17 เม.ย. 2021 เวลา 08:53 • กีฬา
เดอะ ซัน คือหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในประเทศอังกฤษ แต่กลับขายที่ลิเวอร์พูลไม่ได้ มา 32 ปีแล้ว เหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
6
หนังสือพิมพ์ยอดขายดีที่สุดในประเทศอังกฤษ 42 ปีติดต่อกัน คือ เดอะ ซัน (The Sun) ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ขายดีสุด คือเดลี่ มิเรอร์ แต่นับจากปี 1977 จนถึงปี 2019 เดอะ ซัน มียอดขายแซงขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง โดยไม่มีใครโค่นล้มพวกเขาได้เลย
เดอะ ซัน เป็นหนังสือพิมพ์ไซส์เล็ก หรือที่เราเรียกกันว่าแทบลอยด์ พวกเขามีจุดเด่นคือการใช้คำหวือหวา และการออกแบบหน้าปกที่โดดเด่นสุดๆ มันสะดุดตาคุณได้ตั้งแต่แว้บแรกที่เห็น
วันที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ประกาศรีไทร์ ในขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ก็ลงหน้าเฟอร์กี้กันตามปกติ แต่เดอะ ซัน ลงรูป "เครื่องเป่าผม" 1 อัน เต็มหน้าหนึ่ง แล้วเขียนว่า The Hairdryer : Manchester United 1986-2013 คิดดูสิ ว่ามันเหนือชั้นขนาดไหน
7
อย่างไรก็ตาม ความนิยมของเดอะ ซันนั้น ไม่สามารถตีตลาด 1 เมืองในประเทศอังกฤษได้สำเร็จ นั่นคือเมืองลิเวอร์พูล ถ้าหากไปเดินตามท้องถนน คุณจะหาเดอะ ซันไม่ได้เลย ใน Kiosk เล็กๆ หรือแม้แต่ห้างใหญ่ๆแบบ Tesco ก็ไม่มีเดอะ ซัน วางขายทั้งสิ้น
มีคนอังกฤษเคยไปลงพื้นที่สำรวจ ว่ามีร้านค้าเจ้าไหนรับเดอะ ซัน มาขายบ้างหรือไม่ คำตอบคือก็มี แต่ Very Rarely หรือหายากมากๆ จนแทบไม่มีเลย เหตุผลง่ายๆ คือชาวเมืองไม่ซื้อ ร้านค้ารับมาขาย ก็ขายไม่ออกอยู่ดี ดังนั้นจะสั่งมาทำไมล่ะ
2
ปรากฏการณ์แบนหนังสือพิมพ์ทั้งเมือง ไม่ใช่เรื่องปกตินัก ลองคิดดูถ้าสักจังหวัดในประเทศไทย สมมุติว่าเป็นชลบุรี พร้อมใจแบนไทยรัฐทั้งจังหวัด เดินไปตามเซเว่นหรือร้านค้า ก็ไม่มีไทยรัฐมาขายคงเป็นเรื่องที่พิลึกมาก
1
แต่ที่เมืองลิเวอร์พูล เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นจริงๆ และไม่มีแนวโน้มด้วยว่าจะหยุดได้เมื่อไหร่ ถึงตรงนี้มันกลายเป็นวัฒนธรรมของเมืองไปแล้ว ว่าคนเมืองนี้จะไม่ข้องเกี่ยวใดๆกับหนังสือพิมพ์เดอะ ซัน แม้แต่สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล และเอฟเวอร์ตัน ที่ต้อนรับสื่อมวลชนทั่วโลก ยังไม่อนุญาตให้นักข่าวจากเดอะ ซัน เข้ามาทำข่าวในสนามของตัวเองได้
4
ผมเชื่อว่า ทุกคนน่าจะพอทราบว่า ต้นเหตุของการแบนเดอะ ซัน เกิดขึ้นจากการรายงานข่าวในกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่ ในปี 1989 แต่ก่อนที่เราจะไปเล่าถึงจุดนั้น จำเป็นต้องเล่าถึงแบ็กกราวน์ที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ก่อน
