10 เม.ย. 2021 เวลา 16:59 • หนังสือ
รีวิวหนังสือ 2021: เล่มที่ 6 CHINA NEXT NORMAL
ผู้เขียน : อาร์ม ตั้งนิรันดร
วิกฤตอู่ฮั่นเป็นคันฉ่องส่องสังคมจีน
01/23 เป็นความทรงจำของสังคมจีนซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลจีนปิดเมืองอู่ฮั่น ความล้มเหลวในการหยุดยั้งความระบาดในช่วงเริ่มต้นมาสู่ความสำเร็จในการควบคุม สะท้อนความเด่นของสังคมจีนปัจจุบัน 4 ประการ
1) ความเข้มแข็งและอำนาจมหาศาลของรัฐบาลกลาง2) ความสำเร็จของจีนในการแก้วิกฤตครั้งนี้เกิดจากการใช้เทคโนโลยีในการช่วยวิเคราะห์และแก้ไขโรคระบาดของโควิด 3) จีนดำเนินการแก้ไขโดยหลักวิทยาศาสตร์โดยไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และข้อสังเกตสุดท้ายก็คือ 4)จีนให้ความมั่นคงมาก่อนเศรษฐกิจ ซึ่งการที่รัฐบาลทุ่มสุดตัวก็เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตนที่เสถียรภาพในสังคมสำคัญกว่าปากท้อง
1
ปริศนาจากอู่ฮั่น
สถิติที่น่าสนใจคือ การเสียชีวิตในอู่ฮั่นซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาด สูงกว่าพื้นที่อื่นๆค่อนข้างมาก เหตุผลเพราะผู้ป่วยจำนวนมากในอู่ฮั่นที่ติดเชื้อ อาการไม่รุนแรงและไม่ได้การตรวจยืนยัน เพราะเมื่อเชื้อระบาดกว้างขวางแล้ว โรงพยาบาลจำเป็นต้องทุ่มเททรัพยากรไปยังผู้ป่วยที่รุนแรงมากกว่า
การระบาดกระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง ทำให้จีนเดินหน้าสร้างโรงพยาบาลใหม่ในเวลาเพียงไม่กี่วัน หัวใจสำคัญของการต่อสู้กับโควิดก็คือ ต้องจำกัดการระบาดตั้งแต่ช่วงแรก ก่อนที่การระบาดจะไปถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้
โรคกลับขั้ว
ต้นเดือน มีนาคม 2020 เกิดปรากฏการณ์ โลกกลับขั้ว กล่าวคือโควิท19 เปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว
จากเดิมระบาดจากจีนเป็นหลัก กลายเป็นจีนเริ่มควบคุมได้ และระบาดต่อไปในเกาหลีใต้ อิตาลี และลามไปทั่วยุโรป และข้ามทวีปไปถึงสหรัฐ
ความพร้อมของสหรัฐอาจจะเหมาะกับการควบคุมโรคระบาดในอดีต แต่ทว่า โรคนี้ผู้ป่วยกว่า 80% มีอาการไม่รุนแรง คล้ายไข้หวัด และสามารถแพร่เชื้อได้ ความผิดพลาดของสหรัฐคือการไม่จัดให้มีการปูพรมตรวจเชื้อตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งต่างจากเกาหลีใต้ที่ใช้ยุทธวิธีปูพรหมตรวจเชื้อทั่วประเทศ ทำให้มีอัตราเสียชีวิตต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ความน่ากลัวก็คือ ศูนย์กลางการระบาดเกิดจากขั้วหนึ่งคือจีน ไปยังอีกขั้วหนึ่งคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน
อย่าให้โควิดสูญเปล่า
หนังสือเล่มนี้ให้แง่มุมในการจัดการกับวิกฤตโควิดไว้อย่างน้อยสามมิติ มิติแรก- การป้องกันการระบาดให้อยู่ในระดับที่รองรับได้ มิติที่สอง- การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด และมิติที่สามคือ การลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่ออนาคตหลังโควิด โดยในจีนต้องแปลงวิกฤตโควิดเป็นโอกาสอย่างน้อยสามเรื่อง 1) ใช้โควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมดิจิทัลและสังคมอัจฉริยะสมบูรณ์แบบ 2)การลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตด้วย 3) โควิดเป็นตัวตอกย้ำให้จีนจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองโดยการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ส่งเสริมการยกระดับสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคภายในประเทศ
ถอดรหัสนโยบายรัฐบาลจีน
