10 เม.ย. 2021 เวลา 10:55 • ยานยนต์
#EP12 รีบเปลี่ยนน้ำยาหม้อน้ำก่อนเครื่องยนต์พัง!
จากผลการสำรวจสาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์ชำรุดเสียหาย(Engine failure) 40-60% จะเกิดจากระบบระบายความร้อน(Cooling system) รองลงไปก็เป็นการสึกหรอทั่วไป(General wear), การตืดตายของแหวนและกระบอกสูบ(Ring/Liner), การสึกหรอของแบริ่งข้อเหวี่ยง(Main bearing), การหล่อลื่นไม่เพียงพอ(Non oil), ระบบไฟฟ้า(Electrical), กำลังอัดต่ำ(Compression) เป็นต้น
ฤดูร้อนเริ่มแล้วเราลองมาตรวจดูอุปกรณ์ในระบบระบายความร้อนในรถกันหน่อยดีไหมครับ เริ่มกันที่หม้อน้ำกันก่อนเลย ก่อนติดเครื่องตอนเช้าเราเปิดฝากระโปรงรถแล้วเจอฝาหม้อน้ำก่อนเปิดมันออกมาเลยครับ สิ่งแรกให้ตรวจดูว่าสภาพฝาหม้อน้ำว่ามีสนิมแดงๆเกาะอยู่บ้างหรือไม่ ดูสีของน้ำยาหล่อเย็นว่าเป็นสีอะไร ถ้าสีของน้ำยาหล่อเย็นยังคงเป็นสีใสๆไม่มีสนิม ก็ถือว่าสภาพรถเรายังพอจะโอเคอยู่ครับ แต่ถ้าสีของน้ำยาหล่อเย็นเป็นสีแดงของสนิม ฝาหม้อน้ำก็เป็นสนิม แบบนี้งานเข้าแล้วครับ เครื่องยนต์เรามีความเสี่ยงสูงที่จะชำรุดเสียหายได้ ถ้าเอาแบบรุนแรงหน่อยก็วาล์วน้ำ(Thermostat)ติดตาย, ปั๊มน้ำ(Water pump)พัง, ท่อทางในหม้อน้ำ(Radiator)ตัน แต่ถ้าเราโชคดีหน่อยอุปกรณ์ที่กล่าวมาไม่เป็นอะไรแค่เปลี่ยนน้ำยาหม้อน้ำใหม่ก็จบ
การที่ระบบระบายความร้อนเป็นสนิม มีสาเหตุมาจากการที่ไม่ได้เปลี่ยนถ่ายน้ำยาหม้อน้ำเป็นระยะเวลานานเกินไปหรือการใช้น้ำกระด้าง(Hard water)เติมเวลาระดับน้ำหล่อเย็นต่ำลง และที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการใช้น้ำเปล่าอย่างเดียวเติมทั้งระบบโดยที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำยาหม้อน้ำอยู่เลย
ปัญหาที่จะเกิดในระบบระบายความร้อนนอกจากสนิมแล้วยังมีปัญหาอื่นอีกครับ เริ่มจากภาพด้านบน
- ถ้าน้ำแห้งจากการรั่วซึมทั่วไปความร้อนเครื่องยนต์จะสูงมาก เมื่อถึงจุดที่ประเก็นฝาสูบ(Cylinder head gasket)ทนทานไม่ไหวก็จะไหม้กรอบแห้ง จนไม่สามารถใช้งานได้ต่อไป
- วาล์วน้ำ(Thermostat)เป็นสนิม ลิ้นภายในจะติดตาย น้ำจะไม่สามารถไหลเวียนเพื่อระบายความร้อนได้
