8 เม.ย. 2021 เวลา 09:04 • การศึกษา
ป๊าเคยพูดว่า เรียนจบอะไรมา สุดท้ายก็ต้องทำงานหาเงินกันทุกคน
เพราะงั้น เรียนอะไรก็เรียนไปเถอะ เอาที่ชอบ
ตอนเด็กๆ จำไม่ได้เลยนะ ว่าโรงเรียนสอนอะไร
รู้แต่ว่า อยู่บ้าน ป๊ากะแม่สอนเยอะมาก
โรงเรียนมันเหมือนไปเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมมากกว่า อาจจะบวกการค้นหาตัวเองไปด้วย
แต่วิชาชีวิตนี่ป๊ากะแม่สอนมาทั้งนั้นเลย
ครูที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ตัวเองนี่หล่ะ
เพราะงั้นมากกว่าโรงเรียนที่ดี คือพ่อแม่ที่ดี มีเวลาใส่ใจให้ลูกๆ มากกว่า
#ระบบการศึกษากับความคาดหวัง
วันนี้ลองมาถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันดีกว่าครับ
แน่นอนว่า พ่อแม่อย่างเราเลี้ยงลูก ... #เราคาดหวัง ... คนที่เลี้ยงลูกแล้วบอกว่า "ไม่คาดหวัง" อันนี้โกหก ! เอ๊า ! หาเรื่องให้คนมาด่าอี๊ก 555 เพราะหากไม่คาดหวังอะไรเลย ... แบบนี้เราอาจเรียกว่า "การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย" ซึ่งมีจริง ๆ แหละครับ เลี้ยงไปวัน ๆ ให้ลูกไม่ตายก็พอแล้ว (หรือตายไปก็อาจจะไม่แคร์ก็ได้ใครจะรู้) ... คนที่บอกว่า "ไม่คาดหวัง" เอาจริง ๆ ไม่แอ๊บแอ้โลกสวยนะครับ ... คุณคาดหวังอยู่แล้ว ...
อย่างน้อยก็หวังให้เขามีความสุข เติบโตไปมีอาชีพ มีวิชาชีพ มีทักษะเอาไว้เลี้ยงตัวเลี้ยงใจได้ และไม่เป็นภาระสังคม และดีกว่านั้น เราก็หวังลึก ๆ ว่า ลูกของเราน่าจะคืนสิ่งดี ๆ กลับสู่สังคมให้ประเทศไทยเราดีขึ้น พัฒนาขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะทุกคนที่มีสัมมาอาชีพ ต่างมีคุณต่อสังคมเสมออยู่แล้ว คงดีเนอะ หากเราจะเห็นลูกของเราเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และ #เป็นที่รักของคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขา ... เพราะอย่างน้อยเราก็ไม่ต้องมานั่งไอหรือสำลักตอนดึก ๆ เพราะมีคนมาด่าลูกว่า "พ่อแม่ไม่สั่งสอน" ...
คุณคาดหวัง ...
เราคาดหวัง ... เพราะเราต่างรู้ว่า "ลูกของเราหวังได้" "ดีได้" "เก่งได้" ... เพราะลูกเรามีค่าควรคาดหวัง เขาซึ่งเป็นที่รักของเรา ... แต่เราเองก็ต้องสร้างสมดุลให้ความคาดหวังและความปรารถนาดีของเราไม่สร้าง "ภาระ" บนไหล่ของลูกจนเกินไป บางคนรักมาก คาดหวังมาก จนลูกแทบสำลักความรักและความคาดหวัง บางคนแทบจะสิงลูกอยู่แล้วถ้าทำได้ 555 โยนความคาดหวังของเราให้ลูกว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วขีดเส้นให้ลูกเดินโดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องการและมีความสุขจริง ๆ หรือไม่ ... ก็เกินไป ...
ความคาดหวังที่ดี ย่อมเกิดบนพื้นฐานในความเป็นตัวตนของเขาที่จะเติบโตในแบบที่เป็นเขาเพราะนั่นคือชีวิตของลูก มิใช่ชีวิตของเรา
และแน่นอนว่า #การศึกษา เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ลูกจะต้องผจญภัยและเติบโตภายนอกบ้าน ... ดังนั้นพ่อแม่จึงเฝ้าคัดสรร "ระบบ" การศึกษาที่คิดว่าดีที่สุดในกรอบความคิดของพ่อแม่ และแน่นอน #การเงิน ...
