14 เม.ย. 2021 เวลา 01:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
‘เดจาวู’ ความรู้สึกเหมือนเคยเห็นมาแล้ว
หนึ่งในเรื่องลึกลับทางวิทยาศาสตร์
2
เคยรู้สึกเหมือนกับประสบเหตุการณ์บางอย่างมาก่อน ทั้งที่จริงๆ ไม่เคยเจอเหตุการณ์นั้นเลยมั้ยครับ บางครั้งก็รู้สึกชัดเจนเหมือนว่าเคยเห็นโลกรอบตัวในลักษณะนี้มาแล้ว แต่กลับนึกไม่ออกว่าเห็นที่ไหนและเมื่อไหร่
ความรู้สึกคลับคล้ายคลับคลานี้เรียกว่า ‘เดจาวู (Déjà Vu)’ เป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ‘เคยเห็นมาแล้ว’
คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ของปรากฏการณ์เดจาวูยังเป็นเรื่องปลายเปิดที่ไม่มีคำตอบชัดเจนนัก แต่นักวิทยาศาสตร์ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสมอง ไม่ใช่เรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด อย่างน้อยๆ เดจาวูก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ช่วยให้เราทำนายอนาคตได้ แม้เราจะรู้สึกเหมือนเคยเห็นสิ่งนั้นมาแล้วก็ตาม
1
แม้ปรากฏการณ์นี้จะดูจับต้องได้ยาก แต่นักวิทยาศาสตร์กลับทำการทดลองจนสาวไปถึงต้นกำเนิดของมันได้แล้วในระดับหนึ่ง
Akira O’Connor ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=SBxnuRY_IFA
Akira O’Connor นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ (University of St Andrews) สหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้
เขาอ่านกลุ่มคำที่มีความเชื่อมโยงกันให้อาสาสมัครฟัง แต่จะไม่อ่านคำบางคำ เช่น อ่านคำว่า pillow (หมอน), dream (ฝัน), night (กลางคืน) ฯลฯ แต่จงใจไม่อ่านคำว่า sleep (นอนหลับ) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับคำอื่นๆ อย่างชัดเจน
ที่มา : https://peerj.com/articles/666/
จากนั้นเขาทำการทดลองถามอาสาสมัคร 2 รอบ
รอบแรกถามว่า เมื่อสักครู่ได้ยินคำที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร s หรือไม่ แน่นอนว่าอาสาสมัครตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้ยิน
แต่คำถามต่อมาคือการถามว่าได้ยินคำว่าอะไรบ้าง พอถามไปถามมา อาสาสมัครกลับรู้สึกคุ้นๆ ว่าได้ยินคำว่า sleep
2
กล่าวได้ว่าการทดลองง่ายๆ นี้กระตุ้นให้คนเราเกิดประสบการณ์เดจาวูขึ้นมาได้!
1
ที่มา : https://peerj.com/articles/666/
ที่น่าสนใจคือการทดลองไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะระหว่างที่อาสาสมัครเกิดอาการเดจาวูกับคำว่า sleep นักวิจัยได้อ่านคลื่นสมองของอาสาสมัครด้วยเครื่อง fMRI (functional magnetic resonance imaging) เพื่อดูว่าสมองส่วนไหนทำงานขณะเกิดเดจาวู
ในตอนแรกนักวิทยาศาสตร์คาดว่าสมองส่วนความทรงจำสักแห่งน่าจะรับผิดชอบต่ออาการเดจาวู แต่ผลลัพธ์ที่ได้ผิดกับที่คาดการณ์ไว้เพราะพบว่าสมองส่วนความทรงจำนั้นเงียบกริบ ไม่มีการส่งสัญญาณประสาทใดๆ มากขึ้น แต่สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจกลับมีการส่งกระแสประสาทอย่างขวักไขว่
3
พูดง่ายๆ ว่า เดจาวูเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสมองส่วนการตัดสินใจ ไม่ใช่ความทรงจำ
1
คำอธิบายที่เป็นไปได้คือ สมองส่วนการตัดสินใจนั้นทำหน้าที่ตรวจสอบความทรงจำของเราเพื่อมองหาจุดไม่ชอบมาพากลเวลาเรารื้อฟื้นความทรงจำ และเมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติบางอย่าง จึงทำให้เกิดอาการเดจาวู
เครื่อง fMRI (functional magnetic resonance imaging) ที่มา : https://cdn.britannica.com/78/144378-050-86821D27/magnetic-resonance-imaging-scanner.jpg
ทีมนักวิจัยเชื่อว่า การเกิดเดจาวูเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าสมองส่วนการตัดสินใจที่คอยตรวจสอบยังทำงานได้ดีอยู่ ทฤษฎีนี้สอดคล้องกับการที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าคนวัยหนุ่มสาวนั้นมีโอกาสเกิดเดจาวูได้มากกว่าคนที่อายุมาก เพราะระบบตรวจสอบในสมองของคนอายุมากๆ ทั้งหลายนั้นอาจจะเริ่มทำงานน้อยลงแล้ว ดังนั้นผู้สูงอายุจึงไม่ค่อยเกิดอาการเดจาวูและมีการจำอะไรผิดพลาดบ่อยๆ
3
แต่ในอีกแง่หนึ่ง คนที่ไม่รู้สึกถึงเดจาวูก็อาจมีระบบสมองที่ดีมากเพราะระบบตรวจจับทำงานได้ดีจนไม่พบสิ่งผิดปกติอะไรจึงไม่เกิดเดจาวู
ความจริงเป็นเช่นไรกันแน่ยังไม่มีใครรู้ คำอธิบายทั้งหลายที่กล่าวมานี้ยังต้องการการทดลองหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อจะนำมาซึ่งข้อสรุปที่ชัดเจนรัดกุมจริงๆ
ไม่ใช่แค่รู้สึกว่าใช่แล้วด่วนสรุปไปเอง
3
อ้างอิง
โฆษณา