7 เม.ย. 2021 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์
"สงขลาหอน นครหมา นราหมี"
สำเนียงภาษาน่ารัก ที่บ่งบอกความหลากหลายอันเป็นหนึ่งเดียวของไทยถิ่น
1
ผมเองไม่ใช่คนใต้ แต่ผมมีเพื่อนสนิทเป็นคนใต้หลายคน
ผมคลุกคลีกับคนใต้จนฟังภาษาใต้ออก แต่แหลงไม่ชับ(พูดไม่ชัด)🤭
เพื่อนคนใต้สมัยเรียนส่วนมากถ้าพูดภาษากลางจะแหลงออกทองแดง วิธีการพูดไม่ให้ทองแดงมีวิธีเดียวตามที่คุณชวน หลีกภัยอดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นชาวตรังเคยสอน ส.ส ภาคใต้เวลาให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า..
"หากกลัวพูดกลางแล้วออกทองแดง ให้คุณพูดช้า ๆ
พูดช้า ๆ มันจะไม่ทองแดง"
แต่ด้วยพื้นฐานการพูดของคนใต้ที่เกิดและเติบโตในพื้นที่จะพูดเร็วหรือแหลงเร็ว ทำให้การที่ต้องพูดเป็นภาษากลางที่ไม่ถนัด
แล้วยังต้องแหลงช้า ๆ อีก โอ้ย เพื่อนผมมันบอก "ให้กูแหลงทองแดงออกมาพันนั้นแหละ...ช่างแม่มม😂😂"
2
พูดถึงภาษาถิ่นภาคใต้ก็คล้าย ๆ ภาษาถิ่นในภาคอื่น ๆ ที่แกนหลักเรื่องของคำศัพท์ส่วนใหญ่จะคล้ายกัน
คนเหนือก็อู้คำเมืองกันตั้งแต่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์เรื่อยไปจนถึงแม่สาย จังหวัดเชียงราย
คนอีสานก็เว้าอีสานตั้งแต่โคราชบางอำเภอเรื่อยไปจนถึงอุบลฯหนองคาย อุดร โพ้นนู้นแหละ
ส่วนคนภาคกลางถึงจะใช้ภาษากลางคือคำไทยเป็นภาษาพูดหลัก แต่มีคำย่อย ๆ และสำเนียงการพูดที่แตกต่างกันแต่ละท้องถิ่นไปอีก มีทั้งสำเนียงเยื้อง(กรุงเทพฯ)สำเนียงเหน่อ สุพรรณ เมืองกาญจน์ เพชรบุรี ราชบุรี ฯ
รวมทั้งภาษาถิ่นย่อยเช่น ลาวโซ่ง ลาวพวน มอญ ญวน อะไรอีกมากมายหลายเชื้อชาติ
..
แต่ภาษาถิ่นใต้จะมีคำเปรียบเปรยที่คนใต้จะทราบกันดีเรื่องภาษาถิ่นย่อยของพื้นที่ โดยจะอธิบายเป็นประโยคคล้องจองที่ว่า..
"สงขลาหอน นครหมา นราหมี"
หากเป็นคนถิ่นอื่นหรือคนภาคอื่นที่ไม่มีสัมพันธ์ เกี่ยวดอง หนองยุ่งกับคนปักษ์ใต้อาจจะงง...😳
อะไรของมันวะ❓
คนสงขลาจะหอนทำไม?
คนนครเป็นหมาหรือไง?
หรือคนนรารูปร่างเหมือนหมี?
ไม่ใช่ครับ ไม่ใช่...😌☝️
ประโยค "สงขลาหอน นครหมา นราหมี" เป็นคำอธิบายถึงความแตกต่างของการใช้ภาษาพูดตามภาษาถิ่นของแต่ละที่ ๆ มีเอกลักษณ์ จนเป็นที่จดจำของผู้คนว่า พูดแบบนี้ ต้องคนที่นี่เท่านั้น...
ขอเริ่มที่ สงขลาหอน นครหมา ก่อน ...
เหตุที่ต้องอธิบายสองคำนี้พร้อมกันก่อนเพราะว่าสองคำนี้มีความหมายเดียวกัน...
คำว่า"หอน"ของคนสงขลา กับคำว่า"หมา"ของคนนคร(นครศรีธรรมราช) แปลได้ความหมายเดียวกันคือแปลว่า"ไม่"
ในประโยคปฏิเสธ
เช่น ไม่หอนกิน = ไม่กิน
ไม่หอนไป = ไม่ไป
ส่วนคำว่า หมา ของชาวนครก็อย่างเช่น หมากิน = ไม่กิน
หมาไป = ไม่ไป
หมาเห็น = ไม่เห็น เป็นต้น
ส่วนที่มาของศัพท์สองคำนี้ คำว่า"หมา"ของชาวนครนั้นยังสืบหาไม่พบ แต่คำว่า"หอน"ของคนสงขลา สันนิษฐานว่ามาจากคำเดียวกับคำว่า"ห่อน"ในภาษาวรรณคดีโบราณ ซึ่งแปลว่า"ไม่"เช่นเดียวกัน
1
...
คราวนี้มาถึงคำว่า"นราหมี"กันบ้าง มีหมาแล้วก็ต้องมีหมี...
คำว่า"นราหมี"นั้นมาจากคำพูดพื้นถิ่นของชาวไทยพุทธย่านตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ชาวไทยพื้นถิ่นนี้ จะมีภาษาที่แตกต่างจากที่อื่น สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษชาวเจ๊ะเหเป็นคนจากเมืองหลวง(อยุธยา)หรือคนภาคอื่นที่อพยพลงมาตั้งรกรากตั้งแต่ครั้งอดีต
ส่วนความหมายของคำว่า"หมี"นั้น เป็นการบ่งบอกว่าประโยคนั้นกำลังถูกตั้งเป็นประโยคคำถาม
เช่น รู้กันแล้วหมี ? = รู้กันหรือยัง ?
จะไปแล้วหมี ? = จะไปรึยัง ?
จะกินแล้วหมี ? = จะกินรึยัง ?
ด้วยเอกลักษณ์ทางภาษาดังกล่าวที่คนใต้ด้วยกันจะทราบกันดี ถึงความแตกต่างนี้ จึงเป็นที่มาของประโยคยาวที่ว่า..
"สงขลาหอน นครหมา นราหมี"
ภายใต้ความแตกต่างอันน่ารักของสำเนียง ภาษาถิ่นไทยเรา
มันบ่งบอกถึงความสมัครสมานสามัคคีที่เรามีต่อกันมาช้านาน
ความแตกต่างทั้งรูปร่าง หน้าตา ภาษาพูด หาได้ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นไทย แต่เขาไม่ใช่ไทย
จะพูด จะแหลง จะอู้ จะเว้า...
จะภาษาไหน สำเนียงใด
ก็ไทยคือกันละสู........แม่นบ่อ้าย
1
..
ติดตามอ่านบทความได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา