8 เม.ย. 2021 เวลา 10:40 • การศึกษา
ผลตอบแทนการลงทุน (Return on Investment)
จากตอนที่แล้ว เราทราบแล้วว่าการลงทุน คือการไปซื้ออะไรมาสักอย่างโดยหวังผลให้สิ่งนั้นสร้างรายได้ สร้างผลตอบแทนให้กับเรา สิ่งนั้นอาจจับต้องได้ เช่นรถยนต์ หอพัก บ้านอยู่อาศัย ฯลฯ หรืออาจจับต้องไม่ได้ เช่นสัญญากู้เงิน หุ้น ประกันชีวิต ฯลฯ ก็ได้
ผลตอบแทนจากการลงทุน ก็สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน และ ผลตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่นสิทธิในการลงคะแนนโหวตในฐานะผู้ถือหุ้น การเป็นสมาชิกภาพ การได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ฯลฯ
ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. ผลตอบแทนที่ได้รับเป็นงวดๆ เช่น
1.1 ดอกเบี้ยรับ คือ ผลตอบแทนจากการฝากเงินกับสถาบันการเงิน หรือ ให้กู้ยืมกับบุคคลอื่น
1.2 เงินปันผลจากหุ้น คือ ส่วนแบ่งจากผลกำไรที่บริษัทแจกจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท
1.3 เงินปันผลจากกรมธรรม์ประกันชีวิต เช่นอาจกำหนดจ่ายทุกปี ทุก 3 ปี ทุก 5 ปี เป็นต้น
1.4 ค่าเช่าจากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่นบ้าน คอนโด ที่ดิน หอพัก รถยนต์ ฯลฯ
1.5 ฯลฯ
2. ผลตอบแทนที่ได้จากการจำหน่ายสินทรัพย์ที่ลงทุนออกไป เช่นเงินจากการจำหน่ายหุ้น จำหน่ายบ้าน ที่ดิน หอพัก เงินก้อนที่ได้รับตอนสิ้นสุดสัญญาประกันชีวิต ฯลฯ
เมื่อพูดถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่เป็นตัวเงิน สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องวัดค่าได้ และหน่วยวัดที่นิยมใช้คือ ผลตอบแทนเป็นร้อยละต่องวด (เช่น X %ต่อเดือน Y %ต่อปี ฯลฯ เป็นต้น) และเมื่อเราสามารถวัดค่าผลตอบแทนได้ เราก็จะสามารถเปรียบเทียบการลงทุนหลายๆ ประเภท เทียบกันได้ว่าการลงทุนไหนให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากัน
เอาหละ... เลิกเยิ่นเย้อกันดีกว่า เรามาเริ่มการคำนวณพื้นฐานแรกกันเลย .....
การคำนวณผลตอบแทนการลงทุน (ROI)
ROI = (ผลตอบแทนสุทธิจากการลงทุน / เงินลงทุนทั้งหมด) x 100%
ตัวอย่าง 1
ซื้อหุ้น ABCA เป็นเงิน 17000 บาท ได้รับเงินปันผล 850 บาท
คิดเป็นผลตอบแทนการลงทุน = (850 / 17000) * 100% = 5%
ตัวอย่าง 2
ให้เพื่อนกู้เงิน 2500 บาท เพื่อนสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยให้ร้อยละ 6 ต่อเดือน เราจะได้ดอกเบี้ยรับเดือนละเท่าไหร่
6 % = (ดอกเบี้ยรับ / 2500) x 100%
ดอกเบี้ยรับ = (6/100) *2500 = 150 บาทต่อเดือน
ตัวอย่างข้างต้น เราสามารถคำนวนผลตอบแทนจากเงินรับก้อนเดียว ประเภทเดียว แต่ในชีวิตจริง เราต้องลงทุนกันเป็นปีๆ ตลอดชีวิต การลงทุนอาจเกิดรายรับหลายประเภท เช่นการซื้อหุ้นก็อาจได้รับทั้งเงินปันผล ที่อาจจ่ายปีละมากกว่า 1 รอบ เมื่อจำหน่ายหุ้นออกไป ก็ยังได้รับผลกำไร/ขาดทุน จากส่วนต่างราคาหุ้นอีก การคำนวนผลตอบแทน เปรียบเทียบการลงทุน หลายๆ แบบ หลายๆ ประเภท ก็ยุ่งยากซับซ้อนขึ้น
ในตอนต่อๆ ไปเราจะมาเรียนรู้เรื่องนี้กัน ... พลาดไม่ได้ครับ
โฆษณา