิจทางทะเลให้แต่ละชาติ 370 กิโลเมตร แต่จีนเอาไปซะ 300 แล้ว เหลือให้ชาติอื่นๆได้ใช้แค่ 70 กิโลเมตรเท่านั้น
7
4) สิ่งที่จีนใช้ตอบโต้คือ ในอดีตยุคราชวงศ์ฮั่น จีนครองน่านน้ำในเขตทะเลจีนใต้ทั้งหมด ดังนั้นเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วทะเลแห่งนี้เป็นของจีน ซึ่งการที่จีนไม่ยอมรับในกฎของ UNCLOS ทำให้จีนกับชาติต่างๆในอาเซียน เกิดการปะทะกันอยู่บ่อยครั้งมาก เพื่อแย่งสิทธิ์ทางทะเล
12
จีนอ้าง Nine-dash line แต่ชาติอื่นอ้างอิงกฎของ UNCLOS นั่นทำให้หลายๆครั้ง ที่จีน กับชาติอาเซียนใช้น่านน้ำเดียวกัน และอ้างว่าอีกชาติมาบุกรุกสิทธิ์ของตัวเอง
9
5) ในช่วงปี 2010-2015 ชาวประมงจีนจำนวนมาก บุกเข้ามาในเขต EEZ ของฟิลิปปินส์ โดยที่รัฐบาลไม่ได้ห้ามปรามอะไร รวมถึงยังขัดขวางการสำรวจน้ำมันทางทะเลของฟิลิปปินส์อีกด้วย ซึ่งสุดท้าย ทำให้ฝั่งฟิลิปปินส์หมดความอดทน ยื่นเรื่องไปที่ศาลโลก เพื่อขอคำตัดสินว่า จีนมีสิทธิ์บุกรุกเข้ามาในเขต EEZ หรือไม่
9
6) ปี 2016 ศาลโลก ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ประกาศคำตัดสินว่า จีนไม่มีสิทธิ์ใช้ประวัติศาสตร์โบราณมาอ้างอิงในบริเวณดังกล่าว และถ้าจีนยังเอาเรือรุกเข้าไปในเขต EEZ ของฟิลิปปินส์อีก จะถือว่าเป็นการรุกอธิปไตยของฟิลิปปินส์
3
เมื่อคำตัดสินออกมา ชาวฟิลิปปินส์แสดงความดีใจ ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เปอร์เฟ็กโต้ ยาไซ กล่าวว่า "รัฐบาลมีความยินดีกับคำตัดสิน และคำตัดสินจากศาลโลกจะมีส่วนอย่างมาก ในความพยายามที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้"
3
อย่างไรก็ตามทางฝั่งประเทศจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตอบโต้กลับไปอย่างดุเดือดว่า "สิทธิ์อธิปไตยเหนือดินแดน และน่านน้ำของจีน ในท้องทะเล จะไม่ได้รับผลกระทบจากคำตัดสินของศาลโลก" กล่าวคือในทางปฏิบัตินั้น ศาลโลกตัดสินก็ตัดสินไป แต่สุดท้ายศาลก็ไม่มีอำนาจบังคับให้มีการดำเนิน ตามคำตัดสินอยู่ดี
9
เรื่องนี้ก็เลยคาราคาซังกันมายาวนานจนถึงปี 2021 กล่าวคือ ฟิลิปปินส์เอง ไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้ว ชนะคดีศาลโลก ก็ชนะแล้ว แต่ก็ยังมีข้อพิพาทกันเหมือนเดิม เพราะจีนยังยึดถือ Nine-dash line อยู่เช่นเดิม
6
7) สาเหตุที่เรื่องยืดเยื้อกันขนาดนี้ เพราะทะเลจีนใต้นั้นเป็นยุทธศาสตร์สำคัญมากของฝั่งจีน นอกเหนือจากเรื่องทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดอันดับ 2 ของโลก การเดินเรือ 25% ต้องผ่านทะเลจีนใต้ นอกจากนั้นยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการทหารด้วย ถ้าหากทะเลจีนใต้โดนปิดล้อม จีนก็เจอปัญหาหนักเช่นกัน
5
