18 เม.ย. 2021 เวลา 05:03 • หนังสือ
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม วิถีชีวิต และรสนิยม บางอย่างยังคงอยู่ บางอย่างเลือนหายไป บางอย่างก็ปรับตัวเองให้กลืนกันไปกับการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับรูปแบบการแต่งกายตามความนิยม รูปแบบในการอ่านหนังสือก็มีการปรับเปลี่ยนตัวเองไปพอสมควร จากหนังสือที่เราอ่านกันเป็นเล่มแปรเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอิเลคทรอนิกส์ที่ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและพกพาไปในที่ต่างๆ ได้สะดวกมากกว่า ทว่า ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด รูปรอยเก่าๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประเภทและรูปแบบของนิยาย (ซึ่งเราเรียกขานกันง่ายๆ ตามภาษาภาพยนตร์ว่า genre) นั้นก็ยังคงอยู่ อีกทั้งยังถูกนำมาผสมผสานกันสร้างเป็นรูปแบบใหม่ๆ ที่ให้อรรถรสมากกว่าเดิมด้วย
โกธิค (Gothic) เป็นรูปแบบหนึ่งของวรรณคดี ที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยเรื่องราวที่ถูกเรียกขานว่าเป็นรูปแบบโกธิคนั้นประกอบไปด้วย ความสะพรึงกลัว ความตาย และความรัก ว่ากันว่านิยายโกธิคนั้นเกิดขึ้นจากงานเขียนในปีคริสต์ศักราช 1764 เรื่อง The Castle of Otranto: A Gothic Story ของ Horace Walpole หัวใจหลักของนิยายโกธิค คือการตอกย้ำอารมณ์ระทึกใจและความหวาดกลัวให้ระส่ำขึ้น ซึ่งเป็นการขยายฐานจากวรรณกรรมโรแมนติกในยุคนั้น ด้วยนักเขียนนิยายแนวนี้มีความคิดที่ขัดเจนว่า "ความสุข" ที่เกิดขึ้นจากอารมณ์เหล่านั้นเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะนำพาเราไปไกลกว่าที่ตัวเราเองคาดการณ์ไว้อย่างสุดจะพรรณนา (ถอดความจาก Hirsch, Edward. (2014). A Poet's Glossary. Houghton Mifflin Harcourt.)
องค์ประกอบหลักๆ ที่มักพบได้เสมอในนิยายโกธิค (ถอดความจาก "Early and Pre-Gothic Literary Conventions & Examples". (2015).Spooky Scary Skeletons Literary and Horror Society.) ได้แก่
1. จินตนาการอันลี้ลับ นิยายโกธิคให้ความสำคัญกับความรู้สึกชวนให้พิศวงและความหวาดกลัว อันเป็นพื้นฐาน
สำคัญที่ก่อให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ นิยายโกธิคมักทำให้คนอ่านเกิดจินตนาการถึงสิ่งที่อาจจะปรากฏตัวขึ้นต่อหน้าตัวละคร และดึงให้คนอ่านมีส่วนร่วมในความรู้สึกนั้นๆ
2. ฉากและสถานที่ส่วนใหญ่ในนิยายโกธิคมักจะเน้นไปที่อาคาร สถาปัตยกรรมในยุคกลาง (Medieval) ปราสาท
คฤหาสน์ที่โอ่โถง ตระการตา อันเป็นไปตามรสนิยมของผู้คนในยุคโรแมนติกที่โหยหาความงดงามในอดีต เพียงแต่ในนิยายโกธิคนั้นจะเพิ่มเติมความมืดดำ หรือความน่าประหวั่นพรั่นพรึงแทรกไว้อยู่ในฉากหลังอันเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามเหล่านี้ด้วย
3. ความเสื่อมโทรม การจากพราก และความตาย แม้จะมีความโก้หรูของฉากหลังที่งดงาม แต่ขณะเดียวกัน ใน
นิยายโกธิคก็มักจะแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับความเจ็บไข้ได้ป่วย ความผิดประหลาด และความตายปะปนอยู่ในเรื่องด้วย บางเรื่องอาจนำมาจากตำนานพื้นบ้าน เรื่องเล่าขาน แล้วบิดพลิกให้ลงเอยที่ความตาย หรือการลาจาก
4. สุนทรียภาพทางอารมณ์ นิยายโกธิคให้ความสำคัญกับการสร้างอารมณ์ “สุดขีด” ให้กับผู้อ่าน โดยเชื่อกันว่า
อารมณ์ที่อยู่ในขั้นสุดนั้นจะถูกปลุกได้ด้วยความรู้สึกหวาดกลัว และการที่จะทำให้เกิดความหวาดกลัวได้ เราต้องอาศัยบางสิ่งบางอย่างที่มีความคลุมเครือ ความคลุมเครือจะกระตุ้นความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ ดังนั้นนิยายโกธิคจึงเล่นกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Mood Swing) ที่ทำให้คนอ่านคาดการณ์สิ่งใดไว้ก่อนไม่ได้ เมื่อเกิดอะไรที่เกินจากที่คะเนไว้ ก็จะทำให้ตกอยู่ในสภาวะที่ตื่นกลัว