เขาว่า รร. ทางเลือกไม่ว่าจะ มอนเตสซอรี (Montessori) วอลดอร์ฟ (Woldorf) เรกจิโอเอมิเลีย (Reggio Emilia) และวีถีพุทธ ... ที่เขาต่างบอกกันว่า #ดีต่อพัฒนาการของลูก แต่อาจไม่ดีต่อกระเป๋าตังค์พ่อแม่ บางคนก็บอกว่า รร. ทางเลือกที่ไม่ค่อยจะเลือกได้ ... และที่สำคัญที่พ่อแม่ต้องตอบคำถามให้ได้หากเรียน รร. ทางเลือกในระยะยาวก็คือ #เรียนแล้วไปไหนต่อ ซึ่งบางคนเห็นชัด บางคนก็ยังมึน ๆ อยู่ แต่ที่แน่ ๆ ลูกเอาตัวรอดได้แน่ และมีสมองที่ยืดหยุ่นพอที่จะใช้ชีวิตได้แน่ ...
จริงหรือ ? ในประเทศนี้ ในประเทศที่ห้องสมุดดี ๆ สังคมดี ๆ ที่เอื้อต่อพัฒนาการเด็ก ในประเทศที่บอกว่า เด็กไทยจะไประดับโลก แต่ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งในประเทศยังขูดเลข ไหว้คนทรงเจ้า หาโชคลาภ ? มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยที่ดี ๆ ครูดี ๆ มีทั่วถึงทั่วประเทศมีพอแล้วหรือยัง หากไม่มีที่บ้านที่มีกำลังทุนทรัพย์พอที่จะสนับสนุนไปไกล ๆ เราจะประคองลูกไปไหวไหมกับการเรียน รร. ทางเลือกกันยาว ๆ ? โดยเฉพาะถ้าอยู่ที่ ตจว. เอาไงดี รร. ทางเลือกจบแล้วไปไหนต่อ บางที่ก็มีแค่ระดับอยุบาลหรือประถม น่าคิด
โรงเรียนเร่งเรียนวิชาการ ... ที่เขาบอกว่า ไม่ดีต่อพัฒนาการลูกเท่าไร ซึ่งก็จริง จริงเสียยิ่งกว่าจริง แต่พอมองไป เออ พ่อแม่หลายคนก็คือ #ผู้รอด ที่ก็จบมาจาก รร. แบบนี้นี่หว่า และคนตั้งมากมายในไทยมีงานมีการทำก็เพราะสอบเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ จากข้อสอบแบบระบบเร่งเรียนนี่หว่า ... ซึ่งหลายคนก็เริ่มเห็นแล้วว่า ในอนาคตถ้าเรายังให้ลูกเน้นท่องจำแบบนี้ ไม่น่ารอดในอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า ใบปริญญาอาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ...
จริงหรือ ? ใบปริญญาของมหาวิทยาลัยที่ดีก็ยังคงเป็บใบเบิกทางนำลูกไปหาสิ่งที่ดี ๆ ได้อีกมากมายในอนาคต อย่างน้อยเอาดีกรีมาเบิกทางก่อนก็ยังดีวะ หรือไง ?
ไหนจะ รร.อินเตอร์ฯ ที่มีมากขึ้นมาก ๆ ในปัจจุบันที่อัพค่าเทอมขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ที่พ่อแม่มองเห็นระบบการศึกษาของเมืองนอกที่ดี และแน่นอนเรื่องของ #ความสำคัญของภาษา ที่จะทำให้ลูกก้าวไปยังระดับนานาชาติได้ง่ายขึ้น เขาว่าอนาคตเป็นสิ่งสำคัญแน่ ๆ ทั้งอังกฤษ และจีน ... จนหลายบ้านก็กัดฟันส่งลูกเรียนอินเตอร์กัน ซึ่งอาจไม่ดีนักกับสถานะการเงินของหลายครอบครัว แต่ก็ยอมกัดฟันเพื่อการศึกษาที่ดีของลูกที่จะไปต่อได้ไกลกว่าในอนาคต
จริงหรือ ? อนาคตเครื่องแปลภาษาอาจทำงานแบบใส่หูฟังแล้วพูดภาษาถิ่นใส่กันแบบแปลได้ 100% เรียลไทม์จริง ๆ ก็ได้ (ซึ่งมีโอกาสสูงมาก) ดังนั้นภาษาอาจไม่ได้จำเป็นอีกต่อไปก็ได้ในอนาคต ใครจะรู้ ...
