20 เม.ย. 2021 เวลา 09:00 • ปรัชญา
ฌอง ฌาคส์ รุสโซ กับที่มาของความรู้มนุษย์
.
“เด็กก็เหมือนกับผ้าขาว” คาดว่าใครหลายคนคงเคยได้ยินวลีหรือคำพูดเช่นนี้มาบ้าง เป็นการใช้คำเพื่อเปรียบเทียบเด็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกว่าเป็นผ้าสีขาวสะอาดตา ไม่มีอะไรมาแต่งแต้ม แต่เมื่อเติบโตขึ้น คนใกล้ตัวอย่างครอบครัว และสิ่งเร้ารอบข้างก็จะค่อย ๆ ย้อมผืนผ้าสีขาวให้เปลี่ยนไป ความรู้และความรู้สึกนึกคิดจะถูกหล่อหลอมจนกลายมาเป็นตัวเราอย่างในทุกวันนี้
.
แล้วความคิดพวกนี้มาจากไหนล่ะ?
.
นักปรัชญา ฌอง ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rouseeau) คือผู้ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกับวลีนี้ รุสโซคิดว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความดีอยู่ในตัวมาตั้งแต่แรกแล้ว เราเกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณที่เอื้อต่อการดูแลตนเอง และมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกสังคมและสิ่งรอบข้างทำลายจนมนุษย์กลายเป็นพวกเห็นแก่ตัวและไร้ศีลธรรม
.
รุสโซจึงเห็นความสำคัญในเรื่องการเจริญเติบโตของเด็กว่าควรเป็นไปตามธรรมชาติ เขาเชื่อว่าการศึกษาที่ดีคือการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์ ให้ธรรมชาติเป็นเหมือนครูสอนเด็ก การทำเช่นนี้จะส่งผลให้เด็กสามารถปรับตัวต่อสิ่งเร้าหรือธรรมชาติรอบตัวได้เป็นอย่างดี ทั้งยังกระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็นและคอยแสวงหาความรู้อยู่เสมอด้วย
.
เขายังเชื่ออีกว่าการเลี้ยงดูเช่นนี้จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีศีลธรรม รู้จักตัดสินว่าสิ่งใดดีสิ่งใดชั่ว เพราะการเลี้ยงดูแบบปกติที่ใช้ผู้ใหญ่เป็นคนคอยอบรมสั่งสอนนั้น ความคิดของผู้ใหญ่ก็อาจผิดมาตั้งแต่แรก เมื่อสอนเด็ก เด็กก็จะได้รับความรู้แบบผิด ๆ ไป
.
และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางครั้งเราก็มีความเข้าใจในธรรมชาติของตัวเด็กไม่มากพอ รุสโซจึงได้เสนอว่าสิ่งพื้นฐานทางการศึกษาที่ดีควรจะประกอบด้วย การเจริญเติบโตทางกาย การเรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และความเข้าใจที่มีต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว
.
แนวความคิดนี้ของรุสโซได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากนักปรัชญา จอห์น ล็อค (John Locke) ผู้ที่ให้ความสนใจในเรื่องญาณวิทยา หรือทฤษฎีความรู้
.
ล็อคมีความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่ได้มีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่แรก เขาใช้คำว่า “Tabula Rasa” (Blank Tablet) ซึ่งหมายถึง การเกิดมาพร้อมกับจิตที่ว่างเปล่าเหมือนกับกระดานชนวนที่ไม่มีการเขียนอะไรลงไป เราจะสร้างเสริมทักษะการคิดได้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวโดยผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์ จนกลายเป็น ‘ความรู้’ ในที่สุด
.
ทว่าความคิดของนักปรัชญา 2 คนนี้ ก็ยังมีผู้ที่เห็นไม่ตรงกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนักปรัชญาในช่วงยุคสมัยเดียวกัน หรือผู้ที่กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ในยุคปัจจุบัน
.
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล คุณหมอผู้เชี่ยวชาญในการทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนมายาวนาน ได้แสดงทัศนะต่อคำว่า “เด็กก็เหมือนกับผ้าขาว” ที่แตกต่างกันออกไป
.
โดยอธิบายว่า เด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาเหมือนกันหมด แต่ละคนมีความชอบ ความถนัด และมีรูปแบบการรับรู้ที่ไม่เหมือนกันมาตั้งแต่แรก นั่นเท่ากับว่า 'เด็กไม่ใช่ผ้าสีขาว' เป็นเพียงผ้าสีพื้นที่มีความแตกต่าง บางคนเป็นสีเหลือง บางคนเป็นสีฟ้า ครอบครัวและสิ่งรอบข้างจึงไม่ใช่สีที่ย้อมลงบนผืนผ้า แต่เป็นการเติมลวดลายโดยใช้การเลี้ยงดูผ่านหัวใจ จิตวิญญาณ ความรักและความเข้าใจ
.
แม้ว่าพื้นฐานของแนวคิดจะไม่เหมือนกัน แต่เราก็สามารถนำจุดเด่นของแต่ละแนวคิดมาปรับใช้เพื่อให้เด็กสักคนเติบโตขึ้นมาอย่างดีได้ ก่อนอื่นเราควรจะเข้าใจความแตกต่างในตัวตนของเด็กแต่ละคน จากนั้นจึงใช้คนใกล้ตัว สิ่งรอบข้าง และประสบการณ์เป็นตัวช่วยเหลือ เพราะการเติบโตทางความคิดและทางกายภาพไม่ได้เป็นผลมาจากตัวและจิตใจของเด็กเพียงอย่างเดียว
โดย แอดมินมาย
ขอบคุณภาพประกอบจาก : แอดมินวา
#ความรู้มาจากไหน #แนวคิด #ปรัชญา #TheMemoLife
โฆษณา