18 เม.ย. 2021 เวลา 12:59 • ปรัชญา
คำว่า อทินนาทานา เวรมณี ที่เรารับรู้กันนั้นมีการแปลโดยทั่วไปว่า " ห้ า ม ลั ก ท รั พ ย์ " แต่ด้วยคำศัพท์ที่ปรากฎมีคำแปลดังนี้
คำว่า อทินนาทานา เวรมณี แปลว่า เจตนาเป็นเครื่องกำจัดเวร จากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
คำว่า ถื อ เ อ า หมายถึง ถือเอาด้วยอาการแห่งขโมยหรือถือเอาอย่างโจร
คำว่า สิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ คือ เป็นสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ยินยอมให้ มิได้ยื่นให้ มิได้บอกให้หรือมิได้ให้ด้วยกิริยาอย่างอื่น
ที่เข้าใจกันว่าหมายถึง การลักทรัพย์ นั้น เป็นการเข้าใจโดยภาพรวมกว้าง ๆ ซึ่งพอจะเข้าใจกันได้โดยทั่วไป แต่เพื่อความเข้าใจโดยละเอียดว่าลักทรัพย์นั้นคืออะไร ทำเช่นใดบ้างถือว่าเป็นการลัก และทรัพย์นั้นเจ้าของมิได้ให้ด้วยอาการอย่างไรเป็นต้น อันดับแรกพึงทราบเรื่องสิ่งของก่อน
สิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ในศีลข้อนี้มีหลายลักษณะ คือ
- เป็นสิ่งของที่มีเจ้าของเป็นตัวเป็นตน ถือว่าเป็นทรัพย์ของผู้นั้น ทั้งทรัพย์ที่เป็นสวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ อันทรัพย์นั้นเจ้าของมิได้ให้
- เป็นสิ่งของที่ไม่มีเจ้าของโดยตรง ถือว่ามิใช่ของผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ แต่มีผู้ดูแลรักษา เช่น ของเซ่นไหว้ตามศาล ของบูชาพระ ของเช่นนี้ถือว่ามีเจ้าของโดยอ้อม คือ มีผู้ดูแลรักษาของนั้นอันผู้ดูแลรักษามิได้ให้
- เป็นของที่เป็นสาธารณะในหมู่ชน เป็นของกลางมิได้มีใครเป็นเจ้าของโดยเฉพาะแต่เป็นของชุมชน เป็นของราชการหรือเป็นของสงฆ์ด้วย ของนั้นมีผู้ดูแลรักษาตามกฎหมายบ้าง ตามธรรมเนียมบ้าง ถือว่าเป็นเจ้าของตามนั้น ของนั้นอันผู้รับผิดชอบนั้นมิได้ให้
ของตามประเภททั้งหมดนี้ถือว่ามีเจ้าของทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม เมื่อเจ้าของนั้นมิได้ให้ด้วยอาการใด ๆ เมื่อไป ถื อ เ อ า มาก็ชื่อว่าลักทรัพย์
ทรัพย์ดังกล่าวเมื่อไปถือเอามาเข้าย่อมมีโทษ เป็นการผิดทั้งทางศีล ผิดทั้งทางกฎหมาย ในทางศีลถือว่าไปละเมิดกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของของเขา ทำให้เจ้าของเสียหาย เสียดายหรือเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียนทรัพย์สินของเขา การผิดทางศีลแบบนี้มิได้กำหนดราคาว่าเท่านั้นเท่านี้จึงผิด จะเท่าไรก็ถือว่าผิด แต่ในทางกฎหมายกำหนดโทษไว้ตามราคาของทรัพย์ หนักบ้างเบาบ้างตามข้อเท็จจริง แต่จะผิดทางศีลหรือผิดทางกฎหมายก็ตามก็ถือว่าละเมิดศีล และมีโทษในทางศีลเหมือนกันหมด ถ้าลักทรัพย์แล้วถูกจับได้ย่อมผิดทั้งสองทาง
การกระทำที่จะเป็นเหตุให้ผิดศีลข้อนี้หรือเป็นเหตุให้มีโทษอย่างไรนั้น พึงทราบกิริยาที่ท่านห้ามไว้ เพราะเป็นเรื่องการลักทรัพย์ กิริยาที่ท่านว่านี้ได้แก่ โจรกรรม การเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
• • • • • •
พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี)
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "ศีล ๕ รักษาโลก"
|เพื่อความเข้าใจ และเข้าถึงศีล ๕ อย่างถูกต้อง
โฆษณา