ฟังแล้ว ไม่เห็นพ่อหมอฟันธงอะไรเลย แน่นอนสิ ไม่ฟันธง เพราะถ้าฟันธง ทัวร์ลงแน่นอน 555 ไม่เสี่ยง ๆ ... แต่เนื่องจากช่วงนี้ฟังเรื่องการศึกษาของลูกบ่อยมาก แล้วพบว่า รู้สึกเหมือนถูกสะกดจิต อันนั้นก็ดี อันนี้ก็เริ่ดไปหมด 555 และมันทำให้พ่อแม่เครียดมากจริง ๆ กับการเลือกระบบการศึกษาที่ดีให้ลูก ... ก็เข้าใจได้เพราะเราก็คาดหวังและอยากให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะให้ได้ ... พ่อหมอบอกแบบนี้ครับ ... ไม่ว่าคุณจะส่งลูกเรียนแบบไหนก็ตาม ... #อย่าให้ระบบของโรงเรียนทำร้ายลูก
#อย่าหลงดี ... คำที่หมอพัฒนาการเด็กคนหนึ่งพูดกับพ่อหมอถึงระบบการเรียนของไทย ไม่ว่าจะระบบไหนก็ตาม ระบบปกติ ทางเลือก หรืออินเตอร์ ... เราต่างคิดว่าสิ่งนี้ "ดี" สำหรับเด็ก ... แต่เมื่อเราหลงดี ยึดมั่นถือมั่น อีโก้สูงเท่าเขาเอเวอร์เรสต์ว่าของชั้นดี ผิดจากนี้ไม่ได้ แล้วพ่อแม่ก็สุดและอินตามเขาไปสุดตัวด้วย โดยที่ไม่ได้หันมามองลูกน้อยที่อยู่ตรงหน้า ไม่ได้มองรอบตัวว่าสถานการณ์ตอนนี้ของครอบครัว ของเรา ของสังคมว่าเป็นอย่างไร ... ก็ต้องระมัดระวังกันด้วยนะครับ
ดังนั้น ... พ่อหมอมักจะบอกว่า อย่ายึดมั่นถือมั่น ทางสายกลางไว้ก่อน ... หากมีสิทธิ์เลือกโรงเรียนให้ลูกได้ มันมักเริ่มต้นที่ #ความถูกจริตของพ่อแม่ต่อวิถีของโรงเรียนนั้น ๆ แต่ประเมินลูกสม่ำเสมอว่า มัน "ใช่" สำหรับเขาหรือไม่ รวมถึงปัจจัยอื่นด้วยเช่นกัน ถ้าไม่ใช่ ปรับเปลี่ยนได้นะครับ โดยมีพ่อแม่เป็นแรงสนับสนุนให้ลูกเติบโตตามศักยภาพของเขาได้เต็มที่ในแบบของเขาได้ พอแล้ว ...
เรียนเร่งวิชาการ ก็อย่าลืมบทเรียนชีวิตนอกห้องเรียน เล่นให้เต็มที่ ให้โอกาสได้ลองอะไรใหม่ ๆ ที่ลูกชอบนอกเหนือจากตำรา ... เรียนทางเลือก อย่าลืมให้เขาเรียนรู้ว่า โลกนี้มีการแข่งขันจริงด้วยเสมอ (แม้ว่าโตมา เขาก็จะเจอเองอยู่แล้ว แต่เตรียมไว้หน่อยก็ดี) หรือเรียนทางเลือกแล้วประเมินว่า ไปต่อไม่ได้แล้ว พ่อแม่ไม่มีพลังหรือปัจจัยพอจะสนับสนุนในวิถีของทางเลือกนั้น ๆ ปรับเปลี่ยนก็ได้ เด็กยังปรับตัวได้เสมอ เรียนอินเตอร์ เจอโควิดบุก ต้องดาวน์เกรดลงมา รร. ปกติ ก็เป็นโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตจริง ๆ กับสถานะการเงินจริง ๆ ของที่บ้านก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน
ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วดีเสมอ
ใครยังไม่ได้ตัดสินใจ เยี่ยม รร. วนไปค่ะ ... 555 เจอ จนท. ธุรการ รร. จนกว่าเริ่มรู้สึกว่าเราสนิทกันแล้วค่อยตัดสินใจก็ได้นะจ๊ะ เยี่ยมวน ๆ สนุกดี และจบลงที่เขาบอกว่า "เต็มหมดตั้งแต่ปีก่อนแล้วค่ะ เขาจองกันตั้งแต่ลูกยังไม่ขวบเลยค่ะ คุณแม่มาช้าไปมาก ๆ เลยค่ะ" ... เอ้า นอยด์ได้อีกค่ะ ทุกคน 555
อันที่ไม่แนะนำก็คือ ให้ลูกไปเรียนในระบบที่พ่อแม่ไม่ได้อินด้วย ... พ่อแม่จะทนไม่ไหวไปเสียก่อน เครียดตายเลยครับ ... บางคนไปทางเลือก ลูกเขียนอ่านไม่ได้ในวัยอนุบาล เครียดมากจนเปลืองยาย้อมผม ก็พอเต๊อะ หรือไป รร. เร่งเรียน แต่พ่อแม่คือเข้าไปกดดันครูตลอดว่า "แม่ไม่ได้คาดหวังอะไร อย่ากดดันลูกแม่นะคะ" "ไม่เอาการบ้านนะคะ" "ไม่เอานั่นนี่นะคะ" รัว ๆ จนครูเริ่มหลบหน้า คือ เขาก็ทำตามวิถีของ รร. เขาไงครับ แก้ยาก แบบนั้น ...
โฆษณา