คำแถลงรายงานนโยบายรัฐบาลของหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน สิ่งที่หายไปจากคำแถลงของนโยบายรัฐทุกปี สิ่งแรกที่หายไปคือการตั้งเป้าหมายตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หันมาสนใจตัวเลขการจ้างงานแทนเพราะการจ้างงานเป็นเครื่องสะท้อนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมได้ดีที่สุด ข้อสองที่ขาดหายไปคือไม่กล่าวถึงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เงินทุนมหึมา ทั้งนี้จีนต้องการเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็นกว่านี้ เรื่องที่สามที่หาไม่พบในรายงานคือไม่มีการพูดถึงนโยบายต่างประเทศเลย ซึ่งส่งสัญญาณว่าจีนจะเอานโยบายภายในประเทศเป็นเรื่องหลัก และเรื่องสุดท้ายที่เปลี่ยนไปก็คือ นโยบายจีนต่อไต้หวันและฮ่องกงที่บอกใบ้ว่าจีนพร้อมที่จะมีท่าทีดุดันยิ่งขึ้นกับการแก้ปัญหาของไต้หวันและฮ่องกง
จีนในเกมระเบียบโลกใหม่
การระบาดของโควิดเป็นเสมือนสงครามที่เปลี่ยนดุลอำนาจโลกนำไปสู่สมดุลใหม่ระหว่างสหรัฐระหว่างสหรัฐกับจีนกลายมาเป็นคู่หยินหยางที่กลืนกันไม่ล มีทั้งหยินคือด้านของความร่วมมือ และ หยางคือด้านของการแข่งขัน โลกเองก็คงไม่ได้แบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน แต่จะมีความซับซ้อนแบบไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร
ยุทธศาสตร์แพลตฟอร์ม - เป็นแนวคิดที่ปัญญาชนจีนให้ความสนใจมาอย่างยาวนาน แพลตฟอร์มในที่ี้ใช้ในความหมายกว้าง คือสิ่งที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การเงิน ข่าวสาร ข้อมูล ใครเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ผู้นั้นเป็นมหาอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แพลตฟอร์มการเงินระหว่างประเทศ แพลตฟอร์มข่าวสารระหว่างประเทศ และแพลตฟอร์มที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน คืออินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารไร้สาย
เมื่อจีนก้าวสู่ Next Normal
จีนกำลังเผชิญ ปรากฎการณ์ประชากรหด ซึ่งทำให้จีนเข้าสู่สภาพ “แก่ก่อนรวย” สร้างความท้าทายต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จีนจึงใช้วิกฤตโควิดเป็นตัวเร่งความกดดันที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยี 4.0 และ 5.0 เพื่อเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ
เทสล่ากับ Shanghai Speed
การลงทุนสร้างโรงงานของเทสล่าในจีนใช้เพียง 10 เดือน สิ่งนี้ที่เรียกว่า Shanghai Speed เนื่องจากจีนมีความพร้อมเรื่องห่วงโซ่การผลิตภายในจีน แรงงานทักษะในจีนที่มีจำนวนมหาศาล และการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนที่สนับสนุนโดยแลกกับการที่เทสล่าจะใช้ชิ้นส่วนในจีน และสร้างศูนย์ R&D ซึ่งจีนคาดหวังว่าจะช่่วยขับเคลื่อนและยกระดับห่วงโซ่การผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในจีนอีกด้วย
บทสรุป - หมากล้อมของจีน
สหรัฐ และจีน เป็นชาติกลยุทธ์ทั้งคู่ ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยการทัพบกของสหรัฐเขียนเปรียบเทียบความต่างระหว่างการคิดเชิงกลยุทธ์แบบจีน กับแบบสหรัฐ โดยมองว่าจีนคิดแบบหมากล้อม ส่วนสหรัฐ คิดแบบหมากรุก หมากล้อมอาศัยการวางหมากเปิดเกมพร้อมกันทีเดียวหลายพื้นที่ในกระดาน หมากทุกตัวสำคัญเท่าเทียมกัน มีความสัมพันธ์กัน อาจส่งผลแพ้ชนะได้ด้วยการวางหมากของผู้เล่น หมากล้อมเป็นเกมที่มีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก ในเกมหมากล้อม ชัยชนะระยะสั้นในอต่ละพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าคือ ชัยชนะระยะยาว
อาจารย์อาร์มได้ให้ข้อคิดไว้ว่า ไทยเรานั้นรู้ตัวไหมว่ากำลังเป็นตัวหมากสำคัญตัวหนึ่งในเกมหมากล้อมจีน และเกมหมากรุกของสหรัฐ เราควรจะเล่นตัวอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดในยึด Next Normal?
โฆษณา