18 เม.ย. 2021 เวลา 12:30 • ไลฟ์สไตล์
วัฒนธรรมดัตซ์กับการวางแผนชีวิตที่ไม่มีความเสี่ยง
พอดีวันนี้ได้รับอีเมล์จากบริษัทประกันจัดงานศพว่าถึงเวลาที่จะต้องต่อสัญญาประกัน เลยอยากจะเอามาเล่าให้ฟังว่าคนดัตซ์เค้าวางแผนชีวิตกันจนถึงวันตายกันอย่างไร
วัฒนธรรมคนดัตซ์นั้นวางแผนขั้นตอนการใช้ชีวิตเป็นระบบระเบียบมาก และที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเค้าคือต้องมีความเสี่ยงต่ำที่สุด ดังนั้นจึงมีบริษัทประกันจำนวนมากมายหลายรูปแบบ ที่เรียกว่า Verzekeringen เกิดมารับความเสี่ยงในชีวิตของแต่ละคนไปให้ทั้งหมด มีทั้ง ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันของใช้ในบ้าน บลาๆๆ เยอะมากจนถึงมากที่สุด โดยมีประกันหลายรูปแบบที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินเลยในบ้านเรา แต่ที่เนเธอร์แลนด์คนกลับนิยมที่จะทำมาก
ในบรรดาประกันภัยทั้งหลาย มีเพียงประกันสุขภาพ เท่านั้นที่ทุกคนที่มีอายุเกิน 18 ปี ขึ้นไป จะต้องทำทุกคนตามกฏหมาย โดยจะต้องทำประกันสุขภาพขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถือเป็นประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้าคล้ายๆ บ้านเรา แต่ทุกคนต้องร่วมในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยประมาณหนึ่ง ซึ่งเอาไว้จะเล่าให้ฟังในโอกาสหน้า
ประกันภัยรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้บังคับให้ทำ และผมก็ไม่เคยคิดจะทำด้วย ถึงแม้อยู่มาเกือบสิบปีแล้ว แต่คนดัตซ์นิยมทำกันมาก ก็คือการประกันการจัดงานศพ เนื่องจากค่าจัดงานศพที่เนเธอร์แลนด์นั้นสูงมาก สูงได้ทั้งแต่หลักไม่กี่พันจนไปถึงหลักหมื่น อย่างในรูปผมประเมินคร่าวๆ แบบง่ายๆ ที่มีการส่งศพกลับไทยด้วยก็ประมาณ 13000 ยูโร หรือ เกือบๆ ห้าแสนบาท ถ้าจัดแค่ในประเทศอาจจะหลักสักสามแสนห้าหมื่นบาท และนี่คือแบบง่ายๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ถ้ารู้จักคนเยอะๆ มีแขกมาก อาจจะสูงกว่านี้มาก
2
ดังนั้นด้วยราคาขนาดนี้ สำหรับคนทั่วๆ ไป ก็ถือว่าสูงมาก ถ้ามีการเสียชีวิตแบบฉุกเฉิน ที่ไม่ได้เตรียมเงินเอาไว้อาจจะทำให้หน้ามืดได้ ดังนั้นจึงเกิดการประกันภัยการจัดงานศพขึ้นมา ด้วยการทำประกันจ่ายรายเดือนเอาไว้ หลักประมาณ 10-20 ยูโรต่อเดือน ซึ่งคนดัตซ์นิยมทำกันมาก และทำให้คนในครอบครัวด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร และไม่ต้องการเป็นภาระให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่
โดยแต่ละบริษัทก็จะมีรูปแบบให้เลือกหลายออฟชั่น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกัน โดยสามารถจะเลือกรูปแบบให้บริษัทประกันจัดงาน เตรียมพิธีกร โลงศพ เผาศพ รวมไปถึงมีเงินสดจ่ายให้แยกต่างหากเพื่อใช้จ่ายส่วนตัวได้อีกด้วย ซึ่งค่าประกันรายเดือนก็จะสูงขึ้นตามความต้องการของแต่ละคน
เมื่อเราเลือกรูปแบบประกันได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือเราต้องแสดงความจำนงว่าเราต้องการที่จะตายแบบไหน มันเป็นคำถามที่ไม่มีใครอยากตอบ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราสามารถที่จะกำหนดได้ว่าเราต้องการอะไรในงานศพของเราบ้าง เพราะมันเป็นงานที่จัดเพื่อเราโดยเฉพาะ
โดยเราสามารถที่จะเลือกได้ว่าเราต้องการให้เค้าฝังหรือเผาศพ (Burial or Cremation) อยากจะจัดงานที่ไหน ที่บ้าน ที่โบถส์ หรือ ที่อื่นๆ อยากจะนอนในโลงศพแบบไหน อยากจะให้มีรถขบวนศพยังไง อยากให้มีดอกไม้ในงานมั้ย อยากให้เขียนการ์ดงานศพอย่างไร เรื่องพวกนี้เราสามารถที่จะเตรียมการไว้ล่วงหน้าได้ทั้งหมด
1
การวางแผนแบบเบ็ดเสร็จแบบนี้ทำให้คนดัตซ์นั้นใช้ชีวิตได้อย่างอิสระมาก โดยไม่ต้องกังวล เนื่องจากทุกอย่างถูกตระเตรียมไว้ล่วงหน้าทั้งหมดแล้ว ผ่านการประกันภัยในรูปแบบต่างๆ
หลายๆ ครั้ง คนไทยมักจะคิดว่าทำไม ครอบครัวฝรั่งถึง แยกกันได้ค่อนข้างเด็ดขาด ก็เนื่องจากการวางแผนการใช้ชีวิตไว้ล่วงหน้าแบบนี้ เมื่อเรายังมีแรงทำงาน เราก็เตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อม เมื่อถึงเวลาที่แก่เฒ่า ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกหลานจะดูแลมั้ย เพราะก็มีเงินบำนาญที่เตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อจะต้องตาย ก็วางแผนไว้เรียบร้อยแล้วไม่จำเป็นต้องลำบากลูกหลานกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเค้าไม่รักลูกหลานกัน แต่มันเป็นลักษณะสังคมของเค้าที่เป็นครอบครัวเดี่ยว ที่เมื่อเติบโตขึ้นจะต้องแยกบ้านออกไป (แต่ก็ยังมาพบปะกันทุกวันหยุด) ไม่ใช่ครอบครัวขยายแบบสังคมเอเชีย
และเนื่องจากตามกฏหมายดัตซ์นั้น ทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี นั้น ยังถือว่าอยู่ในปกครองของพ่อแม่ ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ทำประกันอะไรไว้ ลูกจะได้รับความคุ้มครองเท่าประกันของพ่อแม่โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าประกันเพิ่ม และเมื่ออายุเกิน 18 ปีขึ้นไป จะถือว่าบรรลุนิติภาวะแล้วทำให้ต้องรับผิดชอบค่าประกันภัยเองทั้งหมด
นั่นเลยเป็นสาเหตุที่เด็กๆ ดัตซ์จะต้องเริ่มทำงานหาเงินกันตั้งแต่อายุน้อยๆ เช่น 15 ปี เพื่อเริ่มที่จะหารายได้มารับผิดชอบค่าประกันส่วนตัวกันเมื่ออายุครบ 18 ปี โดยอย่างน้อยก็จะมีค่าประกันสุขภาพ ประมาณหนึ่งร้อยยูโร ที่จะต้องจ่ายทันทีเมื่อครบ 18 ปี ไม่เช่นนั้นพ่อแม่ก็จะต้องรับผิดชอบให้ ทำให้เด็กๆ ต้องถูกผลักออกมาให้ทำงานเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
ปล.
ประกันการจัดงานศพนี่ผมก็ไม่เคยทำ เพราะก็ไม่คิดว่าจะตายในเร็วๆ นี้ จนกระทั่งมาเกิดเหตุไวรัสระบาดนี่ละ ถึงคิดได้ว่าอาจจะติดแล้วก็ตายวันไหนก็ได้ และเพื่อไม่ให้ลำบากคนที่ยังอยู่ ก็เลยทำไว้ดีกว่า
โฆษณา