- ฝาหม้อน้ำ(Radiator cap)เป็นสนิม สปริงจะล้าตัวสูญเสียแรงกด จะทำให้แรงดันน้ำในระบบตกต่ำลง อุณหภูมิโดยรวมจะตกลงทำให้เครื่องยนต์ทำงานที่อุณหภูมิต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ความฟิตของแหวนลูกสูบกับกระบอกสูบจะไม่ฟิต สมรรถนะของเครื่องจะตก ไม่ดีเลยครับ ควรเปลี่ยนฝาหม้อน้ำให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอนะครับ และที่สำคัญมากๆเลยคือต้องใช้ฝาหม้อน้ำรุ่นที่ตรงด้วยนะครับเพราะความแข็งของสปริงมีผลต่ออุณหภูมิการทำงานปกติของเครื่อง(Normal working temperature)และมีผลต่ออัตราการขยายตัวของวัสดุที่เป็นลูกสูบและกระบอกสูบด้วย ผมมีเรื่องเกี่ยวกับคนไทยเราที่มีความเข้าใจอะไรผิดๆเกี่ยวกับระบบระบายความร้อนเยอะ เช่นชอบถอดวาล์วน้ำ(Thermostat)ออก เพราะคิดว่ามันเป็นตัวขวางการไหลของน้ำจนบริษัทรถญี่ปุ่นต้องทำสติกเกอร์ติดไว้ว่า”ห้ามถอดวาล์วน้ำโดยเด็ดขาด” และในกลุ่มรถทัวร์บางคันชอบถอดฝาหม้อน้ำออกเพราะเข้าใจว่าจะทำให้เครื่องยนต์ไม่ร้อนมาก หรือเรือหางยาวดัดแปลงใส่เครื่องยนต์รถยนต์ลงไปแต่ไม่ใส่หม้อน้ำเข้าไปด้วย แต่จะเอาน้ำในคลองเข้าเครื่องยนต์แล้วพ่นออกเลยผลเสียคือเครื่องยนต์จะเย็นมาก สมรรถนะไมีดี อายุเครื่องยนต์สั้นครับ สรุปว่าคนไทยชอบทำให้เครื่องยนต์เย็นนั่นเอง แต่ท่านรู้ไหมว่าเครื่องยนต์ที่เย็นมากเกินไปกำลังเครื่องยนต์จะไม่ดีนะครับกำลังจะตก เพราะวัสดุชิ้นส่วนขยายตัวไม่ฟิตพอดีกัน ระหว่างกระบอกสูบและลูกสูบจะเกิดระยะห่างมากนั่นเอง ผมเลยอยากเอาตัวเลขดังต่อไปนี้มาให้ดูกันนะครับ
o ไม่มีฝาหม้อน้ำ(Unpressurized)น้ำจะมีจุดเดือด : 107.7°C
o ใส่ฝาหม้อน้ำ(Cap on, pressurized)น้ำจะมีจุดเดือด : 125.6°C
- ภายในหม้อน้ำเกิดตะกรัน(Scale)สะสมจนเกิดอุดตันทางไหลเวียนของน้ำ
- ปั๊มน้ำ(Water pump)เป็นสนิมผุกร่อน
- ผนังของปลอกสูบ(Liner)แบบเปียก, ช่องทางเดินน้ำในเสื้อสูบ(Water jacket) ถูกกัดกร่อนจากการพุ่งชนของฟองอากาศ(Cavitation corrosion)
น้ำยาหม้อน้ำ(Coolants)ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเข้มข้น(Concentrated)ก่อนจะใช้ต้องผสมน้ำก่อน แต่มีอีกชนิดหนึ่งคือแบบผสมพร้อมใช้(Pre-mix)แบบนี้จะเติมได้ทันทีเพราะผสมน้ำมาให้แล้ว ชนิดเข้มข้นนั้นส่วนมากจะใช้อัตราส่วนผสมน้ำ 50:50 น้ำยาหม้อน้ำในภาพจะเป็นส่วนประกอบที่เป็นแบบเข้มข้น และแบบที่นิยมใช้โดยทั่วไปจะผลิตจาก