ในยุค 70 เป็นต้นมา เมืองลิเวอร์พูลถือว่าเป็นตัวร้ายในสายตาของคนอังกฤษ ตั้งแต่เหตุการณ์จลาจลที่ท็อกซ์เท็ธในปี 1981 เพื่อต่อต้านรัฐบาลของมากาเร็ธ แทตเชอร์ โดยนี่เป็นเหตุจลาจลที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ เหตุการณ์ตะลุมบอนเกิดขึ้น 9 วัน 9 คืน สุดท้ายชาวเมืองโดนจับไป 500 คน ตำรวจได้รับบาดเจ็บ อย่างน้อย 468 คน แถมมีคนเสียชีวิตด้วย 1 ศพ
2
เมืองอุตสาหกรรมในอังกฤษจำนวนมากที่มีแรงงานอยู่เยอะๆ อย่างลิเวอร์พูล, ลีดส์ หรือเบอร์มิงแฮม ไม่พอใจกับนโยบายการรัดเข็มขัด ตัดงบ ของนายกฯ แทตเชอร์ แต่ก็ไม่มีเมืองไหน ลุกฮือจนเกิดความรุนแรงขนาดนี้
5
ตามด้วยในปี 1985 แฟนบอลลิเวอร์พูลไปทำร้ายแฟนบอลยูเวนตุส ในเกมนัดชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยนคัพ ที่สนามเฮย์เซล สเตเดี้ยม จนมีผู้เสียชีวิต 39 คน เหตุการณ์นี้ ทำให้ยูฟ่าสั่งแบนสโมสรอังกฤษ ห้ามเล่นรายการยุโรปเป็นเวลา 5 ปี ส่วนลิเวอร์พูลห้ามเล่น 6 ปี
3
ภาพลักษณ์ของแฟนบอลอังกฤษในสายตาชาวยุโรป เรียกได้ว่าตกต่ำอย่างมาก ซึ่งชาวอังกฤษจำนวนมากก็โยนความผิดไปที่ แฟนบอลลิเวอร์พูล และรวมถึงคนเมืองลิเวอร์พูลด้วย ว่าก่อเรื่องอีกแล้ว คือจะก่อเรื่องในประเทศก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ถึงขนาดไปไล่กระทืบแฟนบอลต่างชาติ มันไม่เกินไปหน่อยหรือ ทำไมถึงชอบใช้ความรุนแรงขนาดนี้
2
หลังจาก 2 เหตุการณ์ฉาวผ่านไป ชาวเมืองลิเวอร์พูลก็ได้รับบทเรียนอันล้ำค่า และตั้งใจจะพิสูจน์ตัวเองให้สังคมเห็นว่า พวกเขาเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ เรื่องความรุนแรงใดๆ จะไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นอีก ภาพลักษณ์ที่แย่ๆ จะพยายามเปลี่ยนให้มันเป็นบวกมากขึ้น
แต่ยังไม่ทันที่สังคมจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่ฮิลส์โบโร่เสียก่อน
2
15 เมษายน 1989 เกมเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศ ระหว่างลิเวอร์พูล กับน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ แข่งขันกันที่สนามฮิลส์โบโร่ ของเชฟฟิลด์ เวนสเดย์ ซึ่งเป็นสนามกลาง
1
ตั๋ว 53,000 ใบหมดเกลี้ยง โดยแฟนบอลลิเวอร์พูลราว 10,000 คนจะได้นั่งหลังโกล์ บนสแตนด์ฝั่งเลปปิ้งส์เลน
เกมนี้ด้วยความที่เป็นเกมใหญ่และคนเยอะ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากเทศบาลเมืองเซาธ์ยอร์กเชียร์ เข้ามาช่วยจัดการเรื่องการเปิดปิดประตูเข้าออก เพื่อจะได้วางแผนความปลอดภัยง่ายๆ ไม่ต้องให้ แฟนบอลสองทีมกระทบกระทั่งกันได้
1
ในยุคนั้น สนามฮิลส์โบโร่ ทำสแตนด์เป็นลักษณะเหมือน "คอก" คือมีลูกกรงเหล็กกั้นไว้ ไม่ให้แฟนบอลลงสู่สนามได้ ข้อดีคือ มันก็รักษาความปลอดภัยให้นักเตะได้ง่ายดี สามารถป้องกันคนกรูวิ่งลงไปสนามได้ แต่ข้อเสียคือ มันกลายเป็นพื้นที่ปิดตาย และถ้าเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้น มันจะไม่มีทางออกเลย
