15 เม.ย. 2021 เวลา 10:18 • ธุรกิจ
ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอน 2
คราวก่อนผมถ่ายทอดมุมมองของท่านธนากร เสรีบุรี เกี่ยวกับขั้นตอนในการพัฒนาของจีน โดยในช่วง 10 ปีแรกที่มุ่งพัฒนาพื้นที่ทางตอนใต้ก่อน และทิ้งท้ายด้วยเรื่องการพัฒนาคนที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้จีนเติบโตอย่างรวดเร็ว วันนี้ผมจะพาไปติดตามการพัฒนาของจีนในช่วงต่อมากัน ...
ช่วง 10 ปีที่สอง จีนทุ่มเต็มที่กับการพัฒนาหัวตง แถบนครเซี่ยงไฮ้ ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง และเริ่มพัฒนาพื้นที่ซีกตะวันตกของจีน
หลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินสงบลง ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งมีอิทธิพลมากในกวางตุ้ง เดินทางมาเซี่ยงไฮ้ และเห็นว่าจีนต้องขยายพื้นที่การพัฒนาจากทางตอนใต้ขึ้นมาตอนบนมากขึ้น จึงเป็นที่มาของพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง และเมืองใหม่ผู่ตง
ทั้งที่จริงๆ แล้ว ท่านธนากรฯ เห็นว่า จีนน่าจะเปิดเซี่ยงไฮ้ก่อน แต่รัฐบาลจีนก็อาจกลัวโดนครหาว่าลำเอียง เพราะผู้มีอำนาจในปักกิ่งยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นคนเซี่ยงไฮ้
ท่านธนากรฯ เปิดเผยอีกว่า จีนมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล คิดเก่ง รวดเร็ว และจริงจัง ในความพยายามที่จะพัฒนาเขตเมืองใหม่ผู่ตง ท่านเติ้ง ส่งรองนายกรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญจำนวน 40 คนไปร่วมศึกษาและวางแผนการพัฒนาเขตผู่ตงเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้น ก็สรุปเรื่องเสนอปักกิ่งเพื่ออนุมัติโครงการพัฒนาเขตเมืองใหม่ผู่ตง เซี่ยงไฮ้
จีนในช่วงนั้นเป็นโรงงานของโลก จีนผลิตสินค้าราคาถูก และส่งออกไปขายทั่วโลก อย่างไรก็ดี จีนก็ตระหนักดีว่า ถ้าสถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ต่อไป ในระยะยาว จีนจะไม่มีมิตร ไม่มีใครอยากคบค้าด้วย ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงนั้น จีนเริ่มถูกต่อต้านและกดดัน รัฐบาลต่างชาติเริ่มมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB)
การเข้ารับตำแหน่งของ เจียง เจ๋อหมิน มาพร้อมกับนโยบายให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ (Privatization) การพัฒนาภาคบริการ และการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการเริ่มปูพื้นฐานของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ โดยเชิญชวนกิจการด้านเทคโนโลยีชั้นสูงของต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน ซึ่งเพิ่มโอกาสทางธุรกิจอีกมากมายในเวลาต่อมา
จีนเริ่มขยับเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลก อาทิ การเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเปกที่เซี่ยงไฮ้ และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 รวมทั้งยังหันมาเริ่มสร้างตลาดภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับภาคการบริโภคภายในประเทศ
ขณะเดียวกัน จีนก็เริ่มพัฒนาพื้นที่ในซีกตะวันตก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของความเจริญระหว่างภูมิภาค โดยเอาเฉิงตูเป็นศูนย์กลาง และขยายการพัฒนาเข้าสู่ทิเบต ซินเจียง กานซู่ และอื่นๆ
ในเวลาต่อมา พื้นที่ด้านซีกตะวันตกของจีนได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การลงทุนขยายตัวอย่างมาก และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในหลายส่วน
 
ยิ่งพอจีนประสบวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกในเวลาต่อมา รัฐบาลจีนในสมัยที่มีท่านเหวิน เจียเป่าเป็นนายกรัฐมนตรี ก็อัดเงิน 4 ล้านล้านหยวนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งเม็ดเงินส่วนหนึ่งก็ลงพื้นที่ด้านซีกตะวันตกของจีน