Ethylene/Propylene Glycol base โดยมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มจุดเดือด(Boiling point)ให้สูงขึ้น จากเส้นกราฟถ้าเราใช้อัตราส่วนผสม 50:50 จุดเดือดของน้ำยาจะอยู่ที่ 108oC และอีกคุณสมบัติหนึ่งคือ การป้องกันการแข็งตัว(Antifreeze)จากเส้นกราฟถ้าเราใช้อัตราส่วนผสม 50:50 น้ำยาจะแข็งตัวที่ -42oC ในบางประเทศที่มีหิมะตกจึงต้องดูอัตราส่วนผสมเป็นสำคัญ แล้วอาจเรียกชื่อน้ำยาหม้อน้ำนี้ว่า “Anti-boil/Anti-freeze”
น้ำยาหม้อน้ำนี้ถ้าเราผสมในอัตรา 50:50 เราจะได้ตัวช่วยในการป้องกันการเกิดสนิม(Anti-rust)ในขณะเดียวกันน้ำยานี้จะมีคุณสมบัติกัดกร่อนเอาคราบสนิมที่มีอยู่เดิมให้ออกไป ซึ่งความรุนแรงในการกัดสนิมจะมาก/น้อยขึ้นอยู่กับอัตราส่วนผสมครับ ผมแนะนำว่า ถ้าใช้ในรถสภาพดีไม่มีสนิมเลยให้ใช้ส่วนผสมเข้มข้น 50:50 ไปเลย อายุการเปลี่ยนถ่ายอยู่กันยาวๆ ประมาณ 1 ปี/ครั้ง แต่ถ้ารถนั้นดูแลไม่ดี มีสนิมเกิดภายในเยอะแนะนำลดความเข้มข้นลงประมาณสัก 30:70 คือน้ำยาหม้อน้ำ 30% น้ำเปล่า 70% แน่นอนว่าต้องลดเวลาการเปลี่ยนถ่ายลงเหลือ 6 เดือน/ครั้ง
นอกจากช่วยเราลดสนิมแล้ว น้ำยาหม้อน้ำจะช่วยลดปัญหาตะกรัน(Scale)ด้วย แต่ถ้าเวลาเราเติมน้ำเวลาระดับน้ำพล่องไป “ห้ามใช้น้ำบาดาลเติมโดยเด็ดขาด!” เพราะน้ำบาดาลบางแหล่งมีความกระด้างสูงมาก เสี่ยงที่จะเกิดสนิมและตะกรันครับ มีอีกปัญหาที่เจอกันบ่อยภายในชิ้นส่วนที่สัมผัสน้ำยาหม้อน้ำคือการถูกกัดกร่อนจากฟองอากาศ(Cavitation Corrosion)ชิ้นส่วนที่พบคือ ปลอกสูบ เสื้อสูบและปั๊มน้ำ การผสมน้ำยาหม้อน้ำเข้าไปจะไปช่วยลดขนาดของฟองอากาศให้เล็กลง เมื่อเครื่องยนต์สั่นสเทือนฟองอากาศเหล่านี้จะพุ่งชนซ้ำๆ จนเกิดเป็นตามดขึ้นมา
สรุปว่าน้ำยาหม้อน้ำเราใส่ลงไปเพื่อ ลดสนิม ลดตะกรัน ลดขนาดของฟองอากาศ แต่ไม่ได้ใส่น้ำยาหม้อน้ำเพื่อให้เครื่องยนต์เย็นลงนะครับ เพราะเครื่องยนต์เย็นเกินไปไม่ดีเลย กำลังเครื่องตก น้ำมันเครื่องเป็นโคลน หัวเทียนสกปรกอีกด้วยครับ รถก็วิ่งไม่ค่อยออก สังเกตุตอนเช้าๆ ซิครับเครื่องยนต์เย็นรถวิ่งไม่ดีเลยใช่ไหม
ถ้าหากท่านต้องการลองเปลี่ยนถ่ายน้ำยาหม้อน้ำเอง ผมได้เตรียมขั้นตอนต่างๆ มาแนะนำให้ลองทำกันดูครับ