1
จุดเริ่มต้นของปัญหาในวันนั้นคือ นายตำรวจท่านหนึ่ง ที่มียศเป็นผู้กำกับ ชื่อเดวิด ดั๊คเค่นฟิลด์ เป็นวันแรกสุดที่เขามาทำหน้าที่เป็นตำรวจผู้ควบคุมความปลอดภัยในสนาม เขาประเมินสถานการณ์ผิด และให้แฟนบอลเข้าสู่สนาม "ช้าเกินไป"
1
ตามกำหนดเวลา บอลจะเริ่มแข่ง 15.00 น. และแฟนบอลลิเวอร์พูลมาถึงหน้าสนามกันตั้งแต่เที่ยงแล้ว แต่กว่าจะเปิดให้เข้าสนามได้ ดั๊คเค่นฟิลด์ ต้องรอจนถึงเวลา 14.30 น. มันเลยกลายเป็นว่า แทนที่คนจะได้จับจองที่ยืนกันได้แต่เนิ่นๆ เลยมาเร่งๆ กรูเข้าสนามกันในช่วงก่อนบอลเตะ
1
ไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่ฮิลส์โบโร่ มีดังนี้
1
14.30 - ตำรวจปล่อยแฟนบอลลิเวอร์พูลล็อตแรกเข้าสนาม จำนวน 4,383 คน แต่มีอีกราว 5,700 คนที่รออยู่ด้านนอก ยังเข้ามาในสแตนด์ไม่ได้
14.45 - อีก 15 นาทีฟุตบอลจะเตะแล้ว แฟนบอลกดดันให้ตำรวจ ปล่อยให้เข้าไปชมเกมในสนามซะที มีการเขย่ารั้ว กดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ คือแฟนบอลก็เสียเงินมาซื้อ ใครๆก็อยากเข้าไปดูเกมตั้งแต่นาทีแรกทั้งนั้น
โดยปกติแล้ววิธีการให้แฟนบอลเข้าสู่สนาม ผู้ชมต้องเข้าผ่านทาง Turnstile หรือประตูหมุน ลองนึกภาพตามรถไฟฟ้า BTS ถ้าต่อแถวทยอยเข้าทีละคน มันก็จะมีความปลอดภัยพอสมควร เพราะทยอยมากันเรื่อยๆ ไม่ได้แห่มาพร้อมกันคราวเดียว
แต่ ณ เวลานั้น เดวิด ดั๊คเค่นฟิลด์ ทนแรงกดดันไม่ไหว การทำงานวันแรกของเขาในฐานะเจ้าหน้าที่ควบคุมการแข่ง เขาเองก็ไม่อยากโดนประณามว่า เปิดสนามช้าเกินไป จนแฟนบอลอดดู ดังนั้นจึงตัดสินใจครั้งสำคัญ นั่นคือเปิด Gate C หรือเปิดประตูรั้วใหญ่เลย
1
14.52 - แทนที่เข้ามาช้าๆทีละคน ผ่านทาง Turnstile แต่พอเปิด Gate C ปั๊บ (ลองนึกภาพ BTS ไม่มีจุดสอดบัตร แล้วปล่อยให้คนเข้ามาได้เลยทันที) คน 2,000 คน ก็เลยพุ่งเข้ามาในนาทีเดียว รีบวิ่งเข้าสู่สแตนด์ฝั่งหลังโกล์ ใครๆก็อยากเข้าสนามให้ไว เพราะบอลจะเตะอยู่แล้ว
2
14.59 - เกมในสนามเริ่มแล้ว แต่ไม่มีใครรู้ว่า บนสแตนด์ตอนนี้เกิดโกลาหลอย่างหนัก เพราะแฟนบอลหลายพัน ที่เข้ามาพร้อมกันใน Gate C ทำการดันคนที่อยู่ข้างหน้า เพื่อที่ตัวเองจะได้เห็นเกมในสนาม ปัญหาคือ มันดันกันอย่างรุนแรง พลังจากด้านหลัง ส่งต่อไปถึงคนที่อยู่แถวหน้าสุด จนโดนอัดก็อปปี้กับลูกกรงเหล็ก
2
ด้วยความที่สแตนด์เลปปิ้งส์เลน เป็นลูกกรง ทำให้คนที่อยู่แถวหน้าสุดทำอะไรไม่ได้ บางคนที่มีกำลัง ก็อาจปีนหนีได้อยู่ แต่ผู้หญิง เด็กๆ และคนอายุเยอะ ไม่มีแรงจะทำแบบนั้น ก็โดนอัดก๊อปปี้กับขอบสแตนด์ และลูกกรงที่ขวางไว้
1
15.06 - กรรมการสั่งยุติเกม และตอนนี้ทุกคนรู้ว่า มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆแล้ว มีคนตาย และคนกำลังจะตายมากมาย อยู่ที่ด้านหลังโกล์ หลายคนนอนหมดสภาพ หายใจรวยริน
