16 เม.ย. 2021 เวลา 23:00 • หนังสือ
ศิลปะแห่งการอ่านคน
หนังสือ Talking to Strangers หรือศิลปะแห่งการอ่านคน เขียนโดย มัลคอล์ม แกลดเวลล์ เป็นหนังสือที่นำเรื่องราวต่าง ๆ ในสหรัฐมาเป็นบทเรียนในการทำความเข้าใจคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน อ่านแล้วเพลินดีครับ แต่ก็ใช้เวลาทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อสักหน่อยครับ
บทเรียนที่คิดว่าได้จากหนังสือเล่มนี้
1. เราคิดว่าเราสามารถทำความเข้าใจคนอื่นได้ง่ายจากข้อมูลที่เรามีหรือสิ่งที่เราเห็นเพียงเล็กน้อย ทำให้เราตัดสินคนที่ไม่รู้จักอย่างรวดเร็ว แต่เราจะไม่คิดเรื่องนี้กับตัวเอง เพราะเราคิดว่าเราเป็นคนละเอียดอ่อน ซับซ้อน เข้าใจยาก ค่อนข้างเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะส่วนใหญ่เรามักจะได้เห็นข้อมูลคร่าว ๆ จากเรื่องหนึ่ง เราก่อนด่วนสรุปว่าคนในเหตุการณ์นั้นว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี พบบ่อยมากในการเขียนข้อความบนโซเชียลมีเดียครับ
2. คนเรามักจะมีความคิดที่พร้อมใจเชื่อคนอื่นเสมอ ทำให้เราไม่สามารถแยกแยะคนที่พูดจริงหรือว่าคนที่พูดโกหกกับเรา ดังนั้นเราจะเริ่มต้นด้วยการเชื่อใจคนนั้นไปก่อน จนกว่าเราจะเจอสิ่งที่เรียกว่า ตัวจุดชนวน ที่จะทำให้เราเลิกเชื่อในสิ่งเราเคยเชื่อเดิม ในบางครั้งใครบางคนก็โกหกเรา ถึงแม้จะแสดงท่าทางแปลก ๆ บ้างแต่เราก็ยังเชื่อใจ จนกว่าเราจะเจออะไรที่คาหนังคาเขา เราจึงเลิกเชื่อ บางทีก็สายไปเสียแล้ว
3.ในบางองค์กรอาจจะต้องมี คนโง่ผู้รู้แจ้งบ้าง คนส่วนใหญ่มักจะคล้อยตามกันได้ง่ายมาก แต่จะมีคนบางคนที่ไม่คล้อยตามใครง่าย ๆ และพูดตรง ๆ คนกลุ่มนี้จะช่วยให้เราเห็นในมุมมองที่แตกต่างมากขึ้น แต่ถ้าคนกลุ่มนี้เป็นพวกระแวดระวังตัวไปทุกเรื่องก็จะใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวไปหมด
4. เรามักจะคิดว่าเราสามารถดูคนออกจากสีหน้าที่แสดงออก ซึ่งจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น คนเรามีการแสดงอารมณ์เดียวกันด้วยสีหน้าที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ การแสดงสีหน้าก็จะแตกต่างกันไปด้วย ทำให้เราตีความผิดได้ รวมถึงบางคนเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ อาจจะมีอารมณ์ที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ตีความผิดได้เช่นกัน
5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เครื่องเผยตัวตน แต่เป็นเครื่องเปลี่ยนแปรตัวตน เมื่อดื่มแอลกอฮอล์แล้วเราจะคิดการณ์ใกล้ลง ดังนั้นเราจะคิดแค่การกระทำเพียงในช่วงเวลานั้น แต่เราจะลืมที่จะคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาในระยะยาว ทำให้บางคนดื่มแอลกอฮอล์แล้วก่อเหตุมากมาย และเกิดอาการภาพตัด หลังจากนั้นจำอะไรไม่ได้กับสิ่งที่ได้ทำลงไป ดังนั้นจึงต้องระวังให้มาก
6. แนวคิดเรื่องการจับคู่เชื่อมโยง (Coupling) เชื่อว่าการแสดงพฤติกรรมบางอย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เจาะจง บางคนอาจจะกระทำอะไรบางอย่างเนื่องจากสิ่งแวดล้อม บริบท หรืออุปกรณ์นั้นเอื้ออำนวยให้แสดงการกระทำนั้นได้ง่าย เช่น บางพื้นที่เป็นพื้นที่ก่ออาชญากรรมมากกว่าพื้นที่อื่น เลยเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น
7. เรามั่นใจในแนวทางของเราในการดำเนินการและตัดสินคนอื่น เราจึงยึดถือและดำเนินการตามวิธีนั้นกับทุก ๆ คน แต่แท้จริงแล้วคนอื่น ๆ ที่เราเจอนั้นเขามีบุคลิกที่แตกต่างกัน มาจากสภาพแวดล้อมและบริบทที่แตกต่างกัน เราจึงต้องเข้าใจในหลาย ๆ เรื่องของคน ๆ นั้นก่อนที่เราจะตัดสินเขา
สรุปความเข้าใจว่า คนอื่นนั้นเข้าใจได้ยาก โดยเฉพาะเราไม่เคยรู้จักเขามาก่อน ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจคนอื่นให้มากขึ้น ค่อย ๆ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ด่วนตัดสินคนอื่น
#ศิลปะแห่งการอ่านคน
#สรุปหนังสือ
#Akara's blog
โฆษณา