1. ตรวจสภาพฝาหม้อน้ำ ดูว่าเป็นสนิมไหมหรือถ้าไม่เป็นสนิมแต่อายุการใช้งานนานมากแล้ว สปริงน่าจะล้าตัวแล้วครับแนะนำให้ซื้อมาเปลี่ยนดีกว่าครับ
2. ดูสีของน้ำยาหม้อน้ำ ถ้าเราดูแลเขาดีเปลี่ยนถ่ายบ่อย สีของน้ำยาอาจยังคงมีสีเรืองแสงให้เห็น ส่วนจะเป็นสีอะไรนั้นขึ้นอยู่กับชนิด ประเภท และยี่ห้อครับ ถ้าดูแล้วสียังเข้ม ก็ยังไม่ต้องเปลี่ยน แต่ถ้าสีอ่อนมากหรือไม่มีสีแนะนำให้เปลี่ยนถ่ายครับ
3. ติดเครื่องยนต์อุ่นสักเล็กน้อย ถ้าให้ดีขับวนสักรอบเครื่องจะร้อนเร็วกว่าติดเดินเบาอยู่กับที่ครับ จากนั้นหาภาชนะมารองน้ำ แล้วคลายสกรูหรือน๊อตหางปลาลักษณะแบบในรูปออกมา ไม่ต้องกลัวน้ำร้อนจะลวกมือเพราะเรายังไม่ได้เปิดฝาหม้อน้ำ น้ำจะหยดเบาๆครับ
4. เมื่อคลายสกรูออกแล้ว สังเกตน้ำที่ออกมามีสีสนิมไหม ของผมตอนถ่ายออก แดงเลยครับ
5. เปิดฝาหม้อน้ำออก
6. น้ำจะพุ่งแรงขึ้นครับ
7. เปิดน้ำจากสายยางใส่เข้าไปที่หม้อน้ำด้านบน
8. ให้น้ำสะอาดไล่น้ำที่เป็นสนิมจนหมด
9. รอจนน้ำที่ออกมาใส
10. ปิดสกรูหรือน็อตหางปลา
11. วัดปริมาณน้ำทั้งหมดที่ถ่ายออกเพื่อดูว่าต้องใช้น้ำยาหม้อน้ำกี่ลิตร ขั้นตอนนี้อาจดูความจุของระบบหล่อเย็นจากคู่มือประจำรถก็ได้ครับ
12. เตรียมน้ำยาหม้อน้ำให้ได้ตามอัตราส่วนที่แนะนำคือ ถ้าความจุทั้งระบบประมาณ 6.5 ลิตร เราต้องเตรียมซื้อน้ำยาหม้อน้ำ 2 ลิตร อัตราส่วนที่ได้คือ น้ำยา 2 : น้ำ 4.5 ลิตร แต่ถ้าระบบไม่มีสนิม สภาพโดยรวมดี ผมแนะนำใช้น้ำยา 3 ลิตร : น้ำ 3.5 ลิตร ครับ
13. เติมน้ำลงไปก่อนสัก 2 ลิตรหรือ 1/3 ของความจุเพื่อให้เข้าไปช่วยเจือจางน้ำยาที่เข้มข้นครับเดี๋ยวเขาจะเข้าไปกัดกร่อนชิ้นส่วนข้างใน หลังจากนั้นเติมน้ำยาหม้อน้ำตามลงไปทั้งหมด
14. เติมน้ำจนเต็ม
15. ติดเครื่องยนต์เร่งรอบปานกลาง เพื่อให้เครื่องร้อนเร็วๆ เมื่อเครื่องร้อนแล้ววาล์วน้ำจะเปิดให้น้ำไหลผ่านหม้อน้ำได้ วิธีสังเกตุคือจุ่มนิ้วลงไปถ้าอุ่นขึ้นแสดงว่าวาล์วน้ำเปิดแล้ว ตอนนี้น้ำจะยุบหายลงไปในเครื่องแล้วมีฟองอากาศออกมาแทน
16. เติมน้ำจนเต็ม ปิดฝาหม้อน้ำ แล้วลองขับวนดูสักรอบเพื่อเช็คว่าไล่ฟองอากาศออกหมดหรือยัง
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจนะครับ ฝากกด Like กด Share ให้ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจในการสรรหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอต่อไปครับ
โฆษณา