15.16 - Ambulance คันแรกเข้ามาถึงสนาม แต่มันสายเกินไปแล้ว เพราะหลายคนโดนอัดก็อปปี้จนหายใจไม่ออกเสียชีวิตไปแล้ว
1
15.36 - ด้วยความคาดไม่ถึงว่าจะมีเหตุร้ายขนาดนี้ ทางตำรวจร่วมกับโรงพยาบาล ได้เตรียม Ambulance ไว้เพียงแค่ "3 คัน" เท่านั้น ซึ่งส่งผลให้คนเจ็บหนักจำนวน 31 ราย ที่อาจจะรอด ถ้าถึงมือหมอได้ทัน สุดท้ายก็ไปไม่ทัน ต้องเสียชีวิตอยู่ที่สแตนด์ในสนามฮิลส์โบโร่นั่นเอง
บทสรุปของเหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 96 คน คนเจ็บอีก 760 คน เป็นเหตุเลวร้ายในสนามฟุตบอลที่รุนแรงที่สุด ในประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษ
2
ณ วันนั้น มีนักข่าวไทยหนึ่งเดียวอยู่ในสนามด้วยนะครับ คนคนนั้นคือพี่ "น้องหนู" ธราวุธ นพจินดา แอดมินเคยถามพี่น้องหนูก่อนเขาจะเสียชีวิตว่า วินาทีที่ฮิลส์โบโร่ มันสยองขวัญเหมือนที่เราเห็นในภาพมั้ย พี่เขาบอกว่า สยองมาก มีแต่เสียงกรีดร้อง และเขาไม่แปลกใจเลย ที่เคนนี่ ดัลกลิช ผ่านมาหลายสิบปีก็ยังทำใจไม่ได้ เพราะขนาดเขาเอง ยังติดตาขนาดนั้น ดัลกลิชที่เห็นเหตุการณ์แบบประชิด จะยิ่งขนาดไหน มันย่อมอยู่ในใจตลอดไปอยู่แล้ว
ในช่วงแรกสังคมยังไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก สื่อมวลชนและตำรวจ พยายามสืบเสาะหาข้อมูลว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่
แต่เหตุสำคัญก็เกิดขึ้น วันที่ 19 เมษายน 1989 สี่วันหลังเกิดโศกนาฏกรรม เมื่อเดอะ ซัน หนังสือพิมพ์ขายดีที่สุดในประเทศ ลงหน้า 1 เขียนพาดหัวว่า
1
"ความจริงเปิดเผย (THE TRUTH)
- แฟนบอลบางคนล้วงกระเป๋าเหยื่อ
- แฟนบอลบางคนปัสสาวะใส่ตำรวจผู้กล้าหาญ
- แฟนบอลบางคนไล่กระทืบกู้ภัยที่กำลังช่วยชีวิต"
3
เนื้อหาในเฮดไลน์ว่าโหดแล้ว เนื้อเรื่องด้านในยิ่งรุนแรงเสียกว่า
"แฟนบอลลิเวอร์พูลขี้เมา ไล่ทำร้ายเจ้าหน้าที่อย่างป่าเถื่อน ทั้งๆที่พวกเขาพยายามจะช่วยชีวิตเหยื่อ ทั้งตำรวจ พนักงานดับเพลิง และเจ้าหน้าที่พยาบาล ต่างโดนต่อย โดนเตะ และโดนปัสสาวะใส่ โดยพวกฮูลิแกนที่อยู่ในกลุ่มกองเชียร์ แถมโจรบางคนในคราบกองเชียร์ก็ใช้จังหวะนี้ล้วงกระเป๋า คนที่นอนโอดโอยด้วยความบาดเจ็บอยู่ในสนาม"
"เออร์วิน แพทนิค เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเชฟฟิลด์เปิดเผยว่า ตอนที่ตำรวจกำลังปั๊มหัวใจผู้หญิงวัยรุ่นคนหนึ่ง ก็มีกองเชียร์ตะโกนขึ้นมาว่า 'โยนผู้หญิงคนนั้นมาที่นี่เลย เดี๋ยวพวกเราจะล่อเธอเอง"
"ตำรวจอีกรายที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวกับเราด้วยความโมโหว่า แฟนบอลลิเวอร์พูลที่อยู่ด้านบนบางคนฉี่ใส่เรา และฉี่กระเด็นไปโดนศพคนเสียชีวิตด้วย"
"ตำรวจยศสูงคนหนึ่ง บอกกับเดอะ ซันว่า 'แฟนพวกนี้เหมือนสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่แต่ละคนเหมือนเจอนรกสองชั้น ชั้นแรกคือเหยื่อที่บาดเจ็บ ส่วนชั้นที่สองคือแฟนบอลสัตว์ป่าพวกนี้มาไล่โจมตีตำรวจ"