กิจการเครื่องมือหนัก “แค็ตเทอร์พิลล่า” (Caterpilla) ซึ่งซีพีร่วมมือในจีนอยู่ด้วย ก็นับเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะในช่วงนั้น ธุรกิจขยายตัวในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับในพื้นที่อื่น พื้นที่ตอนในเต็มไปด้วยการก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้บริการสินค้าเหล่านี้
ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ด้านซีกตะวันตกก็พัฒนาไปอย่างมาก จากในอดีตที่สนามบินซินเจียงมีขนาดพอๆ กับสนามบินโคราช
แต่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่กว่าสุวรรณภูมิของเราเสียอีก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเลื่อมล้ำระหว่างคนรวยในด้านซีกตะวันออกของจีนและคนจนที่กระจุกอยู่ในพื้นที่ตอนใน
ช่วง 10 ปีที่สาม จีนเน้นการพัฒนาพื้นที่อ่าวโป๋วไฮ่ โดยเอาเทียนสินเป็นศูนย์กลางการพัฒนาควบคู่ไปกับปักกิ่ง ชิงเต่า และเมืองอื่นๆ
ในยุคนี้ เหวิน เจียเป่า เป็นนายกรัฐมนตรี จีนเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่จีนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงปักกิ่ง การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง และการเป็นเจ้าภาพงานนิทรรศการโลก (World Expo) ณ นครเซี่ยงไฮ้
ช่วง 10 ปีที่สี่ จีนขยายการพัฒนาแถบจงหยวน (พื้นที่ภาคกลาง 5 มณฑล) โดยมีนครเจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนานเป็นศูนย์กลาง
จีนมองว่า ในช่วงที่ผ่านมา จีนลงทุนพัฒนาพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลจนหมดแล้ว จึงเริ่มขยับเข้าสู่พื้นที่ตอนใน โดยรัฐบาลมณฑลเหอหนานลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นเพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อดึงดูดการลงทุนในสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงที่มีราคาแพง จีนต้องพัฒนาการขนส่งทางอากาศ
จะเห็นได้ว่า จีนลงทุนก่อสร้างสนามบินเจิ้งโจวแห่งใหม่ที่มีทางขึ้นลงถึง 5 ช่องทาง จำแนกเป็นสำหรับเครื่องบินโดยสาร 4 ช่องทาง และสำหรับสินค้า 1 ช่องทาง และดึงเอาบริษัทด้านลอจิสติกส์ชั้นนำเข้ามาให้บริการ
นอกจากนี้ รัฐบาลเหอหนานยังพยายามดึงเอาบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าไปลงทุนโดยให้มาตรการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น การดึงเอาโรงงานผลิตแอปเปิ้ลของฟ๊อกซ์คอนน์ (Foxconn) ให้ขยายกิจการจากมณฑลกวางตุ้งเข้าไปที่เหอหนาน
เพราะรัฐบาลท้องถิ่นเชื่อมั่นว่า หากดึงแอปเปิ้ลเข้าไปลงทุนในพื้นที่สำเร็จ กิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายอื่นๆ ก็จะตามมา
เพียงโรงงานแรกของฟ๊อกซ์คอนน์ที่เจิ้งโจวว่าจ้างแรงงานถึงราว 200,000 คน และเมื่อการลงทุนขยายตัว บริษัทก็มีการจ้างงานเหยียบล้านคนแล้วในปัจจุบัน
เรายังเห็นรูปแบบการส่งเสริมของรัฐบาลจีนที่น่าสนใจ ซึ่งไทยอาจสามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ในโครงการอีอีซีได้ อาทิ การกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดกิจการต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาในพื้นที่ และการใช้ระบบการเช่าซื้อ
ในกรณีหลังนี้ ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกโดยไม่มีหรือมีค่าใช้จ่ายที่ไม่อยู่ในระยะแรก เมื่อมั่นใจแล้วก็สามารถซื้ออาคารเหล่านั้นได้
ท่านธนากรฯ ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า ในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในจีน เราต้องมีความซื่อสัตย์ เชื่อถือได้ และ Give and Take ไม่ใช่เอาประโยชน์เพียงอย่างเดียว ซึ่งซีพีก็ใช้เวลาพิสูจน์ให้รัฐบาลจีนเห็นถึงความมุ่งมั่นและจริงใจ