8) ไม่ใช่แค่ฟิลิปปินส์ แต่จีนมีเรื่องกระทบกระทั่งกับอีกหลายชาติอาเซียน ในปี 2016 เกาะนาทูน่า ที่อยู่ในเขต EEZ ของอินโดนีเซีย ถูกเรือประมงจีน 12 ลำ และเรือลาดตระเวน ขับผ่านมาใกล้ๆ ทั้งๆที่แผ่นดินใหญ่ของจีน อยู่ห่างจากเกาะนาทูน่าเกือบ 2 พันกิโลเมตร จนประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียต้องเดินทางไปที่เกาะนาทูน่า เพื่อแสดงสัญลักษณ์อย่างชัดเจนว่านี่คือพื้นที่อธิปไตยของอินโดนีเซีย
6
9) หรือเวียดนาม มีการกระทบกระทั่งกับจีน ในเขตพื้นที่เกาะพาราเซล ที่ต่างคนต่างอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง โดยในปี 2014 เรือประมงจีน 40 ลำ ได้ล้อมเรือประมงเวียดนาม 1 ลำ ก่อนจะพุ่งชนและจมเรือประมงเวียดนาม รวมถึงเหตุการณ์ที่จีนไม่ยอมให้เวียดนาม ขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำที่มีข้อพิพาทกันอยู่
8
10) สถานการณ์ของจีน กับชาติอาเซียนตึงเครียดกันมาเรื่อยๆ ชนวนล่าสุดก็มาถึง ในวันที่ 7 มีนาคม เมื่อเรือประมงจีนจำนวน 200 ลำ แห่มาจับปลาพร้อมกันที่เกาะวิธซัน รีฟ
3
วิธซัน รีฟ เป็นเขต EEZ ของฟิลิปปินส์ อยู่ห่างจากพื้นที่ชายฝั่งของฟิลิปปินส์ 324 กิโลเมตร ซึ่งก็ถือว่าเป็นอธิปไตยของฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ชาวประมงจีนก็ไม่ได้สนใจอะไร บุกเข้ามายังพื้นที่อยู่ดี ซึ่งเรื่องนี้ ทำให้ฝั่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ เกิดความโกรธแค้นที่จีนละเมิด เขต EEZ อีกแล้ว คืออยากจะจับปลาตรงไหนก็จับ โดยไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเขตแดนของประเทศอื่นหรือเปล่า
7
เดลฟิน โลเรนซาน่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์กล่าวว่า "การรุกล้ำของกองเรือจีน แสดงให้เห็นความตตั้งใจจะบุกเข้ามาในเขตทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก" ขณะที่สถานทูตจีน ประจำกรุงมะนิลา ได้ตอบโต้ว่าการที่กองเรือจีนจะเข้ามาบริเวณนี้ก็เป็นเรื่องปกติ
7
11) สถานการณ์ล่าสุดหยุดที่ตรงนี้ แต่จากประวัติที่ผ่านมากองเรือจีนยังโฉบเข้ามายังพื้นที่ EEZ ของหลายๆประเทศเป็นระยะ เพราะไม่เชื่อถือการตัดสินของศาลโลก ที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ขณะที่ชาติอาเซียน แม้จะโดนจีนรุกล้ำน่านน้ำแต่ก็ไม่สามารถใช้กำลังตอบโต้ได้ เพราะอาจจะเกิดความบาดหมางกับจีนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ และอาจถูกนำเป็นข้ออ้างในการสร้างสถานการณ์ได้
5
12) เรื่องความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ จึงเกิดขึ้นต่อไป สร้างความกดดันให้ทั้ง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ขณะที่ประเทศไทย มี EEZ ที่ด้านอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ไม่มีมีจุดไหนที่มีข้อพิพาทกับจีน อย่างไรก็ตาม ด้วยความขัดแย้งของจีนและชาติอาเซียน ตึงเครียดอย่างมาก ประเทศไทยก็จำเป็นต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวางตัวให้เหมาะสมที่สุดในเกมนี้ด้วย
.
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
4
โฆษณา