5. อิทธิพลหรือนัยยะทางการเมืองและสังคม นอกเหนือไปจากเรื่องราวระทึกชวนให้หวาดหวั่นพรั่นพรึงแล้ว นิยาย
โกธิคมักสอดแทรกอิทธิพลหรือนัยยะทางการเมืองและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในแง่ของตัวละครที่เป็นชนชั้นสูง (Elite) กับชนชั้นกลาง (Middle Class)
แม้จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ อันหลากหลาย แต่เวลาที่เรานึกถึงนิยายโกธิค เรามักนึกถึงภาพปราสาทเก่าแก่ที่สวยงามแต่ก็มืดครึ้ม เหมือนมีบางสิ่งบางอย่างรอที่จะขย้ำเราอยู่ภายในนั้น และหญิงสาวในชุดสวยหรูที่ตัดสินใจก้าวเข้าสู่ความน่าสะพรึงกลัวภายในปราสาทนั้นโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเสียเป็นส่วนใหญ่ สำหรับผม เวลาที่นึกถึงนิยายโกธิค ภาพที่ผมเห็นในภวังค์ความคิดจะเป็นภาพที่มาจากนิยายเรื่อง “ปราสาทมืด” ของจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ซึ่งกรณีนี้ ผมหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลมาจากความทรงจำในวัยเด็กที่มีต่อการอ่านนิยายเรื่องนี้ควบคู่ไปกับภาพจำที่ได้จากละครโทรทัศน์ที่เคยดู
ปัจจุบัน นักเขียนหลายคนยังคงสานต่อรูปรอยของนิยายโกธิคโดยผสมผสานให้เข้ากันกับเรื่องราวร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น Stephen King, Clive Barker, Susan Hill, Neil Gaiman และ Anne Rice เป็นต้น นักเขียนเหล่านี้สอดแทรกความเป็นโกธิคเข้าไว้กับเรื่องราวปัจจุบันและทำให้นิยายโกธิคยังคงสืบสานความนิยมมมาจนทุกวันนี้
นักเขียนนิยายแนวสยองขวัญหรือระทึกขวัญหลายคนดึงเอารูปแบบของนิยายโกธิคเข้ามาคละเคล้า และเขย่าให้เข้ากันจนกลายเป็นนิยายสยองขวัญหรือระทึกขวัญที่มีกลิ่นไอของความลึกลับ ความมืดดำของปริศนา และความตายที่เหมือนอยู่ใกล้แค่ปลายเอื้อม อย่างเช่นใน Lock Every Door ของ Riley Sager ที่ผมเคยรีวิวไปแล้ว Sager ผสมผสานรูปแบบที่เขาถนัดให้เข้ากับความเป็นโกธิคได้อย่างลงตัว และส่งผลให้ Lock Every Door กลายเป็นนิยายที่กลมกล่อม วางไม่ลงและลุ้นระทึกตลอด
นิยายโกธิคไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมในต่างประเทศเท่านั้น ในบ้านเรา ก็มีนักเขียนหลายท่านที่ฝากผลงานนิยายที่มีรูปรอยของความเป็นโกธิคไว้ โดยเฉพาะ “จินตวีร์ วิวัธน์” ผู้ถูกขนานนามว่าเป็น “ราชินีเรื่องลึกลับ” งานเขียนส่วนใหญ่ของจิตวีร์ วิวัธน์ นอกจากจะเป็นเรื่องภูตผีปีศาจ และวิญญาณอาถรรพ์แล้ว หลายเรื่องมีการนำแนวทางของนิยายโกธิคเข้ามาประกอบสร้างอย่างเห็นได้ชัด นิยายหลายเรื่องของจินตวีร์ วิวัธน์ถูกจำกัดความว่าเป็นนิยายโกธิค อาทิ วังไวกูณฑ์, บ้านศิลาทราย, มายาลวง หรือรักระทึก เป็นต้น นอกจากนี้ จินตวีร์ วิวัธน์ยังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ พงศกร นักเขียนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแบบอย่าง และสร้างสรรค์นิยายที่เป็นรูปรอยนิยายโกธิคอีกหลายเรื่องตามมาอีกด้วย
“เคหาสน์นางคอย” ของพงศกรเป็นหนึ่งในนิยายที่ตัวนักเขียนสรุปด้วยตัวเองว่าเป็นนิยายที่เขาตั้งใจเขียนให้เป็นนิยายโกธิคผสมผสานกับเรื่องราวความรัก ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจเพิ่มเติมมาจากภาพยนตร์เรื่อง ปราสาททราย ที่แสดงโดยมิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์ รอติดตามรีวิวนิยาย “เคหาสน์นางคอย” ของ พงศกร เร็วๆ นี้ครับ…
ภาพประกอบ janegs.blogspot
โฆษณา