4
เรามาอ่านตอนนี้ อาจมองดูว่าเหลือเชื่อมากที่จะเกิดขึ้นจริง แต่อย่างที่แอดมินเล่าในตอนแรกว่า ณ เวลานั้น ลิเวอร์พูลเองมีชนักติดหลังอยู่ คือจลาจลที่ท็อกซ์เท็ธ และโศกนาฏกรรมเฮย์เซล ทุกคนรู้ว่าชาวเมืองลิเวอร์พูลส่วนใหญ่เกลียดตำรวจ และเกลียดเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นเมื่อเดอะ ซัน ลงข่าวแบบนี้ จึงทำให้คนอ่านเชื่อว่า "อาจเป็นไปได้" ที่แฟนลิเวอร์พูลจะทำเรื่องถ่อยๆแบบนั้นไปจริง
3
เมื่อเดอะ ซันนำเสนอข่าวไป คนอังกฤษทั้งประเทศ เริ่มประณามคนลิเวอร์พูลว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้สังคมไปถึงไหน เผลอๆ เหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ จุดเริ่มต้น ก็คงเป็นพวกแฟนบอลขี้เมาสักกลุ่ม ไปมีเรื่องกันในสแตนด์ จนคนอื่นต้องโดนลูกหลงแน่ๆ
1
สำหรับบ.ก. ของเดอะ ซัน ณ เวลานั้น มีชื่อว่า เคลวิน แม็คเคนซี่ ถือเป็นบ.ก. ที่มีอำนาจสูงสุดในวงการสื่ออังกฤษ เขานี่แหละ เป็นคนพาเดอะ ซัน โค่นบัลลังก์ยอดขายอันดับหนึ่งของเดลี่ มิเรอร์ได้สำเร็จ ตอนแรกแม็คเคนซี่ จะใช้พาดหัวว่า You Scum (ไอ้สวะเอ๊ย) แต่โดนทักท้วงว่ามันแรงเกินไป จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า The Truth แทน ซึ่งก็ยังแรงอยู่ดี
2
แม็คเคนซี่ อ้างว่าเขาได้ข่าวนี้มาจากสติงเกอร์ หรือนักข่าวท้องถิ่นในเมืองเชฟฟิลด์ รวมถึงตำรวจบางคนที่ไม่ขอเปิดเผยนาม ซึ่งแน่นอนเพื่อเป็นการปกป้องแหล่งข่าวเขาไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ แต่ได้คอนเฟิร์มว่านี่คือข่าวสารที่เดอะ ซัน ได้รับมาจริงๆ ดังนั้นจึงเผยแพร่ทันที โดยไม่สนใจว่าชาวเมืองลิเวอร์พูลจะได้รับผลกระทบหรือไม่
3
จริงๆ มีพนักงานหลายคนในเดอะ ซัน ได้เห็นเลย์เอาต์หน้า 1 ก่อนจะวางแผง แต่ด้วยอำนาจของเม็คเคนซี่ ก็ทำให้ไม่มีใครกล้าโต้เถียง พาวเวอร์ของแม็คเคนซี่ตอนนั้น เป็นรองแค่รูเพิร์ต เมอร์ด็อค เจ้าของบริษัท แค่คนเดียวเท่านั้น
1
เมื่อมีจุดเริ่มต้นจากเดอะ ซัน โมเมนตั้มของการนำเสนอข่าว จึงกลายเป็นว่า หนังสือพิมพ์หลายหัว ก็ทำตามๆกันไป นั่นคือต้องการให้แฟนบอลลิเวอร์พูลรับผิดชอบกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้
เคนนี่ ดัลกลิช เป็นคนที่เห็นเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดมาก รู้สึกตกใจมากเมื่อเห็นเดอะ ซัน พาดหัว The Truth เขากล่าวว่า "ตอนที่เดอะ ซัน เขียนเรื่องแฟนลิเวอร์พูลเมา และพาดหัวข่าวแบบนั้น ปฏิกริยาของชาวเมอร์ซีไซด์คือโกรธแค้นมาก ร้านต่างๆเลิกรับเดอะ ซันมาวางขายโดยทันที ผู้คนไม่พูดชื่อเดอะ ซันกันอีก บางคนเอาหนังสือพิมพ์มาเผาทิ้ง สาเหตุเพราะชาวลิเวอร์พูลรู้สึกว่า โดนเดอะ ซัน ทำร้ายจากเรื่องนี้"
