14 เม.ย. 2021 เวลา 08:45 • ประวัติศาสตร์
• ประวัติศาสตร์ล้านนา | ฉบับรวบรัด
3
* เนื้อหาในบทความนี้จะเป็นการสรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ของล้านนาในแบบสรุปภาพรวม ดังนั้นเนื้อหาในบางเหตุการณ์ที่มีความละเอียดซับซ้อน อาจจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในบทความนี้
• ล้านนาในช่วงต้น (พ.ศ. 1839-1898)
ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 พญามังรายเจ้าเมืองเงินยางได้ทรงรวบรวมหัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อยในเขตลุ่มแม่น้ำกก รวมตัวกันเป็นกลุ่มแคว้นโยนก
3
หลังจากนั้นพญามังรายก็ได้รวบรวมดินแดนในบริเวณแอ่งเชียงรายและแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน เมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เชียงราย, เชียงแสน, ลำพูน, ลำปาง, ฝาง, รวมไปถึงหริภุญชัย ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพญามังราย
1
ในปี พ.ศ. 1839 พญามังรายทรงดำริให้ก่อสร้างศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ ซึ่งก็คือเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ นับเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรล้านนาภายใต้ราชวงศ์มังราย
ในการนี้พญามังรายยังได้ทูลเชิญให้พญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย มาร่วมพิจารณาถึงผังเมืองและชัยภูมิของเชียงใหม่
พระบรมราชานุสาวรีย์ พญางำเมืองแห่งพะเยา (ซ้าย) พญามังรายแห่งเชียงใหม่ (กลาง) และพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย (ขวา)
• ยุคทองของล้านนา (พ.ศ. 1898-2068)
อาณาจักรล้านนามีความเจริญรุ่งเรืองนับตั้งแต่สมัยของพญากือนา (พ.ศ. 1898-1929) พระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1984-2030) จนถึงสมัยพญาแก้ว (พ.ศ. 2038-2068)
1
ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการทูลเชิญสมณทูตจากสุโขทัย เพื่อให้เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในล้านนา ซึ่งเรียกว่านิกายรามัญวงศ์หรือนิกายลังกาวงศ์เก่า โดยเมืองลำพูนถือเป็นศูนย์กลางสำคัญทางด้านพระพุทธศาสนาของล้านนาในช่วงเวลานั้น (ในปี พ.ศ. 2020 ยังมีการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกในดินแดนของไทยด้วย)
นอกจากนี้ล้านนายังสามารถขยายอิทธิพลไปยังหัวเมืองตอนเหนือไม่ว่าจะเป็น เชียงรุ้ง, เชียงตุง, เมืองนาย, เมืองสีป้อ ,หลวงพระบางในลาว รวมไปถึงล้านนายังเปิดศึกกับอาณาจักรที่สำคัญของไทยอย่างอาณาจักรอยุธยาอีกด้วย
1
• ล้านนาในฐานะประเทศราชของพม่า (พ.ศ. 2101-2317)
1
ความเสื่อมของอาณาจักรล้านนาเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดนับแต่สมัยของพญาเกศเชษฐราช (พ.ศ. 2068-2081) บ้านเมืองเกิดความแตกแยกวุ่นวาย บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนาเริ่มแบ่งแยกซึ่งกันและกัน
ท้ายที่สุดในปี พ.ศ. 2101 ล้านนาก็ถูกยึดครองโดยอาณาจักรตองอูของพม่า ล้านนาตกอยู่ในสถานะประเทศราชของพม่าเป็นเวลายาวนานกว่า 200 กว่าปี
• ล้านนาในฐานะประเทศราชของสยาม (พ.ศ. 2317-2442)
1
ในปี พ.ศ. 2317 สมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินทรงส่งกองทัพเพื่อโจมตีหัวเมืองล้านนาที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า
1
ในช่วงเวลาเดียวกัน บรรดาหัวเมืองล้านนาต่าง ๆ ได้ต่างพากันแข็งข้อต่อพม่า นำโดยพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง
ท้ายที่สุดพระยากาวิละก็ได้ร่วมมือกับกองทัพสยาม จนสามารถขับไล่อิทธิพลของพม่าให้ออกไปจากล้านนาได้สำเร็จ พระยากาวิละและหัวเมืองล้านนาได้สวามิภักดิ์ต่อสยาม นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นประเทศราชของล้านนาภายใต้อำนาจของสยาม
พระยากาวิละ เจ้าผู้ครองเชียงใหม่คนแรกจากราชวงศ์ทิพย์จักร
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 1 พระยากาวิละได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้วเป็นเจ้าผู้ปกครองนครเชียงใหม่
นอกจากนี้เหล่าพี่น้องของพระยากาวิละอีก 6 คน ก็ได้รับพระราชทานให้ไปปกครองตามหัวเมืองล้านนาต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของตระกูลเจ้าเจ็ดตนหรือราชวงศ์ทิพย์จักร ที่ได้ปกครองหัวเมืองล้านนาในช่วงที่เป็นประเทศราชของสยาม
เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยมของอังกฤษในพม่าและฝรั่งเศสในลาว ส่งผลให้สยามเกิดเกรงว่าดินแดนล้านนาจะตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมตะวันตกได้
ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ. 2442 ดินแดนล้านนาจึงได้ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นมณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ อันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสยามอย่างเป็นทางการ รัฐบาลกลางจากกรุงเทพได้ส่งข้าหลวงใหญ่เข้ามาปกครองดินแดน เพื่อแทนที่เจ้าเมืองหรือเจ้าหลวงในระบบเดิม มีการลดถอนอำนาจของเจ้าเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป
และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ระบบมณฑลเทศาภิบาลได้ยกเลิก ทำให้มณฑลพายัพถูกยุบและแบ่งออกเป็นจังหวัดต่าง ๆ ระบบเจ้าเมืองภายใต้ราชวงศ์ทิพย์จักรก็ได้ถึงจุดสิ้นสุดลง และถูกแทนที่ด้วยระบบผู้ว่าราชการจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา