17 เม.ย. 2021 เวลา 13:27 • หุ้น & เศรษฐกิจ
📌เข้าใจการเปรียบเทียบกองทุนด้วย Sharpe Ratio ได้ใน 10 นาที📌
[ค่านี้มีความหมายอย่างไร อะไรคือผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง]
ปกติแล้วเวลาเราดูข้อมูลกองทุนที่สนใจ ทุกคนก็จะเลือกดูที่ “ผลตอบแทน” ย้อนหลังก่อนใช่ไหมคะ? ไม่แปลกเลยค่ะ ทุกคนก็เป็นแบบนั้น แต่ทุกคนเคยสังเกตไหมคะว่า “ผลตอบแทน” จะถูกแสดงคู่กับ “ความผันผวน” เสมอ เราจะใช้สองค่านี้ในการเปรียบเทียบระหว่างกองทุนอย่างไร? 🤔
วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ “ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง” (Risk Adjusted Return) กัน รู้แล้ว เราสามารถเลือกกองทุนที่เราลงทุนดีได้ในระยะยาวได้อย่างสบายใจ
🤔กลับมาที่ความสงสัย ผลตอบแทนเยอะสุดก็ดีสุดไม่ใช่เหรอ? คำตอบคือ ใช่ แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความสามารถของกองทุนไม่อาจวัดได้ด้วยผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว ความสามารถในการจัดการกับความผันผวน ต้องนำมาพิจารณาด้วยเนื่องจากการลงทุนมีช่วงเวลาที่ตลาดขึ้นและลง บางช่วงขึ้นมาก บางช่วงขึ้นน้อย แล้วกองทุนที่เราสนใจนั้นเหวี่ยงตามตลาดมากน้อยขนาดไหน? กองทุนที่ดีควรมีผลตอบแทนสูง และความผันผวนต่ำ ลองดูตัวอย่าง 2 กองทุนนี้กันค่ะ
3
กองทุน A ในช่วง 1 ปีทีผ่านมามีผลตอบแทน 10% ความผันผวน 3%
กองทุน B ในช่วง 1 ปีทีผ่านมามีผลตอบแทน 13% ความผันผวน 7%
จะเห็นว่ากองทุน B ก็มีผลตอบแทนมากกว่านะ แต่ก็มีความผันผวนมากกว่าเช่นกัน แล้วเราจะบอกได้อย่างไรว่ากองทุนไหนดีกว่ากัน?
หากพิจารณาความผันผวน หรือ ค่า Standard Deviation ด้วย เปรียบเทียบง่ายๆคือเป็นสิ่งที่ทำให้เป้าหมายผลตอบแทนเราเบี่ยงเบนออกจากที่คาดหวังไว้ เหมือนกับการแล่นเรือชนิดเดียวกัน (กองทุนประเภทเดียวกัน) 2 ลำ บนคลื่นที่มีความแรงต่างกัน ในอดีตอาจจะบอกได้ว่า เรือลำหนึ่งไปถึงที่หมายได้ก่อน (ผลตอบแทนดีกว่า) แต่เพราะคลื่นแรงส่ง ครั้งต่อไปอาจจะไปถึงเป้าหมายได้ด้วยความแน่นอนน้อยลงก็เป็นได้
4
🎯การเปรียบกองทุนบนพื้นฐานของผลตอบแทนกับความผันผวนในอดีต สามารถถูกนำมาคำนวณเป็น “ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง” (Risk Adjusted Return) ซึ่งวันนี้ #เด็กการเงิน ขอเสนอ “Sharpe Ratio” ซึ่งเป็นหนึ่งใน Risk-Adjusted Return หลายๆ ตัว แต่ Sharpe Ratio นี้นักลงทุนจะเห็นได้บ่อยสุดค่ะ และสามารถดูผ่าน Finnomena หรือ Morningstar ก็ได้
1
เหตุผลที่เรียกว่าเป็น Risk Adjusted Return เพราะ Sharpe Ratio เป็นการดูว่า “ที่ระดับความเสี่ยงเท่ากัน กองทุนใดให้ผลตอบแทนมากกว่ากัน” โดยมีวิธีคำนวณคือนำผลตอบแทนของกองทุน หักด้วยผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยงหรือที่เรียกว่า Risk free rate (เช่น พันธบัตรรัฐบาล) และหารด้วยความเสี่ยงของกองทุน
1
Sharpe Ratio = (ผลตอบแทนกองทุน – Risk free Rate) / Standard deviation
2
*การใช้ Sharpe Ratio ต้องใช้เปรียบเทียบกองทุนประเภทเดียวกัน และช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้น*
สำหรับใครที่ยัง งงๆว่ากองทุนมีกี่แบบกันแน่ ลองดูโพสต์นี้ก่อนเลย:
📌กองทุนมีกี่ประเภท? มาจัดประเภทของกองทุนกันเถอะ
✅ อย่างที่บอกไปแล้วว่า กองทุนที่ดีควรมีผลตอบแทน”มาก” ความผันผวน”น้อย” ดังนั้น Sharpe Ratio ตัวเลขบวก ยิ่งมากยิ่งดีนะ
แต่ถ้าเห็นตัวเลขติดลบ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบต่อแล้วนะคะว่ากองไหนลบมาก หรือลบน้อยกว่ากัน สามารถตีความไปได้เลยว่ากองทุนนั้นทำผลตอบแทนได้ไม่ดี การลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง เช่น พันธบัตรรัฐบาล ยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่ถ้า Sharpe Ratio ของตลาดก็ติดลบ และหลายกองทุนก็ติดลบเช่นกัน แสดงว่าช่วงนั้นทั้งตลาดติดลบ ก็ไม่ต้องแปลกใจนะคะ เช่น ช่วงโควิดแรกๆ ตลาดลงหนักมาก ถ้าลงทุนช่วงสั้นๆ ก็ขาดทุน การเก็บเงินสดไว้กับตัวยังดีกว่า ดังนั้นถ้าเป็นในกรณีนี้ เราอาจไปดูค่า Sharpe Ratio ในช่วงเวลาอื่นเปรียบเทียบแทนค่ะ
2
📈 จากตัวอย่างด้านบน สมมติให้ Risk Free Rate หรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลซึ่งถือว่าไม่มีความเสี่ยงให้ผลตอบแทนที่ 2% เมื่อนำมาคิด Sharpe Ratio จะได้ว่า
1
กองทุน A มี Sharpe Ratio ที่ 2.67 คำนวณมาจาก (10% - 2%)/3%
กองทุน B มี Sharpe Ratio ที่ 1.57 คำนวณมาจาก (13% - 2%)/7%
จากตัวอย่างนี้ตีความได้ว่า กองทุน A ทำผลงานได้ดีกว่ากองทุน B ที่ระดับความเสี่ยงเท่ากัน (ถ้าดูจากผลตอบแทนและความเสี่ยงที่กล่าวมาตอนต้นก็บอกได้ว่า กองทุน B มีผลตอบแทนมากกว่า แต่ก็แลกมากับช่วงเวลาที่มีความผันผวนมากค่ะ)
📍 ในรูป Infographic ด้านล่างได้ยกตัวอย่างกองทุนกลุ่ม US Equity ที่มีผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลังสูงสุด 5 อันดับแรก จะเห็นว่ากองทุนที่มีผลตอบแทนมากกว่า ไม่ได้มี Sharpe Ratio สูงกว่าเสมอไปค่ะ
📍นอกจากการดู “ผลตอบแทน”, “ความผันผวน” และ “Sharpe Ratio” แล้ว ยังมี “Maximum Drawdown” ให้พิจารณาเพิ่มด้วยว่ากองทุนที่เราสนใจนั้น เคยมีผลขาดทุนสูงสุดเป็นเท่าไรค่ะ แอดได้นำตัวอย่างจาก Finnomena มาให้ดู เป็น 3D Diagram เข้าใจง่าย ซึ่งทาง Finnomena ได้เก็บข้อมูลและจัดทำขึ้นมา โดยในรูปภาพนั้นยิ่งมีพื้นที่ 3D Diagram เยอะยิ่งดี ซึ่งเขาได้พิจารณา 3 มุมมองดังนี้
1. ความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานย้อนหลัง โดยเขาได้พิจารณาหลายช่วงเวลา เช่น 1, 3, 5 ปี
2. Risk Adjusted Return ซึ่งก็คือค่า Sharpe Ratio ที่เราได้อธิบายไปแล้วนั่นเอง
3. Maximum Drawdown หรือผลขาดทุนสูงสุดของกองทุน ถ้าหาก Max Drawdown มากๆ แสดงว่า กว่าที่พอร์ตเราจะกลับมาบวกได้นั้นก็ต้องใช้เวลานาน และผลตอบแทนก็จะน้อยกว่ากองอื่นๆ นอกจากนี้ยังพอบอกได้ว่าผู้จัดการกองทุนนั้นบริหารความเสี่ยงได้ดีหรือไม่ นอกจากจะทำผลตอบแทนได้ดีแล้ว ก็ควรทำให้พอร์ตไม่เหวี่ยงจนเกินไปนั่นเองค่ะ
หวังว่าเพื่อนๆจะเข้าใจ Sharpe Ratio มากขึ้นและสามารถนำไปใช้เปรียบเทียบกองทุนประเภทเดียวกันได้นะคะ 😎
โฆษณา