8 เม.ย. 2021 เวลา 04:00 • ธุรกิจ
วิกฤตธนาคารกลาง เมื่อ Bitcoin กำลังแย่งอำนาจทางการเงินไป
วิกฤตที่ธนาคารกลางกำลังโดน Bitcoin ท้าทายอยู่ขณะนี้เป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเงินโลก โดยที่จุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งนี้ก็ดันเกิดจากการกระทำของตัว "ธนาคารกลาง" เอง
1
เพราะนับตั้งแต่สังคมมนุษย์คิดค้น สกุลเงินตรา หรือ ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เพื่อมาทดแทนรูปแบบการแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรง รัฐก็เริ่มขยายอำนาจแผ่ปกคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในฐานะเป็น ตัวกลางของทุกธุรกรรมทางการค้า ผ่านสกุลเงินที่ถูกดูแลและควบคุมโดยหน่วยงานกลางของรัฐ หรือที่เรียกว่า ธนาคารกลาง
ในช่วงเวลาหลายร้อยปีธนาคารกลางได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินตราจาก ทองคำ จนไปสู่ ธนบัตรกระดาษ ที่ธนาคารกลางจะผลิตจำนวนเท่าไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันอย่าง ทองคำ ส่งผลให้โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่ธนาคารกลางคอยควบคุมมีรากฐานจากความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของประชาชน
แต่ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อธนาคารกลางกำลังเปลี่ยนแปลงไป
เพราะเมื่อหลายปีที่ผ่านมา รัฐและธนาคารกลางได้ออกนโยบายที่อนุญาตให้เกิดการแทรกแซงระบบการเงิน กลไกตลาดเสรีและระบบเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดผลกระทบลูกโซ่ตั้งแต่ ค่าเงินอ่อนค่า จนไปสู่การตั้งคำถามต่อความเชื่อมั่นในมูลค่าของธนบัตรกระดาษ
เมื่อความเชื่อมั่นของสกุลเงินที่ธนาคารกลางของรัฐเป็นผู้รับประกันเริ่มถดถอยลง ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ จึงได้นำเสนอสกุลเงินรูปแบบดิจิทัลที่ทำงานอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain ไร้รัฐคอยควบคุม มีความโปร่งใส่ทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นและไร้เงื่อนไขการเข้าใช้งาน
1
ทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลที่มีจำนวนจำกัดเพียงแค่ 21 ล้านบิตคอยต์และไร้ศูนย์กลางในการควบคุมระบบ ทำให้ Bitcoin กลางเป็นสกุลเงินแรกของโลกที่ไม่มีธนาคารกลางหรือรัฐบาลใดสามารถเข้ามาแทรกแซงระบบได้โดยตรง
แต่อย่างไรก็ตามประชาชนโดยส่วนใหญ่ก็ยังมีความสงสัยในตัวของ Bitcoin หากจะนำมาใช้งานในฐานะ ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเหมือนสกุลเงินโดยทั่วไปอย่าง USD เนื่องจากราคาของ Bitcoin มีความผันผวนสูงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่ธนาคารกลางเป็นผู้ควบคุมและดูแล
ด้วยสาเหตุนี้เองที่การยอมรับใน Bitcoin ช่วง 10 ปีที่ผ่านมากระจุกตัวในกลุ่มผู้ที่มีอุดมการณ์ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของธนาคารกลาง นักลงทุนรายย่อย นักเก็งกำไรและนักพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งในปี 2020 เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก
รัฐและธนาคารกลางจึงทำการแทรกแซงระบบการเงินอีกครั้งหนึ่งด้วยการผลิตธนบัตรกระดาษแล้วอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนบางกลุ่มเริ่มที่จะไม่มั่นใจในมูลค่าของธนบัตรกระดาษอย่างที่เคยเป็น จนเกิดการโยกย้ายมูลค่าจากธนบัตรกระดาษไปสู่ Bitcoin ในฐานะสินทรัพย์รักษามูลค่า หรือ store of value เช่นเดียวกับทองคำ
ส่งผลให้ราคา Bitcoin ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 50000 USD และกำลังกลายเป็นสินทรัพย์ที่เก็บรักษามูลค่า สำหรับนักลงทุนสถาบันและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการในอนาคต
Bitcoin นับเป็นก้าวแรกที่ระบบการเงินสามารถทำงานอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นและความศรัทธาต่อธนากลางและรัฐ แนวคิดระบบการเงินไร้ตัวกลาง หรือ Decentralized Finance นี้ได้ทำให้เกิดสกุลเงินดิจิทัล สินทรัพย์ดิจิทัลและระบบนิเวศทางการเงินแบบใหม่ที่รัฐและธนาคารกลางไม่มีอำนาจในการควบคุมและแทรกแซง
วิกฤตของธนาคารกลางที่เกิดจาก Bitcoin และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ในครั้งนี้ กำลังบีบบังคับให้รัฐและธนาคารกลางต้องพยายามที่จะทำอะไรสักอย่างในระบบนิเวศทางการเงินแบบใหม่นี้ให้เร็วที่สุด จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นธนาคารกลางและรัฐพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลของตัวเอง พร้อมทั้งออกกฎควบคุมการซื้อขาย Bitcoin และสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่น ๆ
เพราะมันแทบจะเป็นทางเลือกเดียวที่ธนาคารกลางและรัฐจะทำได้เพื่อรักษาอำนาจในการควบคุมระบบการเงินดิจิทัล
ก่อนที่ทุกอย่างมันจะสายเกินไป
แอด EFUNDA
โฆษณา