5
"ผมไม่รู้ว่าทำไม บ.ก. ถึงตัดสินใจลงแบบนั้น นักข่าวท้องถิ่น หรือช่างภาพอาจจะโกหกพวกเขาก็ได้เราไม่รู้ แต่ที่รู้ๆคือ มันส่งผลกระทบกับคนทั้งเมือง"
หลังเกิดโศกนาฏกรรมในช่วง 3-4 วันแรก มันโกลาหลมาก ใครๆก็มีเรื่องเล่าเยอะแยะไปหมด แต่ประเด็นคือ ภาพที่แฟนลิเวอร์พูลปัสสาวะ หรือชกต่อยตำรวจ ไม่เคยมีปรากฏในสื่อแม้แต่ภาพเดียว คือถ้ามันเกิดขึ้นจริง อย่างน้อยน่าจะมีหลักฐานอะไรบางอย่างให้เห็นแล้ว แต่เรื่องที่เดอะ ซันลง มาจาก "เขาเล่าว่า" แค่นั้น แต่พาดหัวซะใหญ่โตว่า The Truth จนคนทั้งประเทศ มองชาวเมืองลิเวอร์พูลว่าเป็นกลุ่มคนถ่อยไปแล้ว
3
หลังจากเหตุการณ์ตกผลึกชัดเจนขึ้น ว่าแฟนลิเวอร์พูลไม่น่าจะทำอย่างที่เดอะ ซัน นำเสนอ หนังสือพิมพ์หลายๆฉบับ (ที่ลงข่าวไม่แรงเท่าเดอะ ซัน) ก็ออกมากล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ เหลือแค่เดอะ ซัน เท่านั้น ที่ไม่กล่าวคำขอโทษ
เคลวิน แม็คเคนซี่ โทรหาเคนนี่ ดัลกลิช แล้วถามว่า "เราจะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้อย่างไร"
ดัลกลิชตอบกลับไปว่า "คุณพาดหัวตัวใหญ่ว่า The Truth ขนาดนั้น สิ่งที่คุณต้องทำ ก็แค่พาดหัวคำว่า We Lied (เราโกหก) ในไซส์เดียวกัน ถ้าคุณทำแบบนั้น ผมคิดว่าน่าจะโอเคอยู่"
2
"ผมทำแบบนั้นไม่ได้หรอก" แม็คเคนซี่ตอบกลับ ซึ่งดัลกลิชก็เลยสรุปให้ว่า "ผมคงช่วยคุณไม่ได้แล้วล่ะ ถ้าอย่างนั้น"
7
เดอะ ซัน พลาดโอกาสเดียวที่จะขอโทษในความผิดพลาดของตัวเอง นั่นทำให้จากจุดนั้นเกิดกระบวนการ "ต่อต้าน" เดอะ ซันอย่างเต็มรูปแบบ ในตัวเมืองลิเวอร์พูลไม่มีขายเดอะ ซันอีกต่อไป และชาวเมืองเวลาจะเขียนถึงเดอะ ซัน ก็จะใช้คำว่า The S*n คือไม่ยอมเขียนชื่อตรงๆ เพราะรู้สึกขยะแขยง
ในปี 1993 เคลวิน แม็คเคนซี่ กล่าวว่า "ผมเสียใจในเรื่องฮิลส์โบโร่ แต่นั่นเป็นความผิดพลาดที่ใครๆก็ทำได้ ถ้าเราไม่ได้ยินจากแหล่งข่าวมาแบบนั้น เราไม่มีทางจะนำเสนอลักษณะนั้นอย่างแน่นอน" เหมือนจะพูดว่าเสียใจ แต่เอาจริงๆ มันคือคำขอโทษแบบครึ่งๆกลางๆ และไม่ช่วยให้ความรู้สึกของแฟนๆ กับหนังสือพิมพ์ เดอะ ซันดีขึ้นกว่าเดิม
3
ยอดขายเดอะ ซัน ในเมืองลิเวอร์พูล หายไป 80% ธุรกิจสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล สำหรับคนอยากซื้อ อาจจะพอหาซื้อได้ในเขตชานเมือง แต่ถ้าตัวเมืองชั้นในของลิเวอร์พูล ไม่มีใครเอามาขายอีกเลย
ความตายของแฟนบอล 96 ชีวิต ทำให้เกิดแคมเปญชื่อ Justice for the 96 (JFT96) ขึ้น เพื่อผลักดันคดีนี้ ไม่ให้หายไปกับกาลเวลา ญาติผู้เสียชีวิตต้องการให้ภาครัฐออกมายอมรับว่า เป็นความผิดพลาดของรัฐเอง ที่ควบคุมพลาด จนนำมาซึ่งความตาย ไม่ใช่โทษว่าเป็นความผิดของแฟนบอลเอง ที่ทำตัวเองจนเสียชีวิต
2
ในปี 2016 การสืบสวนคดีอันยาวนาน 27 ปี สิ้นสุดลง ศาลประกาศคำตัดสินทุกๆประเด็นดังนี้
- เจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์คเชียร์ วางแผนวันแข่งผิดพลาด จนนำมาสู่ความสูญเสีย
- ตำรวจปล่อยให้ผู้ชมเข้าสนามช้าจนเกินไป
- ไม่ยอมแจ้งขอดีเลย์การแข่งขันออกไป ทั้งๆที่จริงๆ ตำรวจมีอำนาจที่จะทำได้
- สนามของเชฟฟิลด์ เวนสเดย์ ที่มีดีไซน์ผิดพลาด ส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรม
- รถพยาบาลมาถึงช้าเกินไป เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อม
- แฟนบอลไม่มีความผิดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
6
ขณะที่เรื่องแฟนบอลขโมยของเหยื่อ หรือปัสสาวะใส่ตำรวจตามที่ เดอะ ซัน กล่าวอ้าง ก็ไม่มีหลักฐานใดๆเชื่อมโยง สุดท้ายเป็นความเข้าใจผิดของเดอะ ซันไปเอง
3
เมื่อได้คำตัดสิน โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า "แน่นอนว่า นี่คือหนึ่งในคดีความที่ยาวนานที่สุดในประเทศของเรา มันจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อพินิจความเป็นไปได้ในทุกแง่มุม" ขณะที่เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า "ผมขอสดุดีความกล้าหาญของผู้รณรงค์ในเหตุการณ์ฮิลส์โบโร่ กับการค้นหาความจริงที่ยาวนานขนาดนี้"
2
คือมาถึงจุดนี้ ฝั่งครอบครัวผู้เสียชีวิต ไม่ได้ต้องการหาใครมาลงโทษอีกแล้ว เพราะมันผ่านมา 26 ปีแล้ว แต่สิ่งที่ต้องการที่สุด คือการเปิดเผย "ความจริง" ว่าแฟนบอลไม่ได้ตายเพราะทำตัวเอง ไม่ได้เมาเหล้าแล้วอาละวาดจนเกิดความวุ่นวายขึ้นบนสแตนด์ แต่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเพราะปัจจัยอื่นต่างหาก
2
และสังคมก็ควรได้รู้เสียที ว่าโอเค ก่อนหน้านี้ชาวเมืองลิเวอร์พูลอาจทำผิดพลาดที่เฮย์เซล แต่ในครั้งนี้ที่ฮิลส์โบโร่ พวกเขาไม่เกี่ยวข้องจริงๆ และถือเป็นเหยื่อในเรื่องทั้งหมดด้วยซ้ำ
สำหรับ เดอะ ซัน เคยกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการกับชาวเมืองลิเวอร์พูลมาแล้ว 2 ครั้ง
1
ครั้งแรกคือในปี 2005 เดอะ ซันเขียนว่า "ความเลินเล่อ และคิดไม่รอบคอบของเรา ได้สร้างความด่างพร้อยให้เกิดขึ้นชนิดที่ไม่มีวันรับได้ จริงๆเราได้ขอโทษโดยตรงไปกับครอบครัวของผู้สูญเสีย และสภาเมืองลิเวอร์พูลแล้ว กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่เราอยากจะขอโทษอีกครั้งตรงนี้ โดยไม่มีข้อแก้ตัวใดๆทั้งสิ้น"
จากนั้นครั้งที่ 2 ในปี 2012 เดอะ ซันลงหน้า 1 เขียนเฮดไลน์ว่า "The Real Truth" (ความจริงที่แท้จริง) และอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเขียนซับเฮดไลน์ว่า "เราเสียใจอย่างสุดซึ้งจริงๆ กับการรายงานผิดพลาดที่เกิดขึ้น"
ด้านในเล่ม โดมินิค โมฮาน บ.ก.คนใหม่ของเดอะ ซัน เขียนแถลงการณ์ ระบุว่า
2
