11 เม.ย. 2021 เวลา 15:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ส่องสาเหตุ Semiconductor ขาดแคลน ปัญหาสำคัญของโลกยุคใหม่
นวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่เริ่มต้นเมื่อ 6 ทศวรรษที่แล้ว ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่หลายสิ่งในชีวิตประจำวันขาดไม่ได้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็น PlayStation, Laptop Smartphone, EV หรือแม้กระทั่งรถยนต์ธรรมดา
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การใช้ชีวิตต้องเปลี่ยนไปหนุนความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พุ่งสูงจนส่งผลให้ Semiconductor ขาดแคลน ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านเวลาที่ใช้ตั้งแต่ส่งคำสั่งผลิตจนได้รับสินค้านั่นก็คือชิป หรือ lead time ซึ่งเมื่อปีที่แล้วการผลิตมี lead time ประมาณ 8-12 สัปดาห์ จากนั้นก็เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปีที่แล้ว ข้อมูลล่าสุดระบุว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ lead time อยู่ที่ 11-22 สัปดาห์
1
ครั้งสุดท้ายที่ lead time เพิ่มขึ้นจนแตะจุดสูงสุดต้องย้อนกลับไปปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกมีความต้องการชิปสูงแต่ก็ยังไม่ถึงขั้นขาดแคลน โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุดในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ที่ 14.2 สัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ 12.2 สัปดาห์ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างชัดเจน
lead time การผลิตชิปแต่ละประเภท I Source: IHS Markit
สิ่งที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน
ผลกระทบที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ General Motors ประกาศลดกำลังการผลิตรถยนต์ รวมไปถึง Ford, Toyota, Honda, Volkswagen และ Fiat Chrysler ที่ต่างถูกกดดันให้ต้องลดกำลังการผลิตจากการขาดแคลนชิป
Source: Bloomberg.com
ปี 2020 ต้นทุนชิ้นส่วนที่ใช้ semiconductor เป็นส่วนประกอบ เช่น หน่วยควบคุมอิเล็กทรอนิกส์การจัดการกำลัง (Power Management), แผงวงจรหน้าจอแสดงผล (display ICs) ในรถยนต์หนึ่งคัน คิดเป็น 40% ของต้นทุนทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 45% ในปี 2030 และด้วยกำลังการผลิตชิปในกลุ่มนี้ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการประกอบกับการบริหารวัตถุดิบที่ไม่ดีของผู้ผลิตรถยนต์ กำลังทำให้พลาดรายได้ในปีนี้ไปถึง 61,000 ล้านดอลลาร์
ล่าสุดทั้ง Tesla และ Nio สองผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ของโลกซึ่งพึ่งพาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบหลักของรถยนต์อย่างมาก ต้องประกาศลดกำลังการผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้นจึงมีความต้องการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้ง PC, Laptop, TV, Smartphone หรือแม้กระทั่ง PlayStation และ Xbox สูงขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ปี 2020 ยอดขาย PC เติบโต 4.8% มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010
2
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผลให้รายได้อุตสาหกรรม semiconductor ที่หดตัวเมื่อปี 2019 กลับมาขยายตัว 5.7% ในปี 2020 และหากดูจากข่าวที่ออกมาคาดว่ารายได้ของปี 2021 จะเติบโตได้ไม่แพ้ยุครุ่งเรืองเมื่อปี 2018
ปัญหาเกิดจากคอขวดใน supply chain
ชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนและมีราคาแพงที่สุด คือ logic chip มีหน้าที่ประมวลผล ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งซิลิคอนวัลเลย์อย่าง Qualcomm, Nvidia หรือ Apple เป็นผู้ขายทั้งแบบชิ้นเดียวหรือนำมาเป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่บริษัทเหล่านี้ซึ่งถูกเรียกว่า “fabless” ไม่ได้ผลิตชิปเอง เพียงแค่ออกแบบชิป จากนั้นทำสัญญาการผลิตกับบริษัทรับจ้างผลิตที่เรียกว่า “foundry” นอกจากนี้ชิปที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับปานกลางก็พึ่งพาการผลิตจาก foundry กลุ่มนี้เช่นกัน
Source: Bloomberg.com
มี foundry เพียง 3-4 บริษัทเท่านั้นที่ผลิตชิปป้อนความต้องการส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยมีรายใหญ่เป็น 2 บริษัทจากเอเชีย คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) และ Samsung Electronics ตามมาด้วยคู่แข่งที่มีขนาดเล็กกว่ามาอย่าง Globalfoundries Inc. และ United Microelectronics Corp. โดยประมาณกันว่าการผลิตชิปตามสัญญากว่า 91% ตั้งอยู่ในเอเชีย ซึ่งก็หนีไม่พ้นประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้
Source: Bloomberg.com
ปัจจุบัน TSMC เป็นผู้นำการผลิตชิปจนกลายเป็นบริษัทที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรม semiconductor กว่า 25% ในการทำธุรกิจของ TSMC เกี่ยวข้องกับบริษัท Apple และรับจ้างผลิตชิปให้กับบริษัท fabless อย่าง Broadcom, Qualcomm, Nvidia, AMD และ Texas Instruments ซึ่งบริษัทเหล่านี้ต่างเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ให้กับบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร และยานยนต์ทั่วโลก
1
จะเห็นว่าคอขวดในอุตสาหกรรมผลิตชิปเกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่พึ่งพาการผลิตจาก TSMC ล่าสด TSMC ประกาศลงทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 3 ปี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่ Samsung ก็เดินหน้าลงทุนโครงการระยะยาวระดับทศวรรษด้วยเงินกว่า 116,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อแข่งขันกับ TSMC ด้านนักวิเคราะห์คาดว่า Samsung จะใช้เงินลงทุนในปีนี้ 8,965 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 5,378 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตต้องใช้เวลาในระดับปี ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลกยังไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้นแน่นอน
Source: Bloomberg.com
ไม่เพียงแต่ TSMC ที่เรียกได้ว่าแทบจะผูกขาดการผลิตชิปของโลก ภาคส่วนอื่นก็มีบริษัทที่ผูกขาดเช่นเดียวกัน เช่น ASML บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ผลิตเครื่อง photolithography ที่ใช้ในการพิมพ์รูปแบบของชิปลงบนแผ่นที่เรียกว่า wafer ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 85% ซึ่งก็มี TSMC, Samsung และ Intel เป็นลูกค้ารายใหญ่ ด้านบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น Shin-Etsu Chemical Co. ก็เป็นบริษัทที่ผูกขาดด้านสารเคมีที่ใช้ในการผลิต เช่นเดียวกับขั้นตอนแรกของการผลิต นั่นคือการออกแบบชิปที่ต้องพึ่งพาซอฟต์แวร์จากบริษัทสัญชาติอเมริกัน คือ Cadence Design Systems Inc. และ Synopsys Inc.
จากปัญหาการขาดแคลนชิปสะท้อนบทบาทที่สำคัญในยุคแห่งเทคโนโลยี ทำให้อุตสาหกรรม semiconductor จะเป็นอีกสมรภูมิรบยุคใหม่ที่ชาติมหาอำนาจต่างเข้ามาแข่งกันอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี การบริหารแหล่งวัตถุดิบและการผลิต หรือแม้กระทั่งการใช้กลยุทธ์การเมืองระหว่างประเทศเพื่อชิงความได้เปรียบนี้
ชอบ "กดถูกใจ" ใช่ "กดแชร์"
แล้วพบกับบทความดี ๆ จาก SkillLane อีกมากมาย
กดติดตามไว้ได้เลย!
พบกับคอร์สออนไลน์การเงินการลงทุน โดยกูรูระดับประเทศที่ SkillLane คลิกเลย
โฆษณา