11 เม.ย. 2021 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
รู้จัก โมเดลธุรกิจ “Bespoke” ที่ช่วยเพิ่มมูลค่า ให้สินค้าของแบรนด์
ถ้าเรากำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ แล้วอยากให้สินค้าหรือบริการของเรามีคุณค่าและมีมูลค่าสูงกว่าของทั่ว ๆ ไปในตลาด เราจะต้องทำอย่างไร ?
ถ้าใครที่เคยไปใช้บริการร้านตัดเสื้อสูท ที่มีการสั่งตัดขึ้นมาใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดตัวของเรานั้น
จะพบว่าราคาของเสื้อสูทที่ถูกสั่งตัด ก็มักจะมีราคาแพงกว่าเสื้อสูทที่เราสามารถหาซื้อได้ทั่วไป
คอนเซปต์ที่ร้านตัดสูทเหล่านั้นเลือกใช้ คือการ “Customise” หรือก็คือการทำให้เราสามารถรับรู้ได้ว่า เสื้อสูทที่เราสั่งตัดไปนั้นมีตัวเดียวในโลก และมีไว้เพื่อเราเท่านั้น
และสุดท้ายเราก็ยอมจ่ายแพงเพื่อเสื้อสูทตัวนั้น มากกว่าราคาสูทตามท้องตลาดทั่วไป
ซึ่งโมเดลนี้ จะนิยมเรียกกันว่า “Bespoke”
คำว่า Bespoke จริง ๆ แล้วพัฒนามาจากคำว่า “to speak for something” หรือที่แปลว่า “พูดหรือสื่ออะไรออกมา”
การสร้างสินค้าหรือบริการแบบ Bespoke จึงหมายถึง การทำให้ของชิ้นนั้น บริการชิ้นนั้น สื่อความหมายเฉพาะตัวของตัวเองออกมา
อย่างในกรณีของร้านตัดเสื้อสูทที่ได้ยกตัวอย่างไปตอนต้น สูทแต่ละตัวที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อลูกค้าแต่ละคนเหล่านั้น ก็จะมีความหมายและมีคุณค่าสำหรับลูกค้าแต่ละคน เสมือนสูทแต่ละตัวสามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของลูกค้าออกมาได้นั่นเอง
การใช้โมเดล Bespoke จึงเน้นไปที่การเพิ่มคุณภาพและมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการของแบรนด์ ซึ่งจะช่วยให้สินค้าของแบรนด์ สามารถดึงเงินจากกระเป๋าของลูกค้าได้มากขึ้น
แล้วหัวใจสำคัญของโมเดลนี้ คืออะไร ?
1. การแก้ปัญหา
การแก้ปัญหาถือเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ เพราะที่ไหนมีปัญหา ที่นั่นก็คือโอกาสที่จะสร้างอาชีพและเม็ดเงินได้
ลองมาดูเคสของแบรนด์ Samsung ที่นำเอา โมเดล Bespoke มาใช้กับสินค้า “ตู้เย็น”
โดย Samsung จะให้ลูกค้าเลือกออกแบบตู้เย็นให้เหมาะกับตัวเองได้
เช่น อยากได้ตู้เย็นแบบประตูเดียว หรือ 2 ประตู (แยกช่องแช่เย็นธรรมดากับช่องแช่แข็ง), เลือกได้ว่าช่องแช่แข็งจะอยู่ด้านบนสุดหรือล่างสุด, เลือกได้ว่าอยากได้สีอะไร และเลือกได้ว่าความจุหรือความกว้างของตู้เย็นมากแค่ไหน
การที่ Samsung เลือกนำมาโมเดลนี้มาใช้กับการขายตู้เย็น ก็คงเพราะเห็นว่าการใช้ตู้เย็นของแต่ละบ้านมีปัญหาหรือความต้องการใช้ที่ต่างกันไป
เช่น บางบ้านต้องเก็บของในตู้เย็นมาก ๆ ก็ต้องการตู้เย็นกว้าง ๆ จุได้ของได้มาก หรือบางบ้านมีคนแก่ที่ชอบแช่ของในช่องแช่แข็งแล้วไม่สะดวกก้มตัว ก็เลือกดีไซน์ให้ช่องแช่แข็งอยู่ด้านบนสุดของตู้เย็นได้
2. ความแตกต่างและความหลากหลาย
ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงอย่าง Spotify ที่ให้ผู้ใช้งานสร้างเพลย์ลิสต์เพลงเป็นของตัวเองได้ตามความชอบ
ซึ่งการทำแบบนี้คือการทำให้ผู้ใช้งานแต่ละคนรู้สึกว่ามีความเป็นตัวเองสูงขึ้นและแตกต่างจากคนอื่น ๆ แม้ว่าจริง ๆ แล้ว ทุกคนจะใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันก็ตาม
3. คุณภาพ
สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก ๆ ของการทำธุรกิจก็คือคุณภาพ ยิ่งถ้าเราต้องการตั้งราคาขายให้สูง
เราก็ยิ่งต้องมีเหตุผลว่าอะไรที่ทำให้เราต้องตั้งราคาสูง
อย่างเช่นกรณีของร้านตัดสูท หากร้านจะสามารถสร้างมูลค่าให้สูทแต่ละตัวได้ ก็ต้องรักษาคุณภาพของทั้งผ้าที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการตัด และคุณภาพรายละเอียดในการตัดเย็บด้วย จึงจะสามารถทำให้ลูกค้าพึงพอใจและยอมให้มูลค่าสูงกับสินค้าของแบรนด์นั้น
4. การบริการ
บริการคือปัจจัยที่ทำให้เราตัดสินใจว่าจะใช้สินค้าหรือบริการจากร้าน ๆ นั้นหรือไม่
เพราะต่อให้สินค้านั้นดีอย่างไร แต่ถ้าเจ้าของร้านบริการไม่ดี เราก็ไม่อยากจะไปใช้บริการในร้านนั้นอีก
ถือได้ว่า การบริการ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการควรเอาใจใส่ ซึ่งการบริการนี่เอง สามารถทำให้ลูกค้ารับรู้ได้อีกด้วยว่า ผู้ประกอบการคนไหนคือมืออาชีพ
ถ้าเรานำเอาหัวใจสำคัญทั้ง 4 อย่างมารวม จะทำให้ธุรกิจของเรานั้นดูพรีเมียมมากขึ้น
ซึ่งความพรีเมี่ยมนี่เองที่จะเพิ่มมูลค่าของสินค้าหรือบริการของเราได้
สำคัญที่สุดคือ เราต้องทำให้สินค้าของเรานั้น “speak for something” หรือสื่อความเป็นตัวตนและคุณภาพ ออกมาให้ได้มากที่สุด..
โฆษณา