"ข่าวที่เดอะ ซัน รายงานเมื่อ 23 ปีก่อน คือจุดเลวร้ายที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นมา หน้าหนึ่งของเราในวันนั้นใช้คำว่า The Truth ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ไม่แม่นยำ และไม่รักษาน้ำใจใครเลย สิ่งที่เรารายงานไป มันไม่ใช่ความจริงด้วยซ้ำ"
"วันนี้หลังจากลงพื้นที่ และทำงานหนัก เราได้รู้แล้วว่าความจริงที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งในฐานะบ.ก. เราอยากอธิบายว่า พนักงานในปี 1989 แทบทั้งหมด ไม่มีใครทำงานอยู่กับสำนักพิมพ์อีกแล้ว คนที่ทำงานตอนนี้ หลายคนยังเรียนหนังสือ บางคนก็ยังไม่เกิด ตอนที่มีเหตุการณ์ที่ฮิลส์โบโร่ แต่เราก็ไม่อาจแก้ตัวได้ กับสิ่งที่หนังสือพิมพ์ของเรา เคยหักหลังความเชื่อใจของชาวเมืองไปเมื่อ 23 ปีก่อน"
4
"ชาวเมืองลิเวอร์พูลอาจจะไม่มีวันยกโทษให้ กับสิ่งที่เราทำเอาไว้ แต่สิ่งที่เราทำได้ ณ เวลานี้ คือการขอโทษจากใจจริง และไม่ได้หวังผลใดๆแม้แต่นิดเดียว"
2
ในมุมของบ.ก. เดอะ ซัน ยุคใหม่ ก็รู้ถึงความขัดแย้งเป็นอย่างดี แต่เขามองว่า ความผิดของคนรุ่นก่อน ที่ผ่านมานานแล้วหลายสิบปี น่าจะถูกลบเลือนไปบ้างตามกาลเวลา
3
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว 32 ปีจากเหตุการณ์ฮิลส์โบโร่ แต่เดอะ ซัน ก็ยังถูกต่อต้านจากชาวเมืองลิเวอร์พูลอยู่อย่างเดิม จนมันเป็นเหมือนกลายเป็นวัฒนธรรมของเมืองนี้ไปแล้ว ว่าอยู่ร่วมโลกกับเดอะ ซันไม่ได้
1
คิดตามคอมม่อนเซนส์ก็เข้าใจได้ มันเป็นการแสดงจุดยืนของคนทั้งเมือง ว่าถ้าคุณกล้าทำร้ายเรา ใส่ความเรา โกหกซึ่งๆหน้ากันแบบนั้น นี่แหละคือการตอบโต้ที่เราจะมอบให้กับคุณ
อีกหนึ่งในจุดเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกัน คือเมื่อไม่มีเดอะ ซัน แล้ว ทำให้แทบลอยด์ท้องถิ่น ชื่อ "ลิเวอร์พูล เอ็คโค่" มียอดขายดีที่สุดอันดับหนึ่ง และลิเวอร์พูลเอ็คโค่เป็นของ บริษัท Reach plc ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์เดลี่ มิเรอร์ คู่ปรับตัวฉกาจอันดับหนึ่งของเดอะ ซันนั่นเอง
1
ดังนั้นเดลี่ มิเรอร์ จึงไม่ยอมเปิดช่องใดๆ ให้เดอะ ซัน คัมแบ็กกลับมาได้ ลือกันว่า ถ้ามีแคมเปญต่อต้านเดอะ ซันใดๆ ฝั่งเดลี่ มิเรอร์ และ ลิเวอร์พูลเอคโค่ ก็พร้อมร่วมวงตลอด เพื่อไม่ให้เดอะ ซัน บุกเข้ามาทำตลาดที่เมืองลิเวอร์พูลได้อีกครั้ง
2
บทสรุปเรื่องชาวเมืองลิเวอร์พูลกับเดอะ ซัน ก็เลยจบที่ตรงนี้ และไม่รู้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายจะดีขึ้นเมื่อไหร่ อาจจะไม่มีวันนั้นเลยก็ได้
1
นี่ถือเป็นบทเรียนสำคัญให้วงการสื่อมวลชนที่อังกฤษได้รู้ว่า ความหวือหวา อาจทำให้คุณได้ยอดขายดี 1 ฉบับ แต่ผลกระทบที่ตามมามันแรงกว่านั้นมากนัก ดังนั้นก่อนจะตีพิมพ์อะไรต้องคิดให้เยอะที่สุด
1
เพราะขายดีแค่ชั่วคราว แต่โดนทั้งเมืองแบนตลอดไป เป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มเลยจริงๆ
.
#LIVERPOOL #THESUN
โฆษณา