นอกจากนี้ การเป็น “เพื่อนในยามยาก” ก็เป็นคุณสมบัติประการสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน นักลงทุนต่างชาติต่างแตกตื่นและบินออกนอกประเทศกันเกือบหมด
แต่ซีพีประกาศนโยบายชัดเจนว่า พนักงานของเราไม่ต้องเดินทางกลับไทย หากเส้นทางไปสถานที่ทำงานต้องผ่านพื้นที่การชุมนุมและไม่ปลอดภัย ก็ขอให้ทำงานจากที่บ้าน
ท่านธนากรฯ เล่าบรรยากาศว่า ช่วงนั้นท่านอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และพักอยู่ที่โรงแรมฮิลตัน แต่ไม่มีน้ำอุ่นให้อาบ ครั้นพอสอบถามเข้าหน้าที่โรงแรมก็ทราบว่า ท่านเป็นชาวต่างชาติคนเดียวที่เหลือพักอยู่ในขณะนั้น
นอกจากซีพีไม่เพียงไม่ถอนการลงทุนจากจีน แต่ขยายการลงทุนในจีนอีกด้วย
ในปีนั้นเอง ซีพีตัดสินใจลงทุนเกือบ 10 โครงการในจีน ซึ่งรัฐบาลจีนก็ได้รับรู้ความจริงใจของซีพีจากหลายเหตุการณ์
หรือแม้กระทั่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ซีพีก็ดำเนินโยบายในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน
ในช่วงนั้น ไทยเราจัดคณะผู้แทนเยือนจีน นำโดยดร. สมคิดฯ รองนายกรัฐมนตรี และมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-จีนระดับรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสถานะที่สูงมาก
ท่านธนากรฯ ยังเห็นว่า รัฐบาลไทยควรที่จะสานต่อเพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมระหว่างไทย-จีนในอนาคต
ท่านธนากรฯ ยังเปิดเผยอีกว่า ด้วยคุณสมบัติและเหตุการณ์ดังกล่าว จึงทำให้โครงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวที่ซีพีเคยเสนอรัฐบาลเซี่ยงไฮ้และถูกเก็บเข้าลิ้นชักก่อนหน้านี้ ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่
เมื่อต่างชาติไม่กล้าเข้าไปลงทุนในช่วงนั้น ซีพีจึงได้รับโอกาสในการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ริมแม่น้ำหวงผู่ 40 เฮกเตอร์ ติดหอคอยไข่มุก ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กของผู่ตง
ทุกวันนี้ใครไปเซี่ยงไฮ้ก็พลาดไม่ได้ที่จะต้องไปชื่นชมสถาปัตยกรรมและความทันสมัยของย่านลู่เจียจุ่ย อาทิ เซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์ และเวิร์ลไฟแนนเชียลเซ็นเตอร์ รวมทั้งห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์แบรนด์มอลล์
หรือแม้กระทั่งโครงการพัฒนาที่ดิน 125 ไร่ในเขตเมืองใหม่ใจกลางเมืองลั่วหยาง ก็เกิดขึ้นจากการลงทุนและทำงานร่วมมือกับภาครัฐ
ตอนนั้น ผู้บริหารของรัฐบาลลั่วหยางมีแผนจะพัฒนาเมืองใหม่ ประจวบเหมาะกับการเดินทางมาดูงานที่ไทย เราก็พาเยี่ยมชมห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และอื่นๆ
ฝ่ายจีนก็บอกว่าอยากเห็นกิจการเหล่านี้ในพื้นที่เขตเมืองใหม่ดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะการทำที่อยู่อาศัยและขายทำเงินเท่านั้น แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็รู้ว่าราคาตลาดของที่ดินในขณะนั้นอยู่ที่ราว 3 ล้านหยวนต่อหมู่ (ไร่จีน) ธุรกิจเหล่านี้ต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าจะคืนทุน
แต่รัฐบาลจีนคิดเก่ง เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นและนักลงทุนอยู่รอดได้ รัฐบาลก็กำหนดราคาขายที่ดินไว้ที่ 800,000 หยวนต่อหมู่ แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ลงทุนต้องนำเอาห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นเข้าไปลงทุนด้วย ซึ่งต่อมาซีพีก็โชคดีได้รับโอกาสนี้
การเติบใหญ่ของจีนในช่วง 10 ปีที่สี่ยังปรากฏให้เห็นอีกมากในยุคปัจจุบัน จีนทำอะไรอีกบ้าง และทำได้อย่างไร ตอนหน้าเราไปคุยกันต่อครับ ...
#ธนากร เสรีบุรี
#ซีพี
#สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน
#การทำธุรกิจในจีน
#เซี่ยงไฮ้
#เทียนจิน
#เฉิงตู
#เหอหนาน
1
โฆษณา